“เทียนฉาย” ยันไม่มีล็อกสเปก ชี้ประธาน-รองประธาน สปช.ไม่แปลก เชื่อ สปช.ไม่ว่าจะมาจากสถาบันใดมีจุดหมายเหมือนกันคือประเทศไทย เตรียมวางกรอบสรรหา กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เผยเป้าหมายสำคัญในการปฏิรูปข้อหนึ่งคือการสลายความขัดแย้ง ส่วน สปช.ควรยื่นบัญชีทรัพย์สินหรือไม่ เป็นไปตามที่ ป.ป.ช.วินิจฉัย
นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าประชุมคณะกรรมาธิการกิจการสภา สปช.ชั่วคราว ถึงกรอบการทำงานของประธาน สปช.ว่า ตนจะเดินตามกรอบที่วางไว้แล้วและจะพยายามที่จะทำให้ภาระกิจหน้าที่ของ สปช.เป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุผลสำเร็จ ทั้งในแง่ของภาระที่ต้องทำและเงื่อนเวลา
ส่วนภาพที่ออกมาว่าประธานและรองประธาน สปช.เป็นจุฬาคอนเนกชันนั้น ตนไม่ขอชี้แจง ทั้งนี้ บุคคลรุ่นเดียวกับตนก็มาจากมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่ง ดังนั้นอาจเป็นกรอบจำกัด แต่หากมองผลในขณะนี้ว่าเป็นผู้ที่ศึกษาจากสถาบันเดียวกัน เป็นข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่ความผิดอะไร และไม่ใช่เป็นเหตุที่ตัวสถาบันเข้ามาผูกพันหรือเกี่ยวข้องในการพิจารณาตัวบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ประธาน สปช. เชื่อว่าตนเองและเพื่อนร่วมงานใน สปช.ไม่ว่าจะมาจากสถาบันไหน เวลานี้จุดหมายของเราคือประเทศไทย เรากำลังสวมเสื้อประเทศไทย ไม่มีสี ถ้าจะมีสีก็สีธงชาติ
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีคนมองว่าประธานและรองประธาน สปช.มีการล็อกสเปกจาก คสช.มาแล้ว นายเทียนฉายกล่าวว่า ตนไม่ทราบ แต่ตนได้ยินข่าวนี้ตั้งแต่วันแรกที่ตนมีชื่อว่าจะถูกเสนอ ถือว่าเป็นเรื่องที่แปลกดี ทั้งที่เมื่อวันที่ 21 ต.ค.ก็เป็นการทาบทามครั้งแรก ส่วนที่นายชัย ชิดชอบ สปช.ด้านการเมือง เป็นผู้เสนอชื่อตนนั้น ตนไม่ทราบประเด็นดลใจของนายชัย ที่ผ่านมาตนไม่เคยรู้จักนายชัยเป็นการส่วนตัวมาก่อน เพราะคนละเส้นทาง นายชัยเป็นนักการเมือง อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตนเคยเจอนายชัยในการประชุมกรรมาธิการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ เพราะนายชัยเป็นกรรมาธิการฯ ในคณะนั้นด้วย
ส่วนกรอบเวลาปฏิรูปที่มีเพียง 1 ปี จะแบ่งการทำงานระหว่างในสภา สปช. กับภายนอกอย่างไร นายเทียนฉายกล่าวว่า ต้องคุยกันในวิป สปช.ชั่วคราวก่อน ซึ่งจะมีการประชุมกันวันที่ 22 ต.ค.นี้ หากไม่แล้วเสร็จจะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 ต.ค.
ต่อข้อถามว่า สำหรับจำนวนกรรมาธิการที่จะทำหน้าที่ปฏิรูปได้ข้อสรุปแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะด้านอื่นๆ ที่จะแบ่งออกเป็นกี่ด้าน นายเทียนฉายกล่าวว่า การปฏิรูปทั้ง 10 ด้าน เป็นส่วนที่ คสช.ระบุไว้ว่าคือที่มาของการได้มาซึ่งคณะปฏิรูป แต่เมื่อทำงานจริงต้องพิจารณาด้านต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเวลาสมาชิก ต้องช่วยกันทำงานปฏิรูปมากกว่า 1 ด้าน เพราะเมื่อดูจากสมาชิกทั้ง 250 คนแล้ว ต้องมีบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยในส่วนของกรรมาธิการ เพราะยังมีผู้ที่มีความรู้อีกมากที่ไม่ได้เข้ามาเป็น สปช.
“ผมคิดว่าต้องเปิดให้บุคคลภายนอก ทั้งที่เคยสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้มาทำหน้าที่ และผู้รู้อื่นๆ เข้ามาร่วมทำงานด้วย ส่วนการกำหนดกรอบว่าบุคคลภายนอกนั้นจะเข้ามาทำงานในส่วนใด ผมยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอการหารือจากที่ประชุมวิป สปช.ชั่วคราวก่อน”
ผู้สื่อข่าวถามว่าการประชุม สปช.นัดแรก ที่มีบรรยากาศวุ่นวาย นายเทียนฉายกล่าวว่า ไม่วุ่นวาย แต่มีการเสนอความเห็นแบบกว้างขวางมาก แต่ตนไม่ได้ยินประเด็นที่สื่อระบุว่ามีข้อถกเถียงกัน ซึ่งตนต้องขอชื่นชมนายพารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา ในการทำหน้าที่ประธานชั่วคราวในที่ประชุม ที่ทำหน้าที่ได้ดีมาก โดยเฉพาะการเปิดโอกาสให้สมาชิกฯ ได้แสดงความเห็นอย่างเปิดเผยแต่หลายคนอาจจะตกใจ ที่การประชุมเพื่อเลือกประธานและรองประธาน สปช. ต้องใช้เวลาถึง 17.00 น. เพราะเราพิจารณาเรื่องอื่นๆ ด้วย สุดท้ายก็ยังได้กรรมาธิการยกร่างข้อบังคับการประชุมและคณะกรรมการวิป สปช.ชั่วคราว
ส่วนการทำหน้าที่หลังจากนี้จะให้คำมั่นกับสังคมที่จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และอิสระ อย่างไรนั้น นายเทียนฉายกล่าวว่า คำมั่นถ้าแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ตนให้ได้เลย แต่หากเป็นคำสัญญาต้องระวัง เพราะในความตั้งใจและความปรารถนา เราตั้งใจและเดินเต็มที่และไม่อยากเห็นประชาชนผิดหวัง แต่ระหว่างทางอาจจะมีอะไรเกิดขึ้น ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยการเมือง ก็ถือเป็นอุปสรรค ทั้งนี้ภารกิจของเราส่วนหนึ่งต้องทำให้ความขัดแย้งลดลง สร้างความสามัคคีปรองดอง ให้บรรลุเป้าหมายไปให้ได้ โดยตนยืนยันว่าจะมีความอิสระในการทำงานอย่างแน่นอน
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช.จะถือเป็นกรอบในการร่างรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายเทียนฉายกล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญจะมี 2 ประเด็น คือ นอกจากร่างรัฐธรรมนูญแล้วจะมีกรรมาธิการติดตามและให้ข้อเสนอแนะระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย สปช.จะส่งคนเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คน แต่อีกประเด็นหนึ่ง คือ การปฏิรูปที่จะทำให้ความขัดแย้งสลาย ส่วนจะเป็นวิธีใดนั้น ขอหารือกับสมาชิกก่อน เพราะเป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง
ต่อข้อถามว่า การยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ที่ล่าสุด ป.ป.ช.มีมติไม่ให้ยื่นบัญชีดังกล่าว นายเทียนฉายกล่าวว่า คิดว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ที่ระบุให้เป็นอำนาจของ ป.ป.ช.ในการพิจารณาว่าบุคคลใดที่จะยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินบ้าง ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่ของตนเองแล้ว
ส่วนกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ที่ศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยกรณี สนช.ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ เพราะเป็นบุคคลที่เข้ามาหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศนั้น ตนมองว่าผู้ที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายคือ ป.ป.ช. ดังนั้น ควรยึดตามกรอบที่ ป.ป.ช.วินิจฉัยดีกว่าไม่เช่นนั้นจะมีผู้ที่ออกมาตัดสินอีกหลายคน ซึ่งจะทำให้การตัดสินเป็นไปได้ยาก ส่วนตัวขอยืนตาม ป.ป.ช. กรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นตนไม่มีปัญหาใด เพราะเคยยื่นมาแล้ว จำนวน 16 ครั้ง