หัวหน้าประชาธิปัตย์ ชูประธานและรองประธาน สปช.มีความรู้ ประสบการณ์ เหมาะสม ชี้ปัญหาอยู่ที่ใครนั่ง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ หนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วม ไม่ติดใจไม่แสดงทรัพย์สิน แต่เตือนหากลงมาเล่นการเมืองต่อจะดูไม่ดี รับไม่สบายใจ “ประยุทธ์” ส่งสัญญาณลอยตัวก๊าซ ระบุควรให้ภาคครัวเรือนใช้ในราคาทุน ห่วงยิ่งขึ้นจะได้ไม่คุ้มเสีย เกิดปัญหาเศรษฐกิจรุนแรง
วันนี้ (23 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการทำหน้าที่ของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) หลังจากที่ได้นายเทียนฉาย กีระนันทน์ เป็นประธาน นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ และ น.ส.ทัศนา บุญทอง เป็นรองประธาน ว่า เป็นไปตามที่คาดการณ์ว่าบุคคลทั้งสามจะได้รับเลือกเป็นประธานกับรองประธาน ไม่มีอะไรพลิกโผหรือนอกเหนือความคาดหมาย ถือว่าเป็นบุคคลที่มีความรู้ ความสามารถ และมีประสบการณ์พอสมควร ไม่ว่าจะเป็นทางด้านการเมือง ทางด้านวิชาการ รวมไปถึงการที่เข้ามารับรู้ รับทราบเกี่ยวกับสภาพปัญหาต่างๆ เพราะฉะนั้นในแง่ของคุณสมบัติคิดว่ามีความเหมาะสม แต่ประเด็นปัญหาอยู่ที่ขั้นตอนต่อไปคือการได้ตัวกรรมาธิการมายกร่างรัฐธรรมนูญ ที่จะเป็นหัวใจของเรื่องของการปฏิรูปการเมือง ส่วนในเรื่องอื่นๆ ที่จะต้องมีการปฏิรูปนั้นจะเป็นการทำงานในตัวของสภาต่อไป ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะเป็นอย่างไร เพราะการทำงานคงไม่ง่าย เพราะมีกรอบที่จะต้องทำ 11 เรื่องใน เวลาค่อนข้างจำกัด รูปแบบการทำงานก็ยังไม่ชัดเจน แต่เมื่อทั้ง 3 คนแสดงวิสัยทัศน์ชัดเจนว่าต้องการที่จะเห็นการมีส่วนร่วมของประชาชน และจะผลักดันการปฏิรูปให้สำเร็จให้ได้ ถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นหรือไม่ ก็ต้องจับตาดูในขั้นตอนการทำงานต่อไป
ส่วนกรณีที่มีการเรียกร้องให้ สปช.แสดงบัญชีทรัพย์สินจะมีผลต่อการทำงานของ สปช.อย่างไรหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่ติดใจในเรื่องนี้ เพราะเข้าใจการทำหน้าที่ของ สปช.ไม่มีเรื่องของผลประโยชน์เข้าไปเกี่ยวข้อง ยกเว้นการอนุมัติรัฐธรรมนูญ เพราะคนที่มีอำนาจในการตัดสินใจเรื่องการปฏิรูป คือ ครม., คสช. กับ สนช.มากกว่า ส่วนเรื่องการอนุมัติรัฐธรรมนูญตนยังมองไม่ค่อยชัดว่าจะมีเรื่องผลประโยชน์อย่างไร นอกจากผลประโยชน์ที่จะขัดกันหากคนเหล่านี้จะเข้ามาเป็นผู้เล่นในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งตนไม่เห็นด้วยที่นักการเมืองที่เข้าไปอยู่ตรงนั้น ถ้าจะออกมาเล่นการเมืองอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ในแง่ผลประโยชน์ในเชิงการทุจริต คอร์รัปชั่นยังไม่ค่อยเห็น อย่างไรก็ตาม มีหลายคนมองว่าเมื่อมาเป็นบุคคลสาธารณะ อยู่ในตำแหน่งที่มีอำนาจอยู่ในบางแง่มุมจะแสดงบัญชีทรัพย์สินก็ไม่ได้เสียหายอะไร แต่อันนี้เมื่อ ป.ป.ช.ตัดสินไปแล้วก็คงต้องจบ
นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ยังแสดงความไม่สบายใจต่อการแก้ปัญหาราคาก๊าซของรัฐบาลที่ให้มีการลอยตัวตามกลไกว่า เพราะมาตรการดังกล่าวจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเงื่อนไขสำคัญคือต้องมีการแข่งขัน แต่การจะดูแลผลประโยชน์ของประชาชนในบางเรื่องไม่ใช่เป็นการเรียกร้องให้รัฐบาลเอาเงินมาอุ้ม เช่นกรณี LPG ต้องยอมรับว่าก๊าซที่เรามีอยู่ในประเทศมีพอสำหรับคนที่ใช้ในการหุงต้ม เป็นการใช้เพื่อความจำเป็นในการดำรงชีวิต ไม่มีใครใช้ฟุ่มเฟือย ควรให้ใช้ในราคาต้นทุน ส่วนที่ใช้ก๊าซในภาคอุตสาหกรรม หรือปิโตรเคมี ควรใช้ในราคาตลาด แต่ที่ผ่านมาหน่วยงานของรัฐยังไม่สามารถที่จะให้ตัวเลขชัดเจนว่า ต้นทุนคืออะไร กลับเอาไปเทียบกับราคาตลาด ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับต้นทุน ส่วนกรณีการขนส่งหากไม่อยากส่งเสริมให้ใช้ในราคาต้นทุน เรามีวิธีเก็บเงินได้หลายวิธี ถ้ามาทำราคาแล้วเขย่งกับครัวเรือนก็มีปัญหาได้ก็พอจะเข้าใจ
“ฉะนั้นผมไม่ค่อยสบายใจที่ประกาศว่าก๊าซยังจำเป็นต้องขึ้นเป็นขั้นบันได โดยใช้คำว่าราคา ไม่ใช่ต้นทุน เพื่อปรับให้ราคาตรงกับราคาตลาด ผมไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ยังได้แสดงความเป็นห่วงต่อปัญหาเศรษฐกิจเนื่องจากดัชนีความเชื่อมั่นลดลงติดต่อมาเป็นเดือนที่ 2 สะท้อนให้ความอ่อนแอในกำลังซื้อของประชาชน ซึ่งเป็นผลมาจากหลายปัจจัย จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับมาตรการจะทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อ สิ่งที่รัฐบาลกำลังขณะนี้ยังมีจุดอ่อนเช่นกรณีข้าว มาตรการที่ออกมาติดปัญหาเกษตรกรจำนวนมากไม่ได้ประโยชน์เพราะไม่ใช่เจ้าของที่ดิน หรือกรณียางที่ผลตอบแทนที่ได้ยังค่อนข้างต่ำ แม้จะมีการประกาศเป็นวาระแห่งชาติและเริ่มพยายามที่จะไปเจรจากับประเทศต่างๆ ซึ่งก็ถือว่าเดินมาถูกทางแล้ว
“เมื่อสถานการณ์กำลังซื้อค่อนข้างอ่อนแอ ส่งออกยังไม่สามารถเป็นตัวขับเคลื่อนได้ การลงทุนยังมีการรีรออยู่ สิ่งที่สำคัญคืออย่าทำลายกำลังซื้อประชาชน และผมคิดว่ามาตรการเรื่องพลังงาน ถ้าเดินหน้าต่อคือขึ้นแก๊สทุกเดือน รวมทั้งขึ้นดีเซลหรืออะไรด้วย จะทำให้เศรษฐกิจเกิดปัญหารุนแรงมาก ถือว่าไม่คุ้มค่า ไม่สามารถประหยัดเงินจากมาตรการเหล่านี้ได้ หากเศรษฐกิจทรุด รัฐบาลเองจะเดือดร้อนจากการเก็บภาษีไม่เข้าเป้าตามมา” นายอภิสิทธิ์กล่าว