xs
xsm
sm
md
lg

เผยแปลนรธน.มี4ภาค กษัตริย์-ศาล-การเมือง-ปรองดอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อวานนี้ (12พ.ย.) นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ ประธานเครือข่ายยุวทัศน์ กรุงเทพมหานคร เข้ายื่นหนังสือต่อ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้เยาวชน มีส่วนร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายพชรพรรษ์ มีข้อเสนอ 3 ข้อ คือ
1. จัดตั้งสภาที่ปรึกษาการศึกษาและสังคม เป็นองค์กรอิสระตามรธน. มีเยาวชนเป็นผู้คัดเลือก มาทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ครม. เพื่อพิจารณานโยบายด้านการศึกษา และสังคมที่ส่งผลกระทบต่อเยาวชน
2. ให้แก้รัฐธรรมนูญ ลดอายุของผู้สมัครส.ส.จากเดิม 25 ปี เหลือ 18 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชน มีสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งได้ 3. เปิดโอกาสให้เยาวชนเข้ามามีบทบาทร่วมเป็นอนุกรรมาธิการยกร่างรธน. เพื่อเสนอกฎหมาย และข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้
ด้านนายบวรศักดิ์ กล่าวว่า พร้อมจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมกมธ.ยกร่างฯ โดยจะสนับสนุนให้มีการตั้งคณะอนุกรรมาธิการใหม่ 1 ชุด มาทำหน้าที่กระตุ้น และส่งเสริมเยาวชนให้มีส่วนร่วมร่างรธน. เพราะเยาวชนถือเป็นอาทิตย์อุทัย ที่จะมาแทนที่อาทิตย์อัสดงที่เป็นคนรุ่นพวกตน จึงควรให้มีส่วนร่วมเสนอความเห็น ในการยกร่างรธน. เพื่อกำหนดอนาคตของตัวเองในอนาคต โดยจะให้นายมีชัย วีระไวทยะ สปช. เป็นผู้ดูแลเรื่องนี้
ส่วนการเชิญตัวแทนพรรคการเมือง และกลุ่มคู่ขัดแย้งต่างๆ มาเสนอความเห็นในการยกร่างรธน. นั้น จะรีบส่งหนังสืออย่างเป็นทางการเชิญพรรคการเมือง กลุ่มคู่ขัดแย้งต่างๆ มาร่วมเสนอความเห็น ขณะนี้ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ตอบรับมาแล้วว่า พร้อมจะมาร่วมแสดงความคิดเห็น ในวันที่ 24 พ.ย. ขณะที่ หลวงปู่พุทธอิสระ ก็ตอบรับ จะมาพบกับประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และประธาน กมธ.ยกร่าง ในวันนี้ (13 พ.ย.) เพื่อให้ความเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนที่พรรคเพื่อไทย มีท่าทีไม่ขอร่วมแสดงความคิดเห็นการยกร่างรธน.นั้น ถ้าไม่มาก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเข้ามาร่วม ถือเป็นบุญคุณในการ ช่วยกันสร้างบรรยากาศดีๆ ให้เกิดขึ้น
**แนะตั้งหัวข้อ เชิญคู่ขัดแย้งพูดเป็นเรื่องๆ
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย กล่าวถึงถึงความคืบหน้าการตั้ง 4 เวทีคู่ขนานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.)ว่า เวทีแรกที่เป็นผู้ชำนาญด้านต่างๆ ที่ไปเป็นที่ปรึกษา ผู้ช่วย ผู้ชำนาญการต่างๆ คัดจากรายชื่อผู้สมัครสปช. 7,000 คน ที่รัฐบาลส่งไปให้คัดเลือก ส่วนเวทีกรรมาธิการ สปช. 18 คณะ มีโควตารัฐบาล 1 ใน 5 ทาง สปช. จะแจ้งมายังรัฐบาลส่งคนเข้าสมทบ เลือกคนที่ตรงกับสาขา และภายใน 2-3 วันจะส่งชื่อไป ส่วนเวทีที่สามรูปแบบเดียวเวทีปฏิรูปประเทศ จำนวน 300 คน แบ่ง 3 ทีม คือ 1. การเมือง การปกครอง การปกครองท้องถิ่น 2. เศรษฐกิจ พลังงาน 3. สังคมกับสื่อ กลุ่มละ 100 คน เวทีนี้จะจัดตั้งหลังทำ 2 เวทีแรกแล้วเสร็จ เพื่อรอทราบจำนวนคนที่ส่งไปสปช. เลือกเหลือกี่คน ใช้เวลา 1 เดือน โดยการทำงานจะต้องประหยัดงบประมาณมากที่สุด ค่าตอบแทน 8,000 บาท ต่อเดือน เท่ากับสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยประชุมเดือนละ 4 ครั้ง ส่วนเวทีสุดท้ายเวทีภูมิภาค กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร(กอ.รมน.) เป็นเจ้าภาพ รัฐบาลส่งชื่อไปแล้ว และให้ไปคิดรูปแบบมา
นายวิษณุ กล่าวถึง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เชิญพรรคการเมือง คู่ขัดแย้ง มาเสนอแนวคิดในการยกร่างรธน. ว่า การเชิญกลุ่มบุคคลเหล่านี้มา คงได้ผลส่วนหนึ่ง เพราะกมธ.ยกร่างฯ ก็ต้องรับฟังความคิดเห็น และคิดว่าแต่ละคนคงมีอะไรในใจที่อยากจะพูด
ส่วนที่บางพรรคปฏิเสธเข้าร่วมนั้น ไม่เป็นไร เชิญหนเดียวไม่มา เชิญใหม่อีกก็ได้ ความจริงเชิญมาแบบนี้ อาจจะไม่ค่อยดี เพราะยังไม่มีอะไรในมือ ถ้าสมมุติ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ตั้งเป็นเรื่อง หัวข้อ วันนี้อยากฟังเรื่องอะไร ก็เชิญกลุ่มบุคคลเหล่านี้มาคุยในเรื่องนั้นๆ อย่างเช่น อยากฟังที่มาของนายกรัฐมนตรี ก็เชิญบุคคลที่ให้ความคิดเห็นในเรื่องนี้ได้เข้ามา แต่ถ้ามาคนเดียวแล้วพูดทุกเรื่อง คงไม่ได้ อันนี้ตนคิดเอง

**ขอคสช.ผ่อนปรนให้ประชุมพรรคได้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พร้อมให้ความร่วมมือกับกมธ.ยกร่างฯ ในการให้ความเห็น เกี่ยวกับการร่างรธน. โดยได้ประสานไปแล้วว่า จะไปพบกรรมาธิการฯด้วยตัวเอง ในวันที่ 24 พ.ย.นี้
ทั้งนี้ พรรคย้ำมาโดยตลอดว่า ให้ความร่วมมือกับกระบวนการปฏิรูปประเทศ แต่มีประเด็นว่า พรรคการเมืองประชุมไม่ได้ ทำให้มีข้อจำกัด จึงอยากให้คสช. ผ่อนคลายข้อจำกัดนี้ เพราะหากให้มีการประชุมพรรคการเมืองได้ ก็จะช่วยให้สมาชิกได้แลกเปลี่ยน และทำทุกอย่างให้เป็นระบบได้ โดยกำหนดเงื่อนไขให้ชัดว่า ห้ามกระทำอะไรที่กระทบความมั่นคง หรือสร้างความวุ่นวาย และระมัดระวังความเห็นที่จะนำไปสู่ความแตกแยก แต่ คสช.อาจคิดว่ายุ่งยากเกินไป จึงไม่ให้เคลื่อนไหว
อย่างไรก็ตาม หลักที่ต้องการย้ำคือ ต้องการให้ย้อนกลับไปดูสภาพปัญหาก่อน เนื่องจากมีข้อเสนอจำนวนมากที่ไม่ชัดเจนว่า ตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเพราะวิกฤตการเมือง คือ ปัญหาการใช้อำนาจโดยมิชอบของคนที่เข้าไปมีอำนาจ โยงถึงเรื่องการซื้อเสียง และการใช้อำนาจมิชอบ มีการทุจริต แทรกแซงสื่อ ไม่รับผิดชอบต่อหน้าที่และสภา ทำให้เกิดความล้มเหลวของระบบ จนเกิดการประท้วงและการเมืองบนท้องถนน
เมื่อถามว่า มีสนช.ออกมาเรียกร้องว่า หลังพรรคการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองให้ความเห็นต่อกรรมาธิการยกร่างฯแล้วให้ทำสัญญาประชาคมว่า จะยอมรับผลจากการปฏิรูป คิดว่าเป็นการมัดมือชกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องทำอย่างนั้นเพราะพรรคไม่มีส่วนร่วมในการตัดสินใจ เป็นเพียงคนให้ความเห็นเท่านั้น เมื่อมีการตัดสินใจจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ประชาชนก็มีสิทธิที่จะเห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยเป็นเรื่องธรรมดา แม้แต่สปช.เอง ก็มีโอกาสที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ที่กรรมาธิการฯยกร่าง ซึ่งตนเห็นว่า การทำให้ทุกฝ่ายยอมรับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ คือการทำประชามติ เพราะจะเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ แต่ถ้าไม่ทำประชามติ จะมีปัญหาในอนาคตที่ฝ่ายต่างๆ จะหยิบยกขึ้นมา
อย่างไรก็ดี การร่างรธน.ใหม่ จะเป็นชนวนความขัดแย้งหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสาระของการร่าง ซึ่งกมธ.ยกร่างฯ ต้องเข้าใจว่า ความเห็นของประชาชนหลากหลาย หากมีการกำหนดมาตรการที่มีเหตุผลรองรับชัดเจน ความขัดแย้งก็น้อย แต่ถ้าทำบทบัญญัติที่ไม่มีเหตุผลรองรับ หรือมีเป้าหมายเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่ประโยชน์ส่วนรวม และการรักษาระบบก็สุ่มเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งตามมา ซึ่งเงื่อนไขที่จะทำให้เกิดความล้มเหลวคือ การที่รัฐธรรมนูญถูกมองว่าไม่เป็นประชาธิปไตย เพราะจะมีแรงกดดันจากทั้งในและต่างประเทศ

**เพื่อไทยจะส่งตัวแทนไปร่วมหารือ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า ที่กมธ.ยกร่างฯเชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองไปให้ความเห็นนั้น จะทำจริงจัง ต่อเนื่องแค่ไหน และจะมีผลมากน้อยเพียงใด ยังคงเป็นที่สงสัยอยู่ ถ้าการเชิญไปครั้งนี้ ทำกันแค่พอเป็นพิธี เพื่อจะได้ไปอ้างว่า รับฟังแล้ว เปิดโอกาสแล้วเท่านั้น การให้ความเห็น ก็จะไม่เป็นประโยชน์ หรือเสียเวลาเปล่า
ทั้งนี้ สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ในการที่พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองจะไปให้ความเห็นก็คือ ตอนนี้พรรคการเมือง และกลุ่มการเมือง ไม่สามารถประชุมหารือกันได้ เนื่องจากมีคำสั่งห้ามไว้ ดังนั้นหากตัวแทนพรรคการเมืองไปให้ความเห็นก็จะเป็นเพียงความเห็นส่วนตัว ไม่ใช่ความเห็นของพรรค ความเห็นเหล่านั้นถึงแม้อาจเป็นความเห็นที่ดี แต่ก็อาจไม่ตรงกับความเห็นส่วนใหญ่ของคนในพรรค และย่อมขาดความสมบูรณ์ไปอย่างมาก
" ผมได้รับการสอบถามความเห็นจากผู้ใหญ่ของพรรคเพื่อไทย และได้เสนอไปว่า เมื่อได้รับเชิญก็น่าจะไป แต่คงยังให้ความเห็นอะไรไม่ได้ นอกจากจะไปบอกคณะกรรมาธิการว่า ถ้าต้องการความเห็นจริงๆ ก็ควรเสนอให้คสช. ยกเลิกคำสั่งห้ามพรรคการเมืองประชุมหารือเสียก่อน หรืออย่างน้อย ก็ควรผ่อนผันให้พรรคการเมือง จัดประชุมหารือในเรื่องนี้ได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อคสช.ผ่อนผันให้แล้ว พรรคก็จะได้จัดประชุม เพื่อเสนอความเห็นไปยังคณะกรรมาธิการ และต่อสาธารณชนต่อไป หากพรรคจัดประชุมไม่ได้ ก็ไม่ควรไปเสนอความเห็นใดๆ นอกจากวิจารณ์อยู่วงนอกก็พอ" นายจาตุรนต์ กล่าว

** ต้องประกาศทำประชามติก่อนเสร็จ

นายจาตุรนต์ ยังได้โพสต์เฟซบุ๊ก เสนอความเห็นอีกว่า ก่อนการรัฐประหาร มีข้อเสนอเกี่ยวกับระบบการเมืองการปกครองที่ดูจะปนๆกัน ระหว่างข้อเสนอที่ก้าวหน้า กับข้อเสนอที่ล้าหลัง แต่พอใกล้จะถึงเวลายกร่าง รธน. เข้าจริงๆ ข้อเสนอต่างๆ กลับค่อนไปทางล้าหลัง และไม่เป็นประชาธิปไตยเสียเป็นส่วนใหญ่
เมื่อพิจารณาจากรายชื่อผู้ที่จะมาร่าง ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นฝ่ายเดียวกันเกือบทั้งหมด และบรรยากาศทางการเมืองที่ห้ามเสนอความเห็นที่แตกต่างรวมทั้งไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมด้วยแล้ว การจะหวังให้ได้รธน. ที่เป็นประชาธิปไตยจึงเป็นไปไม่ได้เลย
พร้อมกันนี้เห็นว่า ทางที่จะลดความเสียหายในเรื่องนี้ก็คือ การส่งเสริมให้ประชาชนทั้งประเทศมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและตัดสินใจว่า จะเห็นชอบกับร่างรธน. หรือไม่ โดยต้องให้มีการลงประชามติ ซึ่งข้อเสนอนี้ กำลังได้รับการขานรับ และสนับสนุนจากประชาชนทั่วประเทศ เพื่อให้การลงประชามติเป็นข้อกล่าวอ้างได้ว่า รัฐธรรมนูญที่ร่างขึ้น เป็นที่ยอมรับของประชาชน
โดยการทำประชามติ 1. ควรจะประกาศเสียแต่เนิ่นๆว่า เมื่อยกร่างรธน.เสร็จแล้ว จะให้มีการลงประชามติ ไม่ใช่ไปตัดสินใจให้มีการลงประชามติในนาทีสุดท้าย 2. การลงประชามติที่จะมีขึ้น ไม่ควรให้อยู่ในสภาพมัดมือชก เหมือนการลงประชามติ รธน.ปี 50 คือ หากลงประชามติไม่ผ่าน ก็อาจเอารธน.ที่เลวร้ายยิ่งกว่ามาใช้แทน ทั้งที่ควรจะให้ตกไปแล้วร่างใหม่ แม้จะเสียเวลาก็ตาม และ 3. ก่อนการลงประชามติเป็นเวลาอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป ควรยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถแสดงความเห็น และรณรงค์สนับสนุนหรือคัดค้านร่างรธน.ได้อย่างเสรี

**เผยแปลนรธน.ใหม่แบ่งเป็น 4 ภาค
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสปช. ในฐานะโฆษก กมธ.ยกร่างรธน. เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้จัดโครงสร้างหมวดหมู่รธน.ฉบับใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ภาค ประกอบด้วย 1. พระมหากษัตริย์ และประชาชน 2. ศาล นิติธรรม และกระบวนการยุติธรรม 3. ผู้นำที่ดี และสถาบันการเมือง 4. การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง เพื่อสะดวกต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ในแต่ละภาคจะมีการแบ่งเป็นหมวด โดย ภาค 1 หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 ประชาชน แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยส่วนที่ 1. ความเป็นพลเมือง ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมือง และ ส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ
ภาค 2 ผู้นำทางการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง แบ่งเป็น 7 หมวด หมวด 1 ผู้แทนที่ดีและผู้นำทางการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 การคลังและงบประมาณของรัฐ หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน และ หมวด 7 การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น
ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แบ่งเป็น หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และส่วนที่เป็นองค์กรอิสระ
ภาค 4 การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม หมวด 2 การสร้างความปรองดอง และบทสุดท้าย จะเป็นบทเฉพาะกาล
โดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นการหยิบปัญหาบ้านเมืองมาเป็นกรอบในการยกร่างฯ ซึ่งทาง กมธ.ได้มีการแบ่งเป็น 10 อนุกมธ. รับผิดชอบการยกร่างฯ ในแต่ละภาค โดยคณะอนุกมธ. ประกอบด้วย กมธ. ยกร่างฯ 4-5 คน ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย และ สปช. เนื่องจากเห็นว่าท้ายสุดร่างรธน. จะเข้าสู่การพิจารณาของ สปช. ในวันที่ 17 เม.ย. 58 ดังนั้น หากให้สปช. เข้าร่วมตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะเกิดความเข้าใจถึงที่มา ที่ไปของแต่ละมาตรา และทำให้การพิจารณารธน. เป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ (13 พ.ย.) จะมีคำสั่งตั้งอนุกมธ.ให้เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นจะเริ่มทำงานล่วงหน้าได้ทันที และเมื่อครบกำหนดที่แต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้องเสนอความเห็นมา ในวันที่ 19 ธ.ค. เชื่อว่าจะมีความคิดเห็นตกผลึก จนสามารถนำมาสู่เริ่มการยกร่างฯได้ ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. เป็นต้นไป โดยจะมีเวลา 120 วัน ทำให้แล้วเสร็จ ในวันที่ 17 เม.ย. 58 และคาดว่า จะนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯได้ ในวันที่ 4 ก.ย. 58 และเชื่อว่าปลายเดือน ก.ย. จะมีพระบรมราชโองการฯ โปรดเกล้าฯรัฐธรรมนูญลงมา โดยจะพยายามร่างให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่ง กมธ.บางคนเสนอว่า ควรมีเพียงร้อยกว่ามาตรา แต่ส่วนตัวคิดว่า เป็นไปไม่ได้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 กว่ามาตรา โดยร่างรธน. จะมีแต่ประเด็นหลักๆ ส่วนรายละเอียด ก็จะให้นำไปบรรจุไว้ในกฎหมายประกอบรธน. เพื่อเลี่ยงไม่ให้มีการตีความ

**ไม่จำเป็นต้องให้คสช.ผ่อนปรน

ส่วนความคืบหน้าในการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็น เกี่ยวกับการร่างรธน. นั้น นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ได้ลงนามในหนังสือ ส่งถึงพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองต่างๆแล้ว
ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่า การให้พรรคการเมืองมาแสดงความคิดเห็น ไม่จำเป็นต้องไปขอ คสช. ให้ผ่อนปรนประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เพราะเชื่อว่า แต่ละพรรค โดยเฉพาะหัวหน้าพรรค จะรู้ว่าใครมีความรู้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้มาแสดงความคิดเห็น และที่ผ่านมา ก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคการเมืองว่าติดขัดตามประกาศดังกล่าว หรือไม่ มีเพียงพูดผ่านสื่อเท่านั้น และเรื่องนี้ไม่ขัดต่อประกาศ คสช. จึงอยากให้พรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองเข้าใจกมธ. โดยเฉพาะประธาน ซึ่งอยากเปิดกว้างที่สุด เพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ แต่อยากทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับมากที่สุด
ผู้สื่อข่าวถามว่า การแบ่งรธน.เป็นภาค จะเกี่ยวข้องกับความยากง่ายในการแก้ไขรธน.ภายภาคหน้าหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ก็มีการคำนึงถึง อย่างภาคที่ 1 หมวดพระมหากษัตริย์ และประชาชน ก็ไม่อยากให้แก้ไขได้ง่าย แต่โดยรวมรธน.ทั้งฉบับ ก็ไม่อยากให้มีการแก้ไขง่าย ซึ่งจะมีการกำหนดในบททั่วไปจะแก้ไขภาคไหน จะต้องมีการวิธีการและใช้เสียงเท่าไหร่
เมื่อถามต่อว่า กมธ.ได้คุยถึงระยะเวลาการยกร่างฯกฎหมายประกอบ จะเริ่มเมื่อไร พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า เมื่อรธน.ร่างเสร็จ และส่งสปช.ในวันที่ 17 เม.ย. 58 อนุกมธ.แต่ละคณะ ก็น่าจะเริ่มร่างกฎหมายลูกได้แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างรธน. อยู่ในการพิจารณาของสปช. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคสช. ดังนั้น คิดว่า น่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และหากมีการแก้ไขร่างรธน. ก็ให้กมธ.ไปปรับกฎหมายลูกที่กำลังยกร่าง หากดำเนินการตามนี้ ก็สามารถเลือกตั้งได้ภายในปลายเดือนพ.ย.58

** อยากประชุมขออนุญาตคสช.ได้

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่นักการเมืองออกมาเรียกร้องให้คสช. ปลดล็อก ให้พรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมพรรคการเมืองได้ เพื่อระดมความเห็นเสนอแนวทางการยกร่างรธน. ว่า หากพรรคการเมืองใดต้องการจะประชุมพรรค หรือทำกิจกรรมพรรคการเมืองใดๆ นั้น ขอให้ทำเรื่องขออนุญาต มายังคสช. โดยระบุเนื้อหาและรายละเอียดกิจกรรมที่จะดำเนินการ โดยเฉพาะการประชุมระดมความเห็น ที่จะนำมาเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรธน. ซึ่ง คสช.จะใช้ดุลยพินิจในการพิจารณาว่า จะอนุญาตหรือไม่ อย่างไร หรือจะส่งคนเข้าร่วมสังเกตการณ์ ทั้งนี้ขอให้พรรคการเมือง อย่าเพิ่งตีตนไปก่อนไข้ โดยที่ยังไม่ได้แสดงเจตนารมณ์มายัง คสช.

** 10ธ.ค.ส่งแนวทางปฏิรูปให้กมธ.ยกร่าง

นายอลงกรณ์ พลบุตร เลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาแต่งตั้งตำแหน่งต่างๆ และพิจารณาองค์ประกอบจำนวนบุคคลที่จะเป็นกรรมาธิการวิสามัญทั้ง 5 คณะ ประกอบด้วย คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรธน. โดยกำหนดให้มี 12 คน ซึ่ง11 คน มาจาก สปช. อีก 1 คน คือ เลขาธิการสปช. ส่วนคณะกรรมาธิการวิสามัญ จัดทำวิสัยทัศน์ และออกแบบอนาคตประเทศไทย มี 12 คน 7 คน จาก สปช. 5 คน จากผู้เชี่ยวชาญ สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นชองประชาชน มาจากสปช. ที่เป็นตัวแทนกมธ. 18 คณะ และสปช.ที่เป็นตัวแทน 4 ภูมิภาค รวมกับตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกไม่เกิน 8 คน สำหรับคณะกรรมาธิการวิสามัญประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูปไม่เกิน 12 มาจาก สปช. 7 คน ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน คณะสุดท้ายคณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำจดหมายเหตุ และเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของสภา จะมีจำนวน 10 คน มาจาก สปช. 3 ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ผู้ชำนาญการ 2คน โดยในวันที่ 17 พ.ย. สปช. จะประชุมใหญ่ มีวาระ เรื่องการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการกิจการสภา เพื่อให้ที่ประชุมรับทราบ และจะมีการพิจารณาอำนาจหน้าที่ องค์ประกอบของคณะกรรมาธิการวิสามัญ 5 คณะ ตั้งศูนย์รับฟังความคิดเห็น โดยมอบหมายให้เลขาธิการสภาปฏิรูปแห่งชาติ จัดตั้งโดยใช้ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ มีคณะทำงานกำกับดูแลประกอบด้วย น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช. คนที่สอง นายวันชัย สอนศิริ ในฐานะโฆษกวิปสปช. นายอลงกรณ์ พลบุตร และ นายจเร พันธุ์เปรื่อง เลขาธิการสภา ในฐานะเลขาธิการสปช.
นอกจากนั้นจะมีการกำหนดเรื่องของกรอบเวลาที่จะส่งให้กับกมธ.ยกร่างรธน. โดยกำหนดให้คณะกมธ.18 คณะ รวมถึงกรรมาธิการวิสามัญที่เกี่ยวข้อง สรุปข้อเสนอให้สปช. ภายในวันที่ 10 ธ.ค. ซึ่งเป็นวันรัฐธรรมนูญ เพื่อที่ สปช.จะจัดการประชุมและพิจารณาในวันที่ 15 -16 ธ..ค. และยื่นข้อเสนอต่อกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 19 ธ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น