xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งอย่างช้าก.พ.59 พท.ไม่ร่วมสังฆกรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลวงปู่พุทธะอิสระ พบ "พรเพชร-เทียนฉาย- บวรศักดิ์" ยื่นแนวทางการบรรจุเนื้อหารธน. เสนอตั้งสถาบันการเมืองแห่งชาติ คุมจริยธรรมนักการเมือง ออกกม.ห้ามคนรวยแย่งอาชีพคนจน ตรวจสอบทรัพย์สินทุกวัด พร้อมชง 90 แนวทางปฏิรูปพลังงาน "ปลอด"ยัน"เพื่อไทย"ไม่ร่วมสังฆกรรมกับ สนช.-สปช. อ้างติดข้อห้ามคสช. ประชุมพรรคไม่ได้ "วิษณุ" แนะพรรคการเมืองคุยกันภายใน ก่อนเสนอไอเดียกมธ. ฉะพวกลวดลายเยอะ หากระแวงก็ไม่ต้องมาร่วม ด้านกมธ.ยกร่างรธน. เคาะชื่อประธานอนุกมธ. 11 คณะ มั่นใจร่างรธน.เสร็จก่อนสงกรานต์ "บวรศักดิ์" ขีดเส้นเลือกตั้งอย่างช้า ก.พ.59 ถ้าไม่มีการทำประชามติ จะประกาศใช้รธน.ฉบับใหม่ได้ภายในก.ย.58

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (13 พ.ย.) หลวงปู่พุทธะอิสระ เดินทางมายังรัฐสภาเพื่อยื่นหนังสือต่อ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อให้ข้อเสนอแนะ และแนวทางการออกกฎหมาย โดยหลวงปู่พุทธะอิสระ กล่าวว่า อยากผลักดันให้มีกฎหมายการตั้งสถาบันการเมืองแห่งชาติ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมความประพฤติ จริยธรรมนักการเมืองทุกระดับ รวมถึงให้คดีทุจริตไม่มีอายุความ โดยให้ประชาชนทุกคนสามารถแจ้งความร้องทุกข์ได้ ไม่ต้องให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานรัฐ หากนักการเมืองคนใดถูกร้องเรียน ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ไว้ก่อน จนกว่าจะมีความชัดเจนออกมา รวมถึงอยากให้มีการออกฎหมายห้ามคนรวยแย่งอาชีพคนจน นอกจากนี้ ได้นำข้อสรุปเรื่องแนวทางปฏิรูปพลังงานระหว่างภาคประชาชน กับกระทรวงพลังงาน ทีมีการสัมมนากันมาทั้ง 4 ครั้ง จำนวน 90 ข้อ มามอบให้ด้วย

ด้านนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. กล่าวว่าจะนำข้อเสนอแนวทางปฏิรูปด้านต่างๆ ของหลวงปู่พุทธะอิสระ ส่งให้ สปช.และกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ส่วนการร่างกฎหมาย ซึ่งเป็นอำนาจของ สนช.โดยตรง ก็จะรับฟังความเห็นของภาคประชาชน และจะส่งให้คณะกรรมาธิการฯ ที่เกี่ยวข้องต่อไป และเมื่อมีร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องเรื่องใดก็จะนำข้อเสนอของหลวงปู่พุทธะอิสระมาพิจารณาประกอบด้วย เพราะเท่าที่ฟังข้อเสนอของหลวงปู่ฯ ถือว่ามีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ และการบริหารบ้านเมือง

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ หลวงปู่พุทธะอิสระ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เชิญพรรคการเมือง และคู่ขัดแย้งมาร่วมเสนอความเห็นการยกร่างรัฐธรรมนูญ ว่า เป็นเรื่องดีที่ให้ทุกพรรคการเมืองเข้ามามีส่วนร่วม หากพรรคใดปฏิเสธเข้าร่วมกระบวนการแสดงว่า ไม่เห็นประโยชน์ของประชาชน มุ่งแต่ประโยชน์ของพรรคตัวเอง จึงขอให้ทุกฝ่ายให้ความร่วมมือ เรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะได้ไม่ต้องมาพูดว่า เป็นผลไม้พิษ หรือกฎหมายจากการรัฐประหาร ทำให้การแก้ปัญหาไม่จบ หากใครไม่ให้ความร่วมมือ ปฏิเสธการเข้าร่วมกระบวนการแสดงความเห็น แสดงว่ามีเจตนาทำให้ประเทศชาติมีปัญหา มีเป้าหมายให้เกิดความไม่สงบในประเทศ น่ารังเกียจมาก ๆ

ส่วนที่พรรคการเมืองอยากให้ยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการแสดงความเห็นนั้น ตนมองว่า แม้จะมีกฎอัยการศึก ก็สามารถแสดงความเห็นได้อยู่แล้ว ไม่มีปัญหาใดๆ ถ้ากฎอัยการศึกมีความศักดิ์สิทธิ์จริง ทำไมวัดอ้อน้อยจึงถูกยิงอยู่เป็นประจำ ดังนั้นอย่ามาอ้างกฎอัยการศึกส่งเดช ว่าทำให้ไม่สามารถทำอะไรได้ ส่วนการทำประชามติภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น เห็นว่า สมควรทำเพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมเต็มที่

** เสนอตรวจสอบทรัพย์สินทุกวัด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลวงปู่พุทธะอิสระ ยังได้เข้าพบ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. และประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญด้วย

โดยหลวงปู่ฯ ให้สัมภาษณ์อีกครั้งว่า ทั้ง สปช. และ สนช. ไม่มีตัวแทนของกลุ่มเวทีแจ้งวัฒนะ เข้ามาทำหน้าที่ ซึ่งข้อเสนอของกลุ่มตนแตกต่างกับข้อเสนอของกลุ่มอื่นๆ จึงจำเป็นต้องมายื่นแนวทางในการปฏิรูปประเทศ ที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ และประชาชน นอกจากข้อเสนอที่ต้องการให้มีการตั้งสถาบันการเมืองแล้ว ในทางศาสนา ก็อยากให้มีการออกกฎหมายตรวจสอบทรัพย์สินทุกวัด สมภารทุกคน ตั้งแต่ระดับมหาเถระ ถึงเจ้าคณะจังหวัด สังฆาธิการ เพราะพระขอข้าวเขากิน แต่ทำไมทุกวันนี้ถึงได้ร่ำรวย

สำหรับวัดอ้อน้อยนั้น ตนไม่กลัว อยากให้มาสอบ เพราะมีแต่หนี้ และอยากให้มีการตั้ง 3 สภา คือ สภาศีลธรรมแห่งชาติ สภาชาวนา และ สภาพลังงานขึ้น

แต่อย่างเรื่องของพลังงาน ทางกลุ่มน่าจะจบแล้ว เพราะเรามีข้อตกลงร่วมระหว่างประชาชน รัฐ และเอกชน จนนำมาสู่ข้อเสนอ 90 ข้อ ซึ่งก็ได้มีการยื่นต่อ สนช.ไปแล้ว ดังนั้นทางกลุ่มคงไม่ขับเคลื่อนในเรื่องนี้อีกแล้ว

** "เพื่อไทย"ไม่ร่วมสังฆกรรมร่างรธน.

นายปลอดประสพ สุรัสวดี รักษาการรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่กมธ.ยกร่างรธน. จะเชิญตัวแทนพรรคการเมือง เสนอความเห็นเกี่ยวกับการร่างรธน.ฉบับใหม่ว่า ขณะนี้พรรคเพื่อไทย ยังไม่ได้รับหนังสือเชิญอย่างเป็นทางการ แต่ได้รับการประสานทางโทรศัพท์ และได้มีการพูดคุยกันภายในบ้างแล้ว สามารถสรุปได้เบื้องต้น 2 ประเด็น คือ

1. พรรคเพื่อไทยไม่ขอร่วมกิจกรรมใดๆ กับรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศ เพราะเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อล้มรัฐบาล และล้มรัฐธรรมนูญ และยืนยันจะไม่ร่วมกับ สนช.และ สปช.

2. หากจะให้พรรคส่งตัวแทนเข้าร่วมอย่างเป็นทางการคงไม่ได้ ทำได้เพียงแค่เสนอความเห็นแบบกว้างๆ เช่น ต้องร่างรัฐธรรมนูญโดยคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนให้เท่าเทียม ยุติธรรม ร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่เอนเอียงเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเรื่องดังกล่าวมีความจำเป็นต้องหารือกับสมาชิกพรรค หรืออย่างน้อยก็ต้องประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อออกเป็นมติ ซึ่งตอนนี้ติดคำสั่งของ คสช. ดังนั้นขอให้ คสช.อนุญาตให้พรรคการเมืองสามารถประชุมได้หรือไม่ เพราะการแสดงความเห็นต่อการร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถจบได้แค่ครั้งเดียว ต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และติดตามผลการทำงานตลอด แต่หากจะให้ดี คสช.ควรประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก เพื่อประชาชนจะได้แสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ด้วย

** แนะพรรคคุยกันภายในก่อนเสนอไอเดีย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกม. กล่าวถึงกรณีที่พรรคการเมือง อ้างว่า ติดปัญหาคำสั่งของคสช. จึงไม่สามารถเรียกประชุม เพื่อมีความคิดเห็นในนามของพรรคได้ ว่า เรื่องนี้ทำได้ 2 อย่าง โดยไม่ต้องอาศัยมติอะไรของพรรค เพราะบางพรรคแสดงความประสงค์ว่า ยินดีเสนอความคิดเห็นแล้ว เพราะขณะนี้หัวหน้าพรรค และ เลขาธิการพรรคก็มีอยู่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ แต่ถ้าเกรงว่าสมาชิกพรรคจะไม่รับรู้ ควรมีการพูดคุยในพรรคก่อน ก็สามารถพูดคุยภายใน ไม่ใช่ลักษณะการประชุมพรรคได้ เพราะถึงอย่างไร ก็ไม่ใช่ท่าทีที่ทางการของพรรค ไม่มีใครเอาไปอ้างอิงว่าแนวทางของพรรคเป็นอย่างนี้ ห้ามเปลี่ยนใจภายหลัง เป็นการแลกเปลี่ยนความเห็นเท่านั้น แต่ถ้าหากจะระดมความคิดภายในพรรค ก่อนแสดงความเห็น ตนว่าหากแจ้ง คสช.ไป ก็คิดว่าจะมีการพิจารณาผ่อนผันให้ เหมือนที่ผ่านมา มีการผ่อนผันเพื่อประโยชน์ในการสมัครเป็นสมาชิก สปช.

ผู้สื่อข่าวถามว่า บางฝ่ายเกรงว่าเมื่อมาแสดงความคิดเห็นแล้ว สุดท้ายกรรมาธิการยกร่างฯ จะไม่หยิบยกขึ้นมาพิจารณา เป็นเพียงการสร้างความชอบธรรม ให้กระบวนการร่างรัฐธรรมนูญเท่านั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ถ้าระแวงอย่างนั้น และคิดว่าทำงานกันไม่ได้ก็ไม่ต้องไป แต่ความหมายคือกรรมาธิการเจตนาดี เชิญทั้งพรรคการเมืองและที่ไม่เป็นพรรคการเมือง เพราะต้องการฟังความคิดเห็น และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ ส่วนตัวคิดว่าพรรคการเมือง ควรให้ความเห็น หากไม่อยากไป ก็สามารถส่งหนังสือไปได้ อย่างน้อยบอกไป เขาจะนำไปใช้หรือไม่ก็ตาม เพราะขณะนี้เป็นช่วงรับฟังความคิดเห็น สำหรับพรรคที่แสดงท่าทีชัดเจนว่าจะไม่เข้าร่วมนั้น ก็ไม่ได้ว่าอะไร แต่เป็นสิ่งที่น่าเสียดาย

" เดี๋ยวจะหาว่าผมไปท้าทายว่า ไม่มาก็อย่ามา ซึ่งไม่ใช่อย่างนั้น ผมคิดว่า กรรมาธิการคงจะไปกราบกรานอยากให้มา แต่ถ้าไม่เพราะติดอะไรก็ตามก็ไม่รู้จะทำอย่างไร" นายวิษณุ ระบุ

เมื่อถามว่า กรรมาธิการได้มาปรึกษาอะไรหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มีการปรึกษาในนามกรรมาธิการ แต่มีการพบปะพูดคุยกัน เพราะทั้ง 36 คน รู้จักกันทั้งนั้น และเชื่อว่า การร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการยกร่า งจะทันตามกรอบเวลา และเป็นสัญญาณที่ดีเพราะกำหนดเวลาที่วางไว้โดยใช้คำว่าภายในถ้าทำงานเร็วก็อย่าไปทำในวันที่ครบกำหนด ก็สามารถบีบเวลาให้เร็วขึ้นมาได้

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า กรณีที่คณะกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญจะเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วมแลกเปลี่ยน แต่กลุ่มบางพรรค อาจเกรงว่าจะกระทบเงื่อนไขเรื่องการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ซึ่งจากการที่ได้ติดตามข่าวสารบางกลุ่มหรือบางพรรค สามารถดำเนินการได้เลย เพราะอาจมีช่องทางการติดต่อสื่อสารกับสมาชิก ผ่านเครือข่ายภายในองค์กรนั้นๆ อย่างต่อเนื่องอยู่แล้วในลักษณะที่ไม่ขัดกรอบกฎหมาย โดยเฉพาะข้อมูล หรือข้อคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ที่เป็นประโยชน์ต่างๆ ที่องค์กรนั้นๆได้เคยมีการรวบรวมไว้ และเตรียมจะเสนอในโอกาสที่เหมาะสม

แต่สำหรับในบางกลุ่ม อาจต้องมีวิธีการใดๆเสริมเพื่อให้ได้มาในเรื่องของข้อมูลข้อเสนอต่างๆ อาจต้องการดำเนินกิจกรรมเพิ่มเติม ถ้าไม่แน่ใจ เกรงว่าการดำเนินกิจกรรมนั้นๆจะเข้าข่ายผิดเงื่อนไข จากการที่ได้เคยขอความร่วมมือกันไว้ก็คงสามารถขออนุญาตบอกกล่าว หรือปรึกษากับทางจนท.ได้ เป็นกรณีๆไป ซึ่งจนท.คงจะพิจารณาดูในรายละเอียด วัตถุประสงค์ เจตนารมย์ ถ้าการดำเนินการนั้นๆไม่ขัดต่อแนวทางการรักษาความสงบเรียบร้อย เป็นประโยชน์ต่อสังคมและประเทศชาติจริง ไม่ได้มีเจตนาใดๆ แอบแฝง จนท.ก็จะพิจารณาให้ทุกครั้ง

**ตั้งอนุกมธ.11คณะดูเนื้อหารธน.

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมผ่านมติการจัดตั้งคณะอนุกรรมาธิการด้านเนื้อหาจำนวน 10 คณะ และบวกอีก 1 คณะ โดย 10 คณะที่เกี่ยวกับเนื้อหาในรัฐธรรมนูญ จะเริ่มทำงานทันที ส่วนอีกหนึ่งคณะเป็นการเตรียมการตราเป็นกฎหมาย หรือแก้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญ โดยทั้ง 11 คณะ ประกอบด้วย

คณะที่ 1 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 1 ความเป็นพลเมืองและส่วนที่ 3 หน้าที่พลเมือง โดยมีนายมานิจ สุขสมจิตร เป็นประธาน

คณะที่ 2 รับผิดชอบศึกษาภาค 1 พระมหากษัตริย์ และประชาชน หมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิ เสรีภาพของพลเมือง ส่วนที่ 4 การมีส่วนร่วมทางการเมือง และส่วนที่ 5 การมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยมีนายปกรณ์ ปรียากร เป็นประธาน

คณะที่ 3 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 1 ระบบผู้แทนที่ดีและผู้นำการเมืองที่ดี หมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ หมวด 3 รัฐสภา หมวด 4 คณะรัฐมนตรี โดยมีนายสุจิต บุญบงการ เป็นประธาน

คณะที่ 4 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี สถาบันการเมือง หมวด 5 การคลังและการงบประมาณของรัฐ มีนายจรัส สุวรรณมาลา เป็นประธาน

คณะที่ 5 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี สถาบันการเมืองที่ดี หมวด 6 ความสัมพันธ์ระหว่างข้าราชการ นักการเมืองและประชาชน มีนายปรีชา วัชราภัย เป็นประธาน

คณะที่ 6 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และสถาบันการเมือง หมวด 7 การกระจายอำนาจและการปกครองส่วนท้องถิ่น มี น.พ.กระแส ชนะวงศ์ เป็นประธาน

คณะที่ 7 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 1 ศาลและกระบวนการยุติธรรม มีนายบรรเจิด สิงคะเนติ เป็นประธาน

คณะที่ 8 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค 3 นิติธรรม ศาล และการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ หมวด 2 การตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ องค์กรอิสระ องค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ และองค์กรตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ มีนายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน

คณะที่ 9 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับ ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 1 การปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรม มี น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธาน

คณะที่ 10 รับผิดชอบศึกษาเกี่ยวกับภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง หมวด 2 การสร้างความปรองดอง มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธาน

ส่วนอีกหนึ่งคณะ คืออนุกรรมาธิการจัดทำข้อเสนอแนะในการตรากฎหมาย หรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มีนายเจษฏ์ โทณะวณิก เป็นประธาน โดยขณะนี้อนุกรรมาธิการทั้ง 11 คณะ รอ สปช. ส่งตัวแทนมาร่วมคณะละ 5 คน สนช. ส่งตัวแทนได้ 1 คน ต่อ 1 คณะ ซึ่งทั้งหมดเป็นไปตามข้อบังคับ คือ มีจำนวนอนุกรรมาธิการฯ แต่ละคณะไม่เกิน 15 คน ยกเว้นบางคณะที่มีความจำเป็น จะมีได้ไม่เกิน 21 คน โดยรายชื่อของคณะอนุกรรมาธิการฯทั้งหมด จะมีคำสั่งแต่งตั้งภายในวันศุกร์นี้ หรือช้าที่สุด ไม่เกินเช้าวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.

**เร่งยกร่างรธน.เสร็จก่อนสงกรานต์

นายคำนูณ กล่าวด้วยว่า ในสัปดาห์หน้าช่วงเช้า หลังจากรับฟังความคิดเห็นของพรรคการเมือง และกลุ่มการเมืองแล้ว ช่วงบ่าย อนุกรรมาธิการทั้ง 10 คณะ จะพิจารณากรอบเนื้อหาก่อนโดยจะยังไม่มีการยกร่างเป็นมาตรา และจะนำข้อสรุปผลการรับฟังความเห็นเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมาธิการฯ 26 พ.ย.57 จากนั้นในวันที่ 15-16 ธ.ค. น่าจะมีการพิจารณาในที่ประชุม สปช. และส่งข้อเสนอจากสปช.ให้คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ในวันที่ 19 ธ.ค. และในวันที่ 20 ธ.ค. คณะกรรมาธิการยกร่างฯ จะเริ่มร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อส่งมอบรัฐธรรมนูญทั้งฉบับตามกรอบเวลาที่กำหนดในวันที่ 17 เม.ย. 58 โดยมีความตั้งใจที่จะให้แล้วเสร็จ ก่อนสงกรานต์

"การร่างรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตามกรอบเวลา เพราะเป็นบทบังคับของรัฐธรรมนูญ ฉบับชั่วคราว และกรรมาธิการฯทั้ง 36 คน แต่ละคนก็สูงวัย ก็ไม่อยากเอาชื่อเสียงมาทิ้งไว้ในชั้นนี้ รัฐธรรมนูญจะดีหรือไม่ดีอีกเรื่องหนึ่ง แต่ทำงานไม่ทันมันก็ไม่ถูกต้อง ผมมั่นใจ 100 % ถ้าฟ้าไม่ถล่ม ดินไม่ทลาย กรรมาธิการฯต้องทำร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกให้เสร็จ ภายในวันที่ 17 เม.ย.58 และแม้ว่าในรัฐธรรมนูญชั่วคราวจะเปิดช่องให้มีการร่างใหม่ หากไม่เสร็จตามกรอบเวลา แต่ทุกคนมีเกียรติยศ ชื่อเสียง จึงขอให้ให้ความไว้วางใจต่อคนทำงาน เพราะถ้าทำไม่เสร็จ มันก็ไม่มีประโยชน์อื่นใดกับบ้านเมือง และเชื่อว่าสังคมก็จะไม่สงบสุขแน่นอน และเชื่อว่าไม่ใช่ความปรารถนาของ คสช. เช่นเดียวกัน ที่จะให้ยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จ" นายคำนูณ กล่าว

**"บวรศักดิ์"เผยเลือกตั้งอย่างช้าก.พ.59

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อเวลา 13.00 น. วานนี้ ที่ห้องรับรอง อาคารรัฐสภา 1 นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช. คนที่ 1 ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธานสปช. คนที่ 2 ร่วมให้การต้อนรับ นายโรเจอร์ กอดซิฟ สมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักร และประธานกลุ่มมิตรภาพสมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักร-ไทย และคณะ ในโอกาสเดินทางมาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ในฐานะแขกของกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อรับทราบข้อมูล และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับพัฒนาการทางการเมืองของไทย รวมทั้งกรอบและกระบวนการดำเนินงานของสปช. ที่จะนำไปสู่การยกร่างรธน.ฉบับใหม่

ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ ได้กล่าวถึงการทำประชามติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ว่า กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญยังมิได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าว ซึ่งการจะทำประชามติ หรือไม่ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของคสช และครม. หากจะทำประชามติก็จะต้องแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 เพื่อบัญญัติเรื่องดังกล่าว

สำหรับการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น สปช. จะเสนอร่างรัฐธรรมนูญให้ คสช.และครม. ได้ในวันที่ 6 ส.ค.58 โดยคาดว่า จะเลือกตั้งได้อย่างช้าในเดือน ก.พ. 59 แต่ถ้าไม่มีการทำประชามติก็จะประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ได้ภายในเดือนก.ย.58

จากนั้น นายบวรศักดิ์ ได้นำนายโรเจอร์ กอดซิฟ สมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักร และคณะ เข้าพบปะสนทนากับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ห้องประชุมงบประมาณ อาคารรัฐสภา 3

ต่อมาเวลา 15.00 น. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. และน.ส.ทัศนา รองประธาน สปช.คนที่ 2 ให้การรับรอง นายรอล์ฟ เพเทอร์ กอทท์ฟรีด ซุลเซอ เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย เพื่อแสดงความยินดีในโอกาสที่ประธานสปช. เข้ารับตำแหน่งใหม่ พร้อมทั้งหารือในประเด็นต่างๆ โดยฝ่ายเยอรมนี ยินดีให้การสนับสนุนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสปช. และ กมธ.ยกร่างฯ ตลอดจนพร้อมให้การสนับสนุนสปช.ในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การศึกษา และการฝึกอบรมต่างๆ
กำลังโหลดความคิดเห็น