xs
xsm
sm
md
lg

"บิ๊กตู่"ถกแม่น้ำ5สาย ผวาอัยการศึกทำร่างรธน.สะดุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 14.19 น. วานนี้ (17พ.ย.) ที่รัฐสภา นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นประธานเปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ พร้อมนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธาน สปช.คนที่ 1 น.ส.ทัศนา บุญทอง รองประธาน สปช.คนที่ 2 และสมาชิก สปช. เข้าร่วม
โดยศูนย์ดังกล่าวใช้จะเป็นช่องทางในการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการปฏิรูปประเทศ และการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีช่องทางการเสนอความคิดเห็น ดังนี้ 1. เสนอด้วยตนเองที่รัฐสภา 2. สายด่วน 1743 3. โทรศัพท์ 02-244-1881 ในวันและเวลาราชการ 4.ไปรษณีย์ ปณ.999 ปณฝ.รัฐสภา กรุงเทพฯ 10305 5.เว็บไซต์ www.pailament.go.th/publicopinion 6. อีเมล์ nrc57.puplic@gmail.com 7. ไลน์ไอดี : nrc57public 8. ทางเฟซบุ๊ก ชื่อ “ศูนย์รับฟังความคิดเห็นสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ 9. รายการ “ทันสถานการณ์กับสภาปฏิรูปแห่งชาติ” ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงรัฐสภา เอฟเอ็ม 87.5 และ เอเอ็ม 1071 ออกอากาศทุกวันจันทร์ เวลา 07.30-08.00 น.
นายเทียนฉาย ให้สัมภาษณ์ภายหลังว่า ศูนย์ดังกล่าวได้ใช้สิ่งที่สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรมีอยู่แล้ว แต่สิ่งใหม่ คือจะมีการเปิดรับฟังความเห็นทุกช่องทาง และจะมีการบันทึกรายละเอียดทุกขั้นตอน โดยจะตอบทุกกรณีที่ตอบได้ ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องการปฏิรูปประเทศ ก็จะส่งให้คณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณา ส่วนเรื่องใดเป็นประเด็นปัญหาของสังคมก็จะส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาต่อไป เพราะการดำเนินงานการปฏิรูป ประชาชนทุกภาคส่วนต้องมีการปฏิรูป ซึ่งจะถือว่าเป็นการเดินหน้าก้าวแรกอย่างเต็มตัวอีกครั้ง โดยศูนย์ดังกล่าว จะทำงานภายใต้คำขวัญ "ร่วมคิดสร้างไทย ร่วมใจสร้างอนาคต" โดยทางศูนย์ฯ จะรับทุกเรื่องไว้อย่างแน่นอน และผู้ยื่นก็สามารถความคืบหน้าของคำร้องว่าอยู่ในขั้นตอนใด ส่วนกรอบระยะเวลาของแต่ละคำร้องนั้น ขอให้ทางคณะกมธ.ได้ใช้วิจารณญาณก่อน คงยังไม่สามารถระบุได้
เมื่อถามว่าบางฝ่ายต้องการ สปช. เป็นคนกลางเพื่อไปหารือกับ คสช. เพื่อผ่อนปรน หรือยกเลิกอัยการศึก นายเทียนฉาย กล่าวว่า ในวันนี้ (18 พ.ย.) ได้มีการนัดหมายกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช. เพื่อหารือร่วมกับ คณะรัฐมนตรี สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปทั้ง 18 คณะด้วย ซึ่งถือว่าเป็นการหารือร่วมกันครั้งแรก และยังไม่มีการกำหนดวาระการในการหารือร่วมกัน จึงยังตอบไม่ได้ว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้ามาพูดคุยหรือไม่ แต่เบื้องต้นคงมีการพูดคุยถึงเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ และการปฏิรูปประเทศ แต่เชื่อว่าการเดินหน้าปฏิรูป จะไม่มีการขัดแย้งกับกฎอัยการศึก ไม่มีการตีกรอบความคิดของประชาชน อีกทั้งรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้เขียนว่า ให้ฟังความเห็นเฉพาะฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง สำหรับใครที่มีความเห็นนอกเหนือไปจากรัฐธรรมนูญเขียนไว้ คงไม่ใช้ปัญหา
เมื่อถามว่ามีอะไรที่อยากบอกกับ หัวหน้าคสช.หรือไม่ นายเทียนฉาย กล่าวว่า มี แต่ไม่บอก เดี่ยวพรุ่งนี้ก็รู้ สำหรับเรื่องกฎอัยการศึกได้มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่เปิดศูนย์รับฟังความคิดเห็นอย่างเป็นทางการแล้ว นางจุไรรัตน์ จุลจักรวัฒน์ สมาชิกสปช.เชียงใหม่ ได้เป็นตัวแทนนำเอกสารเจตนารมย์ของสภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป ขององค์กรเครือข่ายประชาสังคม 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เข้ายื่นให้ นายเทียนฉาย โดยตรงเป็นเรื่องแรก

**ประชุมแม่น้ำ 5 สายวันนี้

เวลา 15.30 น. วันเดียวกันนี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย เปิดเผยว่า วันนี้ (18 พ.ย) .เวลา 14.30 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกประชุมร่วมระหว่าง คสช. คณะรัฐมนตรี (ครม.) สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่ อาคารรับรองเกษะโกมล เป็นการเรียกประชุมแม่น้ำ 5 สาย ว่าด้วยโรดแมประยะที่ 2 ของคสช. ในการร่างรัฐธรรมนูญ ที่ทางหัวหน้าคสช. อาจจะห่วงอะไรบางอย่างและต้องการแจ้งให้ทราบ เพราะมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เกิดอะไรขึ้นมา คสช.ต้องรับผิดชอบ รวมถึงหัวหน้า คสช. ไม่เคยพบกับคนเหล่านี้อย่างเป็นทางการมาก่อน พล.อ.ประยุทธ์ อาจใช้โอกาสนี้พูดว่า อยากฝากอะไรบ้าง เช่น โรดแมป กรอบวัน เวลา พูดให้ตรงกันด้วย เพราะเวลานี้ไม่ค่อยจะพูดตรงกัน พูดถึง 4 เวทีคู่ขนานสปช. เพราะต้องอาศัยความร่วมมือกัน อย่างการตั้งคนเข้าไปร่วมเป็น กมธ.สปช. ทั้ง 18 คณะ แต่คงไม่ลงรายละเอียด และใช้เวลาการประชุมไม่มากนัก
เมื่อถามว่า กฎอัยการศึกเป็นปัญหาต่อการร่างรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เราเองก็รู้กฎอัยการศึกมีทั้งข้อดี ข้อเสีย แต่คิดว่าไม่เป็นปัญหาต่อการร่างรัฐธรรมนูญ และไม่เชื่อว่าการประกาศกฎอัยการศึก จะยาวนานจนสิ้นสุดกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นเชื่อว่าการประกาศกฎอัยการศึก จะค่อยๆ ผ่อนคลายลง เพราะถ้าลากประกาศกฎอัยการศึกยาวไปจนร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นปัญหา อาจเป็นไปได้เมื่อเริ่มร่างรัฐธรรมนูญตัวแรก จะเริ่มผ่อนคลายแล้วก็ได้ และในการประชุมร่วม วันนี้ ไม่มีการพูดถึงเรื่องของกฎอัยการศึก เพราะขึ้นอยู่กับคสช. เท่านั้น ส่วนความขัดแย้งสื่อมวลชนกับ คสช. เวลานี้ ความจริง คสช.เข้าใจการทำงานสื่อมวลชนดี แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นอาจจะเกิดจากความกังวลซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างกังวล ไม่พูดจาร่วมกัน ทำให้เกิดความเข้าใจไม่ตรงกันได้ คงต้องมีเวทีหาทางพูดจากัน สื่ออาจจะไม่พูดง่าย แต่ถ้าไปพูดก็เข้าใจ

** 5 พรรค-กปปส.ร่วมคุยกมธ.ยกร่างฯ

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.)ประสานเพื่อรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และองค์กรอื่นๆ ในกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงผลการประชุมอนุ กมธ.ฯเมื่อวานนี้ว่า ได้ส่งจดหมายไปยังองค์กรอิสระ และองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, องค์กรอัยการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ส่งความเห็นต่อกระบวนการทำงานขอองค์กรที่ผ่านมา รวมถึงข้อที่ต้องการปรับปรุงในหน่วยงาน เช่น กกต. มีข้อเสนอแนะในการปรับปรุงทำงาน หรือกระบวนการการเลือกตั้งอย่างไรบ้าง เพื่อจะนำข้อมูลที่ได้ไปประกอบการสังเคราะห์ และวิเคราะห์ ต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป
นอกจากนั้นอนุกมธ.ฯ ยังได้ส่งจดหมายไปถึง 74 พรรคการเมือง เพื่อขอความเห็น และข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง อาทิ ส.ส.ควรสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ , ที่มาของนายกรัฐมนตรีควรมาอย่างไร, วุฒิสภา ควรมีหรือไม่ หากมีจะให้ใช้ระบบได้มาซึ่งส.ว.อย่างไร หากเลือกระบบสรรหา จะสรรหาอย่างไร เป็นต้น
ทั้งนี้ในการส่งจดหมายเพื่อขอความเห็นดังกล่าว ทางอนุกมธ.ฯได้กำหนดให้ 6 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และ 74 พรรคการเมือง ตอบกลับจดหมายมาภายในวันที่ 28 พ.ย. นี้
ด้านนายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิก สปช.ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ในขณะนี้ มี 2 พรรคการเมือง และ อีก 1 กลุ่มการเมือง ได้ตอบรับคำเชิญที่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นกับ กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มเติม คือ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และกลุ่ม กปปส. ส่วนทางด้านกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นั้นน่าจะมีการปฏิเสธ เนื่องจากทางกลุ่มได้สลายตัวไปแล้ว สรุปยอดรวมตอบรับตอนนี้ มี 5 พรรคการเมือง และ 1 กลุ่ม คือ พรรคภูมิใจไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคพลังชล พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา และ กลุ่ม กปปส.
ทั้งนี้ ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา คือนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล นายนิกร จำนง และ นายธีระ วงศ์สมุทร ด้านตัวแทนชองกลุ่ม กปปส. คือนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย นายเอกนัฎ พร้อมพันธุ์ นายสุริยะใส กตะศิลา นายแซมดิน เลิศบุศย์ อย่างไรก็ตาม ทางพรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช. ยังไม่ตอบรับ ซึ่งยังอยู่ระหว่างประสานงาน

** สปช.ห่วงร่างรธน.ภายใต้อัยการศึก
วานนี้ (17พ.ย.) มีการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดยมีนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เป็นประธานการประชุม มีการหารือของสมาชิกต่อประเด็นแนวทางการรับฟังความเห็นของประชาชนในรูปแบบของเวทีรับฟัง หรือการทำงานของสื่อมวลชน ต่อการปฏิรูป ในรูปแบบรายการต่างๆ ภายใต้การประกาศใช้ พ.ร.บ.กฎอัยการศึก และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง
น.ส.อรพินท์ สพโชคชัย สมาชิก สปช. อภิปรายว่า การรับฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่อาจมีปัญหาข้อขัดแย้งเกิดขึ้นได้ ดังนั้นสิ่งที่คณะทำงานเพื่อรับฟังความเห็นควรดำเนินการคือ กำหนดแนวทางเลือกผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสีย หรือคู่ขัดแย้ง ที่จะเข้ามารับฟังความเห็นและต้องกำหนดวิธีการสื่อสารกลับไปยังผู้ที่ถูกคัดเลือกให้เข้ามาแสดงความเห็นด้วย โดยเฉพาะประเด็นผลตอบรับ
นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกสปช. ได้สอบถามนายเทียนฉาย ว่า ก่อนที่สปช.จะดำเนินการรับฟังความเห็นได้ประสานไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) หรือรัฐบาล ต่อการพิจารณาแก้ปัญหาที่เกิดจากประกาศ คสช. หรือกฎหมายที่เกี่ยวกับความมั่นคงหรือไม่
ด้านนายเทียนฉาย ชี้แจงว่า อยู่ระหว่างการประสานไปยังทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การทำงานของ สปช. ตามหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดเป็นไปตามกลไกของตนเอง อย่างไรก็ตาม การประสานดังกล่าวยังไม่ได้ข้อสรุป จึงไม่สามารถชี้แจงรายละเอียดใดๆได้
อย่างไรก็ตาม ตนเข้าใจว่าการทำงานของสปช. ต่อประเด็นการรับฟังความเห็น ดำเนินการไปเร็วกว่าที่ สปช. ตั้งกมธ.วิสามัญการมีส่วนร่วม และรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้น สปช. ที่ไปจัดเวทีรับฟังความเห็น ต้องใช้ความระมัดระวัง

** ตั้งกมธ.วิสามัญ สปช.

นอกจากนี้ที่ประชุมยังได้พิจารณาการจัดตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ ตามข้อบังคับการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ พ.ศ.2557 ข้อ 84 ได้แก่
1. คณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่รวบรวมสังเคราะห์ความเห็นต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากกรรมาธิการประจำ สปช. 18 คณะ พร้อมประสานงานติดตามความก้าวหน้าการยกร่างรัฐธรรมนูญ รวบรวมประเด็นข้อสังเกตเสนอ สปช. โดยมี กมธ. 12 คน แบ่งเป็น สปช. 11 คน และ เลขาธิการ สปช. 1 คน
2. คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำวิสัยทัศน์และออกแบบอนาคตประเทศไทย มีหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อจัดทำวิสัยทัศน์อนาคตประเทศเสนอต่อ สปช. พัฒนายุทธศาสตร์และแนวทางปฏิรูปด้านต่างๆ มีกมธ. 12 คน แบ่งเป็น สปช. 7 คน และคนนอก 5 คน
3. คณะกรรมาธิการวิสามัญการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน มีอำนาจหน้าที่ออกแบบระบบกลไก วิธีการรับฟังความเห็นและการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วนต่อการปฏิรูปและยกร่างรัฐธรรมนูญมี กมธ.ไม่เกิน 30 คน แบ่งเป็น ผู้แทนกมธ.วิสามัญประจำสปช. 18 คณะๆ ละ 1 คน ภูมิภาค 4 ภาคๆ ละ 1 คน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เกิน 8 คน
4. คณะกรรมาธิการวิสามัญประชาสัมพันธ์เพื่อการปฏิรูป มีอำนาจหน้าที่สื่อสารทั้งภายในและภายนอก ผ่านสื่อบูรณาการเพื่อสร้างภาพพจน์บวก และความมั่นใจ พร้อมกำหนดทิศทางการเสนอข่าวความเคลื่อนไหวของ สปช. มีกมธ. 12 คน แบ่งเป็นสปช.(เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชน) 8 คน และ คนนอก (เชื่ยวชาญด้านสื่อมวลชน) 4 คน
5.คณะกรรมาธิการวิสามัญจัดทำจดหมายเหตุ และเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของสภา มีอำนาจหน้าที่จัดทำจดหมายเหตุความเป็นมาของการปฏิรูป และบันทึกเจตนารมณ์ในการปฏิรูปของสปช. ดำเนินการประสานงานติดตามข้อมูลต่างๆ ที่สำคัญ มีกมธ.จำนวน 10 คน แบ่งเป็น สปช. 3 คน ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในส่วนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้มีการนัดประชุม เพื่อรับฟังความคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญ จากพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง โดยวันที่ 18 พ.ย. รับฟังความเห็นจากพรรคภูมิใจไทย และพรรคชาติไทยพัฒนา วันที่ 19 พ.ย. พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล วันที่ 20 พ.ย. พรรคมาตุภูมิ และพรรครักประเทศไทย วันที่ 21 พ.ย. กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) วันที่ 24 พ.ย. พรรคประชาธิปัตย์ โดยทุกพรรคการเมืองเริ่ม เวลา 09.30 น. ส่วนวันที่ 25 พ.ย. กลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) (09.30 น.) และกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (13.30 น.)

**อย่าเหมารวมกลุ่มปชช.เป็นคลื่นใต้น้ำ

นายสุริยะใส กตะศิลา อาจารย์วิทยาลัยนวัตกรรมสังคม ม.รังสิต และ ผู้อำนวยการสถาบันปฏิรูปประเทศไทย (สปท.) กล่าวว่าสถานการณ์ที่หลายกลุ่มออกมาจัดกิจกรรม เคลื่อนไหว และเสนอความเห็นต่อแนวทางการปฏิรูป แต่ถูกทางเจ้าหน้าฝ่ายความมั่นคงห้ามปรามนั้น อาจทำให้สถานการณ์บานปลาย จนกระทบบรรยากาศและกระบวนการปฏิรูปได้
ทางคสช.และรัฐบาล จึงควรทบทวนวางแนวปฏิบัติที่ระมัดระวังกว่านี้ โดยเฉพาะการส่งสัญญาณจากผู้บังคับบัญชาระดับสูง ต้องมีความชัดเจน เพราะบางครั้งเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการในพื้นที่ ก็เข้มงวดมากเกินไป หรืออ้างนาย อ้างคำสั่งห้าม แต่ไม่มีหลักฐานเอกสารมายืนยันกิจกรรมที่เป็นการเสนอความเห็นต่อประเด็นการปฏิรูป ที่มีรูปแบบวิชาการ เช่น การอภิปราย การสัมนาหรือเสวนา น่าจะผ่อนปรนได้ โดยให้แจ้งและประสานงานไปยังเจ้าหน้าผู้รับผิดชอบก็พอ ไม่ควรสั่งห้ามไปหมด
และไม่ควรเหมารวมเวทีปฏิรูปที่ภาคประชาชนจัดขึ้น เป็นคลื่นใต้น้ำ หรือเป็นกลุ่มล้มล้างรัฐบาลไปเสียทั้งหมด เพราะเวทีแบบนี้เป็นเวทีที่สร้างสรรค์ ซึ่งจะช่วยให้ สปช. และกระบวนการปฏิรูป มีหูมีตามากขึ้น ได้ฟังความเห็น และการมีส่วนร่วมจากประชาชนกว้างขึ้น ไม่ใช่รอให้ภาครัฐจัดเวทีฝ่ายเดียว
"ผมสนับสนุนสปช. ที่จะเร่งหารือกับคสช. ว่าจะวางแนวปฏิบัติอย่างไร เพราะถ้าบานปลาย อาจทำให้เกิดกระแสไม่เข้าร่วม และต่อต้านการปฏิรูปได้เช่นกัน"
ทั้งนี้ การอ้างกฎอัยการศึก หรือ คำสั่งที่เข้มงวดโดยไม่แยกแยะกลุ่ม สุดท้ายจะเป็นการทำลายบรรยากาศการปฏิรูป เกิดความหวาดระแวงซึ่งกันและกัน กลายเป็นแนวร่วมมุมกลับ จนทำให้การปฏิรูปอายุสั้น ไม่ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริง
เลือกตั้งอย่างช้าก.พ.59 พท.ไม่ร่วมสังฆกรรม
หลวงปู่พุทธะอิสระ พบ พรเพชร-เทียนฉาย- บวรศักดิ์ ยื่นแนวทางการบรรจุเนื้อหารธน. เสนอตั้งสถาบันการเมืองแห่งชาติ คุมจริยธรรมนักการเมือง ออกกม.ห้ามคนรวยแย่งอาชีพคนจน ตรวจสอบทรัพย์สินทุกวัด พร้อมชง 90 แนวทางปฏิรูปพลังงาน ปลอดยันเพื่อไทยไม่ร่วมสังฆกรรมกับ สนช.-สปช. อ้างติดข้อห้ามคสช. ประชุมพรรคไม่ได้ วิษณุ แนะพรรคการเมืองคุยกันภายใน ก่อนเสนอไอเดียกมธ. ฉะพวกลวดลายเยอะ หากระแวงก็ไม่ต้องมาร่วม ด้านกมธ.ยกร่างรธน. เคาะชื่อประธานอนุกมธ. 11 คณะ มั่นใจร่างรธน.เสร็จก่อนสงกรานต์ บวรศักดิ์ ขีดเส้นเลือกตั้งอย่างช้า ก.พ.59 ถ้าไม่มีการทำประชามติ จะประกาศใช้รธน.ฉบับใหม่ได้ภายในก.ย.58
กำลังโหลดความคิดเห็น