xs
xsm
sm
md
lg

เมินครหาจุฬาฯคอนเนกชัน นักวิชาการลุ้นเก้าอี้กมธ.ยกร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น. วานนี้ (22 ต.ค.) ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ว่าที่ประประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ให้สัมภาษณ์ ก่อนเข้าประชุม คณะกรรมาธิการกิจการสภาสปช.ชั่วคราว ถึงกรอบการทำงานของประธาน สปช. ว่าตนจะเดินตามกรอบที่วางไว้ แล้วและจะพยายามที่จะทำให้ภาระกิจหน้าที่ของสปช. เป็นไปตามเป้าหมายและบรรลุผลสำเร็จ ทั้งในแง่ของภาระที่ต้องทำ และเงื่อนเวลา
ส่วนภาพที่ออกมาว่า ประธาน และรองประธาน สปช. เป็นพวกจุฬาฯคอนเนกชันนั้น ตนไม่ขอชี้แจง ทั้งนี้บุคคลรุ่นเดียวกับตน ก็มาจากมหาวิทยาลัยไม่กี่แห่ง ดังนั้นอาจเป็นกรอบจำกัด แต่หากมองผลในขณะนี้ ว่าเป็นผู้ที่ศึกษาจากสถาบันเดียวกันเป็นข้อเท็จจริง แต่ไม่ใช่ความผิดอะไร และไม่ใช่เป็นเหตุที่ตัวสถาบันเข้ามาผูกพัน หรือเกี่ยวข้องในการพิจารณาตัวบุคคลเข้ามาทำหน้าที่ประธานสปช. ซึ่งตนเชื่อว่าตนเอง และเพื่อนร่วมงานในสปช. ไม่ว่าจะมาจากสถาบันไหน เวลานี้จุดหมายของเรา คือประเทศไทย เรากำลังสวมเสื้อประเทศไทย ไม่มีสี ถ้าจะมีสี ก็สีธงชาติ
ผู้สื่อข่าวถามว่าในกรอบเวลาปฏิรูปที่มีเพียง 1 ปี จะแบ่งการทำงานระหว่างในสภาสปช. กับ ภายนอกอย่างไร นายเทียนฉาย กล่าวว่า ต้องคุยกันในวิปสปช. ชั่วคราวก่อน ซึ่งจะมีการประชุมกันวันที่ 22 ต.ค. นี้ หากไม่แล้วเสร็จ จะนัดประชุมอีกครั้งในวันที่ 24 ต.ค.
สำหรับจำนวนกรรมาธิการที่จะทำหน้าทีปฏิรูป ได้ข้อสรุปแล้วหรือไม่ โดยเฉพาะด้านอื่นๆ ที่จะแบ่งออกเป็นกี่ด้าน นายเทียนฉาย กล่าวว่า การปฏิรูปทั้ง 10 ด้าน เป็นส่วนที่ คสช. ระบุไว้ว่า คือที่มาของการได้มาซึ่งคณะปฏิรูป แต่เมื่อทำงานจริงต้องพิจารณาด้านต่างๆ อีกครั้งหนึ่ง เมื่อถึงเวลา สมาชิกต้องช่วยกันทำงานปฏิรูปมากกว่า 1 ด้าน เพราะเมื่อดูจากสมาชิก ทั้ง 250 คนแล้ว ต้องมีบุคคลภายนอกเข้ามาช่วยในส่วนของกรรมาธิการ เพราะยังมีผู้ที่มีความรู้อีกมาก ที่ไม่ได้เข้ามาเป็น สปช.
"ผมคิดว่าต้องเปิดให้บุคคลภายนอก ทั้งที่เคยสมัครเข้ารับการสรรหาเป็น สปช. แต่ไม่ได้รับการคัดเลือกให้มาทำหน้าที่ และผู้รู้อื่นๆ เข้ามาร่วมทำงานด้วย ส่วนการกำหนดกรอบว่า บุคคลภายนอกนั้นจะเข้ามาทำงานในส่วนใด ผมยังตอบไม่ได้ เพราะต้องรอการหารือจากที่ประชุมวิปสปช.ชั่วคราวก่อน" นายเทียนฉาย กล่าว
เมื่อถามถึงการทำหน้าที่หลังจากนี้ จะให้คำมั่นกับสังคมที่จะทำหน้าที่อย่างเป็นกลาง และอิสระ อย่างไร นายเทียนฉาย กล่าวว่า คำมั่นถ้าแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจ ตนให้ได้เลย แต่หากเป็นคำสัญญาต้องระวัง เพราะในความตั้งใจ และความปรารถนา เราตั้งใจและเดินเต็มที่และไม่อยากเห็นประชาชนผิดหวัง แต่ระหว่างทาง อาจจะมีอะไรเกิดขึ้น ทั้งภัยธรรมชาติ และภัยการเมือง ก็ถือเป็นอุปสรรค ทั้งนี้ ภารกิจของเราส่วนหนึ่งต้องทำให้ความขัดแย้งลดลง สร้างความสามัคคีปรองดอง ให้บรรลุเป้าหมายไปให้ได้ โดยตนยืนยันว่า จะมีความอิสระในการทำงานอย่างแน่นอน
เมื่อถามย้ำว่า แนวทางการสร้างความปรองดองของ สปช. จะถือเป็นกรอบในการ่างรัฐธรรมนูญด้วยหรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า การยกร่างรัฐธรรมนูญ จะมี 2 ประเด็น คือ นอกจากร่างรัฐธรรมนูญแล้ว จะมีกรรมาธิการติดตามและให้ข้อเสนอแนะระหว่างที่มีการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดย สปช.จะส่งคนเข้าไปยกร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน 20 คน
แต่อีกประเด็นหนึ่ง คือ การปฏิรูปที่จะทำให้ความขัดแย้งสลาย ส่วนจะเป็นวิธีใดนั้นขอหารือกับสมาชิกฯ ก่อน เพราะเป้าหมายของการร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้ง
เมื่อถามถึงการยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สิน และหนี้สิน ต่อ ป.ป.ช. ที่ล่าสุด ป.ป.ช.มีมติไม่ให้ยื่นบัญชีดังกล่าว นายเทียนฉาย กล่าวว่า คิดว่า ป.ป.ช.ทำหน้าที่ตามกฎหมาย ที่ระบุให้เป็นอำนาจของป.ป.ช. ในการพิจารณาว่าบุคคลใดที่จะยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินบ้าง ป.ป.ช.ได้ทำหน้าที่ของตนเองแล้ว
ส่วนกรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สิน ที่ศาลปกครองเคยมีคำวินิจฉัยกรณีสนช. ต้องยื่นแสดงบัญชีทรัพย์สินฯ เพราะเป็นบุคคลที่เข้ามาหน้าที่เพื่อประโยชน์ของประเทศนั้น ตนมองว่า ผู้ที่ทำหน้าที่ตามกฎหมายคือป.ป.ช. ดังนั้นควรยึดตามกรอบที่ป.ป.ช.วินิจฉัยดีกว่า ส่วนตัวขอยืนตาม ป.ป.ช. กรณีการยื่นบัญชีทรัพย์สินนั้นตนไม่มีปัญหาใด เพราะเคยยื่นมาแล้ว 16 ครั้ง

**ค้านปล่อยสปช. ไม่ต้องแสดงบัญชี

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการป.ป.ช. มีมติให้สมาชิก สปช.ไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ว่า ตนเห็นด้วยกับ นายอำนวย คลังผา อดีตประธานวิปพรรคเพื่อไทย ว่า สปช. ควรยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อป.ป.ช. และประกาศให้สาธารณะรับทราบ การที่ ป.ป.ช. มีมติว่า สปช. เป็นตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับวิชาการ ไม่มีผลประโยชน์ได้เสีย จึงไม่ต้องยื่นนั้น ตนไม่เห็นด้วย เพราะการปฏิรูปเริ่มต้นที่สปช. รัฐธรรมนูญ มาตรา 37 บัญญัติว่า สปช.เป็นผู้ลงมติรับหรือไม่รับรธน. และสปช.ที่เข้าไปเป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ต้องห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 2 ปีนับแต่พ้นตำแหน่ง ตำแหน่งนี้ จึงมีความสำคัญยิ่ง และมีการขัดกันของผลประโยชน์อยู่ในตัว
"ทำไมคนที่มาปฏิรูปประเทศ จึงต้องทำตัวลับๆ ล่อๆ ก็ การที่ป.ป.ช. ยกเหตุผลว่า ไม่ต้องยื่น จึงเป็นการยกเหตุผลมาสนับสนุนการไม่มีเหตุผล รับฟังไม่ได้ งานนี้ทั้งป.ป.ช. และ สปช. เสียรังวัด" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

**นักวิชาการลุ้นเก้าอี้ กมธ.ยกร่างรธน.
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาลแจ้งว่า สำหรับความคืบหน้าเรื่องการเสนอชื่อบุคคลเป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คน ภายหลังจากมีการประชุมสปช. นัดแรกไปแล้ว เมื่อวันที่ 21 ต.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งตาม มาตรา 32ของรธน. ฉบับชั่วคราว กำหนดให้ต้องมีการดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายใน 15 วัน โดยจะครบกำหนด ภายในวันที่ 4 พ.ย.57 นี้
ขณะนี้จึงมีความเคลื่อนไหวจากหลายส่วน ที่สามารถเสนอรายชื่อบุคคลเข้าไปเป็นกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญได้ ตามที่รธน.กำหนด โดยเฉพาะในสัดส่วนของ คสช. ที่สามารถเสนอได้ 6 คน แบ่งเป็นกรรมาธิการ 5 คน และหัวหน้าคสช. เสนอชื่อประธานกรรมาธิการ 1 คน รวมทั้ง ครม. สามารถเสนอได้ 5 คน เบ็ดเสร็จแล้วทั้ง คสช.และครม. มีโควต้าถึง 11 คน โดยตำแหน่งประธานกมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นที่แน่นอนแล้วว่า นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าที่ รองประธาน สปช. คนที่ 1 จะมาควบตำแหน่งนี้
นอกจากนี้ ยังปรากฏรายชื่อแคนดิเดตหลายคน ที่คาดว่าจะถูกเสนอชื่อในสัดส่วนของ คสช.และ ครม. ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักกฎหมายและนักวิชาการ ที่มีชื่อเสียง อดีต ส.ส.ร. ปี 2550 อดีตกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญปี 50 รวมทั้งเป็นบุคคลที่ไม่มีตำแหน่งใน สนช. และ สปช. อาทิ นายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ นายนครินทร์ เมฆ ไตรรัตน์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ นายพรชัย ตระกูลวรานนท์ รองอธิการบดี ม.ธรรมศาสตร์ นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีคณะนิติศาสตร์ สถาบันบันฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) นายสมบูรณ์ สุขสำราญ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ นายมานิตย์ จุมปา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งสนิทกับ นายบวรศักดิ์ นายปกรณ์ นิลประพันธ์ กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมกฤษฎีกา ซึ่งทำงานใกล้ชิดกับ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ คสช. รวมไปถึง นายเจษฎ์ โทณะวณิก คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น