xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ปู่มีชัย” หอบสังขารนำทัพ สายตรง คสช.-ลูกกรอกเนติบริกร เขียน รธน.ตามใจแป๊ะฝ่าแรงต้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

มีชัย ฤชุพันธุ์ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เห็นหน้าคร่าตา 21 อรหันต์ทำคลอดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใต้การนำของ “หัวหน้าเนติบริกร” อย่าง “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ชี้ชัดได้เลยว่าเที่ยวนี้มีแต่ “สายตรง คสช.” กับ “ก๊วนลูกกรอกเนติบริกร”

ในส่วนของประธาน กรธ.ก็ไม่แหกโผ ขุดกรุเอา “มีชัย ฤชุพันธ์” ในวัย 77 กะรัต มานั่งประจำการเป็น”ฝีพาย” ตามที่มีการฟันธงล่วงหน้ามาระยะหนึ่งแล้ว เป็น “มีชัย” ที่พกดีกรีนักกฎหมายชั้นอ๋อง ผ่านงานสำคัญๆ มาในทุกระดับ ตั้งแต่อดีตรองนายกรัฐมนตรี อดีตประธานรัฐสภา อดีตประธานวุฒิสภา อดีตประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2550 อดีตผู้อำนวยกองยกร่างกฎหมายคนแรกของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และวันนี้นอกจากทำหน้าที่ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 แล้วก็ยังเป็นสมาชิก คสช.ด้วย

สำหรับงานร่างรัฐธรรมนูญนั้นแม้จะไม่เคยรับผิดชอบอย่างเต็มตัว แต่ในอดีตว่ากันว่า “มีชัย” มีบทบาทในเรื่องการเขียนกฎหมายสูงสุดมาตั้งแต่สมัยรัฐประหารเดือนตุลาคม 2519 ต่อมาก็เป็นผู้ผลักดันให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2534 เพื่อจัดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ดำเนินการยกร่างรัฐธรรมนูญ อันเป็นที่มาของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ที่ถูกยกย่องว่าเป็น “ฉบับประชาชน”

ขณะที่เมื่อครั้งรัฐประหารปี 2549 เจ้าตัวก็เกือบจะได้นั่งเป็นประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 แต่เป็น “น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ” ที่เข้าวินในช่วงโค้งสุดท้าย ขณะที่ “มีชัย” ได้ตำแหน่งประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแทน

สายตรง คสช.-ลูกกรอกเนติบริกร

สำหรับทีมงาน 20 กรธ.ถือว่าใหม่กับการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเกือบทั้งหมดไม่เคยมีส่วนร่วมอย่างเป็นทางการ โดยส่วนใหญ่ “มีชัย” เลือกเฟ้นมากับมือ หนีบเอาทีมงานจากกฤษฎีกามา หรือที่ถูกขนานนามว่า “ลูกกรอกเนติบริกร” มาช่วยงานหลายคน ทั้ง “ปกรณ์ นิลประพันธ์ - ธนาวัฒน์ สังข์ทอง” กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยทั้งคู่ได้ตำแหน่งเลขานุการประจำ กรธ. การันตีความไว้วางใจของเจ้าสำนักเนติบริการที่ผันตัวมารับจ๊อบประธาน กรธ.ได้เป็นอย่างดี

“ปกรณ์ - ธนาวัฒน์” ได้เป็นศิษย์เอกรุ่นใหม่ของสำนักเนติบริกร หากเปรียบ “ปกรณ์” เป็นมือขวา “ธนาวัฒน์” ก็เป็นมือซ้าย ซึ่งมือซ้ายคนนี้ระยะหลังแอบแว่บเข้าทำเนียบรัฐบาลไปช่วยงาน “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯฝ่ายกฎหมายอยู่บ่อยๆ และ “มีชัย” มักพูดกับคนใกล้ชิดถึง “ธนาวัฒน์” ว่า “ไอ้บอยมันเก่ง แต่มันดื้อไปหน่อย”

ทั้ง “ปกรณ์ - ธนาวัฒน์” ถือเป็น “ลูกกรอกคะนอง” ที่มีโอกาสสูงที่จะเข้ามาสานงาน-สานฝันสถาบันเนติบริกรที่ “มีชัย” สร้างมากับมือ เม้าท์กันหนักว่าหากหมดยุค “วิษณุ-บวรศักดิ์” ก็จะมีคู่หู “ปกรณ์-ธนาวัฒน์” นี่แหละที่จะพอขึ้นมาเทียบชั้นได้

ทั้งยังมี “อัชพร จารุจินดา” อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังเป็นอดีต กมธ.ยกร่างฯปี 50 ที่แม้จะมีตำหนิจากตราบาปที่ไปช่วยงาน “รัฐบาลยิ่งลักษณ์” ว่าความคดีเงินกู้ 2 ล้านล้านบาท แต่ “มีชัย” ก็เชื่อฝีหนีบมาช่วยงานด้วย

ขณะที่ “สายตรง คสช.” ที่มีชื่อมาตั้งแต่ไก่โห่ไม่พลิกโผ “พล.ต.วิระ โรจนวาศ” อดีตผู้อำนวยการสำนักพระธรรมนูญทหารบก “พล.อ.นิวัติ ศรีเพ็ญ” อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ “พล.อ.อัฏฐพร เจริญพานิช” อดีตเจ้ากรมพระธรรมนูญ เป็น “3 ทหารเสือ” ที่จะคอยรับใบสั่งตรงจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. รวมทั้ง “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และรมว.กลาโหม หรือ “พี่ใหญ่ คสช.” ที่จะคอยส่งสัญญาณ-ส่งซิก ว่าจะผลักดันวาระใดเข้าสู่ที่ประชุม กรธ.

แม้ “มีชัย” จะมีสถานะเป็นทองเนื้อเดียวกันกับ คสช. อยู่แล้วก็ตาม แต่อย่าลืมต่างกรรม-ต่างวาระ เลือดย่อมข้นกว่าน้ำ ไม่ใช่ไม่ไว้ใจแต่เพลย์เซฟไว้ดีที่สุด “บิ๊กตู่-บิ๊กป้อม” จึงเลือกที่จะส่งคนที่ไว้ใจในฐานะสายเลือดทหารพอมีความรู้ด้านกฎหมายเข้าไปช่วยคุมเกมใน กรธ.

เหมือนกับครั้งที่ส่ง “ลูกน้องทหาร” เข้าไปแฝงตัวใน “คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ” ชุด “เดอะปื๊ด” บวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธาน กมธ.ยกร่างฯผู้ชอกช้ำ

จับตา “อมร” สายตรงหัวหน้า คสช.

ส่วนคนที่เหลืออยู่ในวงการกฎหมายมาเกือบทั้งหมด ทั้งอาจารย์ด้านกฎหมาย-อดีตคณะกรรมการการเลือกตั้ง แต่เป็นคนที่ คสช.ไว้ใจได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีใครแหกคอก-นอกลู่-นอกทางแน่

เซอร์ไพร์สเล็กๆเป็นชื่อของ “อภิชาต สุขัคคานนท์” อดีตประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (ก.ก.ต.) และ “ประพันธ์ นัยโกวิท” อดีต ก.ก.ต.รุ่นเดียวกัน ที่ถูกวางตัวมาช่วยดูเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง เช่นเดียวกับตัวแทนสื่อ “เดอะโม่ง” ภัทระ คำพิทักษ์ ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติคนล่าสุดที่เพิ่งได้รับเลือกเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ถูกกล่อมให้มาร่วมเขียนรัฐธรรมนูญ แต่ก็ต้องไขก๊อกลาออกจากตำแหน่งประธานสภาการหนังสือพิมพ์ฯ

สายวิชาการประกอบด้วย “ชาติชาย ณ เชียงใหม่” ศาสตราจารย์ด้านรัฐประศาสนศาสตร์จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และเป็นอดีต สปช. “เธียรชัย ณ นคร” อาจารย์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช และเลขาธิการสภาพัฒนาการเมือง “อุดม รัฐอมฤต” ศาสตราจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ “ศุภชัย ยาวะประภาษ - อมร วาณิชวิวัฒน์” จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ขณะที่ “ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย” อดีต ส.ส.ร.ปี 2550 ก็มาจากคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เช่นกัน

ใน 21 อรหันต์ชุดนี้มีสุภาพสตรีติดมาด้วย 2 รายซึ่งมีชื่อติดโผมาตั้งแต่ต้นแบบม้วนเดียวจบ ได้แก่ “กีระณา สุมาวงษ์” ที่พกดีกรีเนติบัณฑิตอังกฤษ และอดีต ส.ว.สรรหา และ “จุรี วิจิตรวาทการ” อดีตอธิการบดีนิด้า อดีต สปช. และอดีต สนช.ปี 49

นอกจากนี้ก็มี กรธ.ที่มาดูเฉพาะทาง ได้แก่ “นรชิต สิงหเสนี” อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำสหประชาชาติ และอดีตปลัดกระทรวงการต่างประเทศ มาดูข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการต่างประเทศ “ภุมรัตน ทักษาดิพงษ์” อดีตผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ มาดูเรื่องความมั่นคงโดยเฉพาะ รวมไปถึง “สุพจน์ ไข่มุกด์” ที่เพิ่งหมดวาระตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหมาดๆ

ในกลุ่มนี้มีสายตรง “บิ๊กตู่” แฝงอยู่คนหนึ่งคือ “อมร วาณิชวิวัฒน์” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะอดีต สปช.ผู้ร่วมคว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดอะปื๊ด และตั้งแต่ปิดจ๊อบในสภาหินอ่อน “อมร” ก็มักมาปรากDตัวอยู่ข้างตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล บ่อยครั้ง และหลายครั้งก็จะหอบเอกสารปึกใหญ่ลงมาจากตึกไทยคู่ฟ้า จนโดนเม้าท์กันสนั่นว่าเข้าไปเสนอไอเดียการปฏิรูปถึงมือ “บิ๊กตู่”

แรกๆว่ากันว่า “อมร” หวังเพียงแค่เก้าอี้สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถึงขณะออกมาโวยวายโผรายชื่อว่าที่ สปท.ที่หลุดออกมาก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการ ก่อนจะพลิกล็อกเหมือน “สามล้อถูกหวย” ได้เป็น 1 ใน 21 กรธ.ในโค้งสุดท้าย

เม้าส์กันกระหึ่มตึกไทยฯว่า “อมร” ถึงขนาดเดินเข้าไปขอ “บิ๊กตู่” นั่งตำแหน่ง กรธ.ด้วยตัวเอง สร้างความไม่พอใจต่อ “มีชัย-วิษณุ” พอสมควร แต่ก็หยวนๆกันไป เพราะถือเป็นโควต้าของ “บิ๊กตู่” อยู่แล้ว

หลังได้ตำแหน่ง “อมร” ถึงกลับเก็บอาการไม่อยู่สัมภาษณ์สื่อว่า รอคอยวันนี้มา 8 ปี พูดง่ายๆว่าฝันจะร่วมร่างกฎหมายสูงสุดมาตั้งแต่สมัยรัฐประหาร 2549 เพิ่งมาสมหวังในยุคของ คสช. ไม่เพียงเท่าไรยังออฟไซด์ให้สัมภาษณ์ติดพันไปอีกว่า อยากนั่งตำแหน่ง “โฆษก กรธ.” ด้วยตัวเอง มัดมือชก “มีชัย” ไปโดยปริยาย เพราะรู้อยู่ในใจว่าเด็กใคร จนแต่งตั้งไปแบบเสียไม่ได้

ทั้งที่ตำแหน่ง “โฆษก กรธ.” ตามเดิมวางตัว “เดอะโม่ง” อดีตประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ที่มาจากสายสื่อมวลชนโดยตรงนั่งตำแหน่งนี้ แต่ก็ต้องแห้วกินกันไปตามระเบียบ

ทำเพื่อนเคืองตั้งแต่ออกสตาร์ทอย่างนี้ ต้องจับตาบทบาทของ “อมร” ให้ดี

ตั้งดรีมทีมกุนซือ กรธ.ประคองเกม

หลังจากนี้ต้องจับ “อรหันต์ที่ปรึกษา กรธ.” ที่จะเข้ามามีบทบาทเสนอแนวคิด-แนวทางร่างรัฐธรรมนูญอย่างมาก โฟกัสหลักตามที่ “มีชัย” บอกไว้ว่าจะทาบทาม “เลขานุการ” ที่มีส่วนร่วมร่างรัฐธรรมนูญทุกชุดมาเป็นที่ปรึกษา ชื่อในลิสต์ของ “มีชัย” ติดฝาบ้านไว้ก่อนใครหนีไม่พ้น “บวรศักดิ์” ศิษย์รักคู่ใจ

ที่นอกจากรู้มือ-รู้ใจกันแล้ว ยังเปิดทางให้ให้ “ศิษย์รัก” มาฟอกตัวตัว-สร้างเครดิตใหม่ด้วย

ซึ่ง“บวรศักดิ์” ก็อาจจะ “หน้าบาง” กว่าที่คาดเมื่อปฏิเสธทันควัน เพราะเคยลั่นวาจาสิทธิว่าจะไม่รับตำแหน่งใดๆอีก แต่ก็ยังมีลูกอ่อยว่า พร้อมช่วยงานแม้จะไม่มีตำแหน่งแห่งที่ก็ได้

สำหรับ “ว่าที่กุนซือ กรธ.” ที่มาแรงและคงไม่แหกโค้งหนีไม่พ้น “กาญจนรันตน์ ลีวิโรจน์” อดีตเลขาฯกมธ.ยกร่างฯ “สมคิด เลิศไพูรย์” อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ “เจษฎ์ โทณวณิก” อดีต กมธ.ยกร่างฯ มีชื่อเข้าแถวกันมา

โดยเฉพาะ “เจษฎ์” ที่ลือกันสนั่นทุ่งว่า “วิษณุ” เป็นคนขอมาด้วยตัวเอง เพราะโดยส่วนตัวชื่นชอบการทำงานของ “เจษฎ์” ที่เป็นคนรุ่นใหม่เข้าใจกฎหมาย และสามารถปรับให้เข้ากับสังคมปัจจุบันได้ จะเห็นได้ว่าเชื้อเชิญมาร่วมเป็นคณะทำงานอยู่ที่ทำเนียบบ่อยๆเช่นกัน

อาจจะดูไม่สำคัญเท่าตัว กรธ. แต่เชื่อว่า ที่ปรึกษา กรธ.อาจจะเป็น “ตัวช่วย” ประคับประคอง “เรือแป๊ะ” ให้ฝ่ามรสุมประชาธิปไตยให้ถึงปลายทาง จึงมีข่าวว่า กำลังพยายามระดมผู้ยิ่งใหญ่หลายคน เรียกว่าจัด “ดรีมทีม” กันมา เพื่อช่วย “ปู่มีชัย”

โจทย์หินต้อง “ถูกใจแป๊ะ” แบบเนียนๆ

พลันที่เซย์เยสเข้ามารับงาน “มีชัย” ประกาศเปรี้ยงทันทีว่า จะเดินหน้าประชุมทุกวัน ซึ่งตีความได้ทั้งในแง่การทำงาน ที่ต้องการความละเอียดถี่ถ้วนทุกเม็ด อีกแง่ก็แซวๆกันว่า คงหวังโกยเบี้ยประชุมให้มากที่สุดตามกรอบ 180 วันที่มีอยู่

ต้องยอมรับว่า “โจทย์” และ “การบ้าน" ของ 21 อรหันต์ค่อนข้างหนักหน่วง ในส่วนของเนื้อหาที่มีการตีกรอบไว้แล้วทั้งจาก มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ที่วางไว้ 10 ข้อ ซึ่งต้องมีการทำออกมาให้เป็นรูปธรรม ขณะเดียวกันก็มี “พิมพ์เขียว คสช.” ซึ่ง “มีชัย” ก็มีส่วนร่างคร่าวๆเอาไว้เอง

เพียงแต่ไอ้เจ้า “พิมพ์เขียว คสช.” จะเขียนออกมาแบบโจ๋งครึ่มคงจะไม่เหมาะ

ดูได้จากร่างรับธรรมนูญฉบับนางงานยของ “บวรศักดิ์” ว่ากันว่า ถูกใจและตรงกับ “บิ๊ก คสช.” อยากได้เกือบจะเป๊ะๆ แต่กลายเป็นว่าพอปรากฏต่อสาธารณะ กระแสตีกลับเกิดขึ้น ก็เป็น “บิ๊ก คสช.” เองที่เบือนหน้าหนี และส่งสัญญาณ สปช.กระทำอัตนิวิบากกรรมตัวเองพร้อมกับ 35 อรหันต์ กมธ.ยกร่างฯ โดยการโหวตคว่ำแบบไม่เหลือชิ้นดี

เรื่อง “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” หรือ คปป. หรือกลไกที่เข้มข้นใน 285 มาตราของร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ก็ล้วนเป็นการแตกยอดจาก “ธง” ในมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวทั้งสิ้น โดยที่ “คปป.” ก็เป็นความต้องการของ “แป๊ะ” ที่อยากให้มีองค์กรหรือคณะกรรมการชุดหนึ่งของมานั่งถ่วงดุลเอาไว้ในช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน 5 ปีเป็นอย่างน้อย

ซึ่งคงยังไม่จบง่ายๆ หลังจากที่ คปป.ถูกวิจารณ์เละ เพราะเปรียบเสมือนรัฐซ้อนรัฐกดทับเอาไว้ ที่หลักสากลถือว่า ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่จริงๆในสายตา “แป๊ะ” แล้วถูกใจเป็นที่สุด แถมอยากให้สุดโต่งมากกว่านี้ด้วยซ้ำ แต่เมื่อส่วนรวมรับไม่ได้ ก็ต้องชิ่งเอาตัวรอดไปก่อนจะเสียกันทั้งขบวนหากปล่อยไปถึงขั้นทำประชามติ

ฟันธงได้ว่า คปป.ไม่ว่าในร่างรัฐธรรมนูญฉบับไหนในยุค คสช. แต่อาจจะปรับเปลี่ยนชื่อ-รูปแบบ-อำนาจให้น้อยและแนบเนียนกว่าเดิมเท่านั้น ซึ่งต้องรอดูฝีมือหมกเม็ดชั้นเซียนอย่าง “มีชัย” ว่าจะตกแต่งอย่างไรให้รอดหูรอดตาฝ่ายต่อต้านไปได้

ส่วนเรื่องอื่นๆที่สังคม หรือฝ่ายการเมืองส่ายหน้ารับไม่ได้นั้น เชื่อขนมกินได้ว่า ปรับเปลี่ยนไม่มาก เพราะถือว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “บวรศักดิ์” ทำไว้ได้ดี ถูกใจแป๊ะอยู่แล้ว ที่ยากคือ “มีชัย” จะใช้เวทย์มนต์เนรมิตอย่างไรให้ถูกใจทั้ง “แป๊ะ” และต้องแนบเนียนจนถูกใจคนอื่นๆด้วย

นี่แหละโจทย์หินของ “มีชัย-กรธ.” ในการกำหนดชะตา-ลมหายใจของคนไทยให้ “ถูกใจแป๊ะ”




กำลังโหลดความคิดเห็น