xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.วางแปลนร่าง รธน.ใหม่ 4 ภาค ลำดับความยากง่ายในการแก้ไข

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยวางแปลนร่าง รธน.ฉบับใหม่ 4 ภาค จัดลำดับความยากง่ายในการแก้ไข วาง 10 คณะอนุ กมธ.ยกร่าง คาดมีแค่ 200 มาตรา คาด 4 ก.ย. 58 ทูลเกล้าฯ ถวายได้ ปลาย พ.ย. 58 เลือกตั้ง

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้จัดโครงสร้างหมวดหมู่รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 4 ภาค ประกอบด้วย 1. พระมหากษัตริย์ และประชาชน 2. ศาล นิติธรรม และกระบวนการ ยุติธรรม 3. ผู้นำที่ดี และสถาบันการเมือง 4. การปฏิรูป และการสร้างความปรองดอง เพื่อสะดวกต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ



ทั้งนี้ ในแต่ละภาคจะมีการแบ่งเป็นหมวด โดยภาค 1 หมวด 1 พระมหากษัตริย์ หมวด 2 ประชาชน แบ่งเป็น 5 ส่วน โดยส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมือง ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ

ภาค 2 ผู้นำทางการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง แบ่งเป็น 7 หมวด หมวด 1 ผู้แทนที่ดีและผู้นำทางการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา หมวด 4 คณะรัฐมนตรี หมวด 5 การคลังและงบประมาณของรัฐ หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และประชาชน และหมวด 7 การกระจายอำนาจ การปกครองท้องถิ่น

ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ แบ่งเป็น หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และส่วนที่เป็นองค์กรอิสระและ

ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม หมวด 2 การสร้างความปรองดอง และบทสุดท้ายจะเป็นบทเฉพาะกาลโดยรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นการหยิบปัญหาบ้านเมืองมาเป็นกรอบในการยกร่างฯ ซึ่งทาง กมธ.ได้มีการแบ่งเป็น 10 อนุ กมธ.รับผิดชอบการยกร่างฯในแต่ละภาค โดยคณะอนุ กมธ.ประกอบด้วย กมธ.ยกร่างฯ 4-5 คน ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นๆ รวมถึงผู้มีส่วนได้เสีย และ สปช. เนื่องจากเห็นว่าท้ายสุดร่างรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่การพิจารณาของ สปช.ในวันที่ 17 เม.ย. 2558 ดังนั้น หากให้ สปช.เข้าร่วมตั้งแต่ตอนนี้ ก็จะเกิดความเข้าใจถึงที่มาที่ไปของแต่ละมาตรา และทำให้การพิจารณารัฐธรรมนูญเป็นไปอย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม พรุ่งนี้ (13 พ.ย.) จะมีคำสั่งตั้งอนุ กมธ.ให้เสร็จสมบูรณ์ จากนั้นจะเริ่มทำงานล่วงหน้าได้ทันที และเมื่อครบกำหนดที่แต่ละหน่วยงานเกี่ยวข้องเสนอความเห็นมาในวันที่ 19 ธ.ค. เชื่อว่าจะมีความคิดเห็นตกผลึกจนสามารถนำมาสู่เริ่มการยกร่างฯได้ตั้งแต่วันที่ 20 ธ.ค. เป็นต้นไป โดยจะมีเวลา 120 วัน ทำให้แล้วเสร็จ ในวันที่ 17 เม.ย. 58 และคาดว่าจะนำรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯได้ ในวันที่ 4 ก.ย. 58 และเชื่อว่าปลายเดือน ก.ย.จะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ รัฐธรรมนูญลงมาโดยจะพยายามร่างให้เป็นรัฐธรรมนูญที่สั้นที่สุดเท่าที่เคยมีมา ซึ่ง กมธ.บางคนเสนอว่าควรมีเพียงร้อยกว่ามาตรา แต่ส่วนตัวคิดว่าเป็นไปไม่ได้ น่าจะอยู่ที่ประมาณ 200 กว่ามาตรา โดยร่างรัฐธรรมนูญจะมีแต่ประเด็นหลักๆ ส่วนรายละเอียดก็จะให้นำไปบรรจุไว้ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อเลี่ยงไม่ให้มีการตีความ

พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวด้วยว่า กมธ.ยกร่างฯ ยังได้มีการพิจารณาข้อเสนอของกลุ่มยุวทัศน์ที่ต้องการให้เยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยมีมติตั้งอนุ กมธ. “ขับเคลื่อนเยาวชนเพื่อการปฏิรูปประเทศ และการจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่ออนาคตที่ดีกว่า” โดยมีนายมีชัย วีระไวทยะ กมธ. เป็นประธานอนุ กมธ.ดังกล่าว

ส่วนความคืบหน้าในการเชิญตัวแทนจากพรรคการเมืองเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งบ่ายวันนี้ (12 พ.ย.) นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. ในฐานะประธาน กมธ.ยกร่างฯ ได้ลงนามในหนังสือถึงพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ และมีบางพรรคการเมืองได้ติดต่อกลับมา เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ได้ขอเลื่อนเข้าให้ความเห็น เป็นวันที่ 24 พ.ย.นี้ ขณะที่ หลวงปู่พุทธะอิสระ จะเข้าหารือกับประธาน กมธ. และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช.ในช่วงเที่ยงวันที่ 13 พ.ย.ด้วย

ทั้งนี้ ส่วนตัวเห็นว่าการให้พรรคการเมืองมาแสดงความคิดเห็น ไม่จำเป็นต้องไปขอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ผ่อนปรนประกาศห้ามชุมนุมเกิน 5 คน เพราะเชื่อว่าแต่ละพรรค โดยเฉพาะหัวหน้าพรรคจะรู้ว่าใครมีความรู้เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ ก็ให้มาแสดงความคิดเห็น และที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้รับการติดต่อจากพรรคการเมืองว่าติดขัดตามประกาศดังกล่าว หรือไม่ มีเพียงพูดผ่านสื่อเท่านั้น และเรื่องนี้ไม่ขัดต่อประกาศ คสช. จึงอยากให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองเข้าใจ กมธ. โดยเฉพาะประธาน ซึ่งอยากเปิดกว้างที่สุดเพื่อแสดงให้เห็นว่าไม่มีพิมพ์เขียวรัฐธรรมนูญ แต่อยากทำให้รัฐธรรมนูญเป็นที่ยอมรับมากที่สุด

ผู้สื่อข่าวถามว่า การแบ่งรัฐธรรมนูญเป็นภาคจะเกี่ยวข้องกับความยากง่ายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญภายภาคหน้าหรือไม่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ก็มีการคำนึงถึง อย่างภาคที่ 1 หมวดพระมหากษัตริย์ และประชาชน ก็ไม่อยากให้แก้ไขได้ง่าย แต่โดยรวมรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ก็ไม่อยากให้มีการแก้ไขง่าย ซึ่งจะมีการกำหนดในบททั่วไปจะแก้ไขภาคไหน จะต้องมีการวิธีการและใช้เสียงเท่าไหร่

ส่วน กมธ.ยกร่างฯ ได้คุยถึงระยะเวลาการยกร่างฯกฎหมายประกอบจะเริ่มเมื่อไหร่ พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า เมื่อรัฐธรรมนูญร่างเสร็จและส่ง สปช.ในวันที่ 17 เม.ย. 2558 อนุ กมธ.แต่ละคณะก็น่าจะเริ่มร่างกฎหมายลูกได้แล้ว ซึ่งเป็นช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในการพิจารณาของ สปช. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และคสช. ดังนั้น คิดว่าน่าจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน และหากมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้ กมธ.ไปปรับกฎหมายลูกที่กำลังยกร่าง หากดำเนินการตามนี้ก็สามารถเลือกตั้งได้ภายในปลายเดือน พ.ย. 2558







กำลังโหลดความคิดเห็น