ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้เริ่มเชิญตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ เข้าไปเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นที่จะบรรจุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการ (กมธ.) ประสานเพื่อรับความคิดเห็นและข้อเสนอแนะของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และองค์กรอื่นๆ ใน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยเมื่อวันที่ 17 พ.ย.ว่าได้ส่งจดหมายไปยังองค์กรอิสระและองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ 2550 จำนวน 6 แห่ง ได้แก่ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.), ผู้ตรวจการแผ่นดิน, คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน, สำนักงานอัยการ และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เพื่อให้ส่งความเห็นต่อกระบวนการทำงานขององค์กรที่ผ่านมา รวมถึงข้อที่ต้องการปรับปรุงในหน่วยงาน
นอกจากนั้นอนุ กมธ.ยังได้ส่งจดหมายไปถึง 74 พรรคการเมืองเพื่อขอความเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นที่เกี่ยวกับการเมือง เช่น ส.ส.ควรสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่, ที่มาของนายกรัฐมนตรีควรเป็นอย่างไร, วุฒิสภาควรมีหรือไม่ และหากมีจะมีวิธีการได้มาซึ่ง ส.ว.อย่างไร หากใช้ระบบสรรหา จะสรรหาอย่างไร เป็นต้น
พร้อมกับได้กำหนดให้ 6 องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ และ 74 พรรคการเมืองตอบกลับจดหมายมาภายในวันที่ 28 พ.ย.นี้
วันที่ 18พ.ย.เป็นวันแรกที่มีตัวแทนจากพรรคการเมืองเดินทางไปให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามคำเชิญของ กมธ. เริ่มจากตัวแทนพรรคภูมิใจไทย ตามด้วยตัวแทนจากพรรคชาติไทยพัฒนา วันที่ 19 พ.ย. ตัวแทนพรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล และล่าสุดวันที่ 20 พ.ย.ตัวแทนพรรคมาตุภูมิเข้าเสนอข้อคิดเห็น
เพียงสามวันแรกที่ตัวแทนพรรคการเมืองเข้าไปเสนอความคิดเห็นต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็พอจะมองเห็นแล้วว่า นักการเมืองประเทศนี้ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม สิ่งที่ซ่อนอยู่ในข้อเสนอก็คือการรักษาระบบที่นักการเมืองจะเข้าไปฉ้อฉลอำนาจได้อย่างที่เคยเป็นมานั่นเอง ไม่ได้เสนอเพื่อผลประโยชน์ของคนส่วนใหญ่แต่อย่างใด
ยกตัวอย่าง ตัวแทนพรรคภูมิใจไทย เสนอว่า อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างขึ้นเพื่อคนทุกคน ไม่มีอคติ และไม่กีดกันใคร นี่ก็เป็นการตีปลาหน้าไซไว้ล่วงหน้า เพราะตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา การกระทำของนักการเมืองได้สร้างความเอือมระอาจนกระแสสังคมเห็นพ้องต้องกันแล้วว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทุกวันนี้มีสาเหตุใหญ่ๆ มาจากความฉ้อฉลของนักการเมืองนั่นเอง และคนจำนวนมากเห็นว่าหากจะปฏิรูปประเทศกันอย่างแท้จริงก็ต้องให้นักการเมืองยุติบทบาทไปสักระยะ
สำหรับการยุบพรรคการเมืองตามมาตรา 68 และ 237 ของรัฐธรรมนูญ 2550 นั้น พรรคภูมิใจไทยห็นว่ายุบง่ายเกินไป กรรมการบริหารพรรคทำผิดเพียงคนเดียวก็ถูกยุบ และยังมีโทษให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ เว้นวรรค 5 ปีด้วย ซึ่งไม่เป็นธรรม
นี่ก็เป็นข้อเสนอที่เอาแต่ได้ และไม่ได้ย้อนไปดูถึงที่มาที่ไปของการกำหนดมาตรา 68 และ 237 ไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 เพื่อเป็นยาแรงที่จะกำจัดนักการเมืองทุจริตไม่ให้กลับเข้าสู่อำนาจได้ หลังจากมาตรการเดิมในรัฐธรรมนูญ 2540 ใช้ไม่ได้ผล
ขณะที่ พรรคชาติไทยพัฒนา ซึ่งมีนายบรรหาร ศิลปอาชา ชักใยอยู่เบื้องหลัง ก็ไม่เห็นด้วยกับมาตรา 237 และ มาตรา 68 ของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ทำให้เกิดการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค เป็นปัญหาซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาต้องการให้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย
ขณะเดียวกัน กรรมาธิการฯ ก็ดูเหมือนจะรับลูก โดยเห็นว่าหากมีการยุบพรรคการเมืองง่ายก็จะทำให้เกิดนอมินีขึ้นมาบริหารประเทศ เรื่องนี้คณะกรรมาธิการก็ต้องไปหาคำตอบว่าจะทำอย่างไร
พรรคชาติไทยพัฒนายังเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 190 ในการลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลจะต้องมาขอความเห็นชอบจากสภาก่อน เพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ข้อเสนอนี้ เรียกได้ว่าอ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ นั่นเพราะต้องการจะหลีกเลี่ยงการตรวจสอบการลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศซึ่งมีผลประโยชน์ซ้อนเร้นมากมายนั่นเอง
ส่วนตัวแทนพรรคชาติพัฒนา ก็มีข้อเสนอว่า ส.ส.ควรจบปริญญาตรีและสังกัดพรรคการเมือง โดยอ้างว่า ในอดีต ส.ส.ไม่สังกัดพรรค มีข้อเสียคือการซื้อตัว ส.ส. การแก้ปัญหา ส.ส.ถูกบังคับโดยมติพรรค ควรกำหนดให้ ส.ส.แสดงสิทธิอิสระในการลงมติบางเรื่องได้ เช่น การอภิปรายไม่ไว้วางใจ หรือพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ
นี่ก็เป็นข้ออ้างให้นายทุนเจ้าของพรรคสามารถบงการ ส.ส.ที่เป็นลูกพรรคได้ แม้จะอ้างว่าให้ ส.ส.สามารถแสดงสิทธิอิสระในการลงมติบางเรื่องได้ แต่ถ้ายังบังคับให้ ส.ส.ต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองอยู่ด้วย การลงมติที่แหกโผของพรรคก็เป็นเรื่องที่ ส.ส.แต่ละคนทำได้ยาก
พรรคชาติพัฒนายังเสนอว่า วุฒิสภาไม่ควรมีสมาชิกเกินร้อยละ 25ของจำนวน ส.ส. และให้ ส.ว.ยึดโยงกับประชาชนคือมาจากการเลือกตั้ง หากจะมีการสรรหาก็ควรมีสัดส่วนไม่เกินร้อยละ 25 ของจำนวน ส.ว.ทั้งหมด และกำหนดอำนาจ ส.ว.น้อยลง ไม่ให้มีอำนาจถอดถอน ส.ส.ที่มาจากการเลือกตั้งได้
นี่ก็เป็นข้อเสนอที่จะลดอำนาจการถ่วงดุลของ ส.ว.ลง เพื่อให้ ส.ส.ที่เป็นลูกจ้างของนายทุนพรรคสามารถฉ้อฉลอำนาจได้ง่ายขึ้นนั่นเอง
สำหรับการแก้ปัญหาทุจริต พรรคชาติพัฒนาเสนอให้มีมาตรการดำเนินการทั้งต่อนักการเมือง ข้าราชการในแนวทางเดียวกัน ไม่ใช่นักการเมืองขึ้นศาลเดียวไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา แต่ข้าราชการสู้คดีสามศาล จึงเห็นว่าควรจัดตั้งศาลพิเศษดำเนินคดีทุจริตทั้งข้าราชการและนักการเมืองเพื่อให้เกิดความรวดเร็วและเป็นธรรม
นี่ก็เป็นข้อเสนอแบบดื้อตาใส หวังเอาแต่ได้ถ่ายเดียว คนเสนอลืมไปหรืออย่างไรว่า นักการเมืองนั้นเป็นผู้ที่อ้างอำนาจประชาชนเข้าไปบงการอำนาจรัฐ จึงมีอิทธิพลต่อข้าราชการ รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรมขั้นต้น-ขั้นกลางอย่างตำรวจและอัยการ หากให้ต่อสู้ถึงสามศาลคงจะเอาผิดได้ยาก รัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 จึงกำหนดให้มีศาลอาญาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองขึ้นมาพิพากษาคดีที่นักการเมืองกระทำผิดเป็นการเฉพาะ
ขณะที่พรรคพลังชลเสนอว่า ส.ส.ควรสังกัดพรรค แต่ให้สิทธิในการลงมติโดยอิสระ เสนอกฎหมายโดยไม่ต้องอาศัยมติพรรค และไม่เห็นด้วยกับรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา237 ที่ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคทั้งหมดทั้งที่มีกรรมการบริหารพรรคเพียงคนเดียวที่ทำผิด แถมยังเสนอย้อนยุคให้ลดอำนาจ กกต.เหลือเพียงจัดการเลือกตั้ง ส่วนการสืบสวนวินิจฉัยความผิดให้เป็นอำนาจหน้าที่ขององค์กรยุติธรรม หรือศาล หรือองค์กรเฉพาะที่น่าเชื่อถือ แล้วให้มีการอุทธรณ์ได้ โดยที่พรรคพลังชลไม่ได้ย้อนไปดูที่มาของการมี กกต.เลยว่า ก็เพื่อจัดการกับนักการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้งได้อย่างรวดเร็วและเด็ดขาดนั่นเอง
นี่เป็นเพียงตัวอย่างข้อเสนอจากพรรคการเมืองที่มีต่อการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งก็เรียกได้ว่า เมื่ออ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ จึงได้แต่หวังว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะมีความคิดที่หนักแน่นและมองเห็นปัญหาทั้งหมดว่าเกิดจากอะไร และตราบใดที่“งาช้างไม่งอกออกมาจากปากสุนัข” ข้อเสนอเพื่อการปฏิรูปที่แท้จริงย่อมไม่มีวันออกมาจากนักการเมืองที่มีผลประโยชน์อยู่เบื้องหลังเป็นอันขาด