คณบดีนิติศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ ไม่รู้ติดโควตานั่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ยันไม่เคยมีใครมาทาบ แต่ถ้าถูกเสนอชื่อก็ไม่ขัดข้อง ชี้กฎหมายใหม่ต้องใช้ได้จริง อย่าเพื่อกีดกันใคร แต่ระบุคงตามกรอบ ม.35 หวั่นใจ สปช.คิดแค่ รธน. ไม่เน้นปฏิรูป เตือนอย่าลืมหน้าที่ ด้านอดีตอธิการบดี มธ.ยังไม่รู้ได้เก้าอี้ ขณะที่คณบดีนิติฯ นิด้า ก็ยังไม่รู้เรื่อง ไม่เคยโดนทาบ
วันนี้ (23 ต.ค.) นายเจษฎ์ โทณวณิก คณบดีนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงข่าวที่มีชื่อเป็นหนึ่งในโควตาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้เป็นกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ (กมธ.) ว่าไม่ทราบเรื่อง เพราะไม่เคยมีคนใน คสช.และ ครม.มาทาบทามหรือพูดคุยอะไรกับตนในเรื่องดังกล่าว และไม่มีการมาขอความเห็นจากตนในเรื่องของข้อกฎหมาย อย่างไรก็ตาม หากมีการเสนอชื่อ ตนก็ไม่ขัดข้อง ถ้าตนพอจะช่วยอะไรได้ก็คงทำ
เมื่อถามว่า ถ้ารัฐธรรมนูญฉบับถาวรที่กำลังจะถูกยกร่างขึ้นมา ถูกรัฐบาลชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งฉีกทิ้งเพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยอ้างว่าของเดิมมาจากการปฏิวัติมองอย่างไร นายเจษฎ์กล่าวว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ ต้องไม่ใช่ร่างขึ้นเฉพาะกิจ หรือให้เกิดผลอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่ต้องร่างโดยอยู่บนพื้นฐานของหลักการที่ถูกต้อง ใช้ได้จริงในทางปฏิบัติ และเป็นไปตามหลักการที่สากลยอมรับ เพราะถ้าจะมีการแก้ไขกันในอนาคตอีก ก็จะแก้ได้ไม่ง่ายนัก แต่ถ้ายกร่างขึ้นเพื่อกีดกันใครหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ตนเชื่อว่าจะถูกฉีกทิ้งแน่นอน
นายเจษฎ์กล่าวอีกว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญชุดนี้คงเจอหลายอย่าง เพราะนอกจากที่มีกรอบการยกร่างไว้แล้วระดับหนึ่งซึ่งเป็นประเด็นต่างๆ ตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 35 แล้ว ยังมีส่วนที่ต้องไปคิดเอง ขณะเดียวกัน ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นต่างๆ และมีสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเสนอให้นำไปบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญด้วย เท่าที่ตนฟังสิ่งที่ สปช.หารือกันก็น่าหวั่นใจเพราะดูเหมือนจะมาเป็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งที่การปฏิรูปประเทศไม่ใช่แค่การร่างรัฐธรรมนูญ เพราะการปฏิรูปบ้านเมืองเป็นโจทย์ที่ใหญ่กว่า แม้รัฐธรรมนูญเป็นกรอบของการทำงานของบ้านเมือง แต่การทำงานของบ้านเมืองในรายละเอียด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนระยะสั้น กลาง และยาว นั้น ไม่ได้อยู่ที่รัฐธรรมนูญ แต่อยู่ที่การวางกลไก โครงสร้าง และทางไปสู่การปฏิบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ สปช. ต้องคิดทำ ทั้งนี้ ตนไม่แน่ใจว่าช่วงเวลา 1-2 ปี จะเพียงพอสำหรับการวางแผนดังกล่าวหรือไม่ เพราะแผนที่ถูกวางไว้จะต้องถูกคลี่ออกมาใช้งานได้จริง ซึ่งหลายประเทศที่มีการปฏิรูปได้สำเร็จใช้เวลาหลายสิบปี ขณะที่รัฐธรรมนูญเป็นส่วนเล็กน้อย ดังนั้นถ้าไปติดกับตัวเอง โดยคิดว่ารัฐธรรมนูญเป็นทุกอย่าง ก็อาจเกิดปัญหาหรือทำไม่สำเร็จก็ได้
“สมาชิก สปช.ต้องมองให้ออกว่าหน้าที่สำคัญของเขาคืออะไร และต้องเชื่อมโยงเข้าไปหาประชาชนด้วย อย่าลืมว่าเราชูธงเรื่องการปฏิรูปให้เป็นเรื่องสำคัญของบ้านเมือง เป็นโจทย์ใหญ่ ผมหวังว่า สปช.จะคิดตรงนี้ออก และอย่าหมกมุ่นแต่เรื่องรัฐธรรมนูญ มิฉะนั้นท่านอาจเป็นเหมือนสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เสียเอง สรุปกลายเป็นมีผู้ร่างรัฐธรรมนูญ คือ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กับผู้ชำระร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็คือ สปช. แล้วงานปฏิรูปประเทศหายไปไหน” นายเจษฎ์กล่าว
ทางด้านนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่เป็นหนึ่งในรายชื่อผู้ที่คาดว่าจะเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญโควตา ครม.และ คสช.ว่า ตนไม่ทราบเรื่องนี้เลย ทราบเพียงจากข่าวเท่านั้น จึงไม่มีอะไรจะตอบ เมื่อถามถึงกรณีที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่าเคยสอบถามนายสุรพลเป็นการส่วนตัว นายสุรพลกล่าวว่า นายวิษณุพูดคุยกับนักกฎหมายหลายคนอยู่แล้วและเป็นกรรมการด้วยกันอยู่หลายคณะ เมื่อถามต่อว่า ถ้ามีการเสนอชื่อนายสุรพล ในที่ประชุมร่วมระหว่าง ครม.กับ คสช.ให้เป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญจริงจะยินดีรับตำแหน่งนี้หรือไม่ นายสุรพลกล่าวว่า ตนยังไม่ได้คิดเรื่องนี้ ขอไปอ่านข่าวดูว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร ไม่ควรตอบอะไรในตอนนี้
ขณะที่นายบรรเจิด สิงคะเนติ คณบดีนิติศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) กล่าวว่า ยังไม่ได้เห็นข่าวนี้ ไม่รู้เรื่องหรือรายละเอียดใดๆ จึงไม่กล้าที่จะให้ความคิดเห็น และไม่มีคนใน ครม.หรือ คสช.มาทาบทามหรือปรึกษาหารือเกี่ยวกับ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ