โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยผลถก 2 พรรค ภท.หวังร่างรัฐธรรมนูญเพื่อทุกคน ไร้อคติ วอนอย่าจำกัดวาระ ส.ส. ปฏิรูปราชการเข้มแข็ง องค์กรอิสระนำบทเรียนมาใช้ สามารถถูกถอดได้ โอดพรรคถูกยุบง่ายไป ค้าน ส.ว.สรรหาอำนาจเท่าเลือกตั้ง บอก ไม่ควรลงโทษผู้ปฏิบัตินโยบายจนชาติเสียหาย ส่วน ชทพ.หวังอำนาจอธิปไตยสมดุล แนะวุฒิสภาเลือกตั้งเอาตามสัดส่วนประชากร แนะแก้ ม.190 ทำสนธิสัญญาไม่ต้องเข้าสภา เผยพลังชล-ชพน.มาวันพฤหัสฯ นัดถกความคืบหน้าโรดแมป คสช.ต่อ
วันนี้ (18 พ.ย.) ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 12.30 น. พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช สมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภายหลังเชิญพรรคภูมิใจไทย (ภท.) กับพรรคชาติไทยพัฒนา (ชทพ.) ว่า ทางตัวแทน ภท.ได้ให้ข้อคิดเห็นต่อคณะ กมธ.ยกร่างฯ ว่าอยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างขึ้นเพื่อคนทุกคน ไม่มีอคติ และไม่กีดกันใคร ส่วนประเด็นเรื่อง ส.ส.ก็ไม่อยากให้มีการกำจัดวาระของ ส.ส. อยากเห็นารสร้างระบบพรรคการเมืองที่ดี สร้างนักการเมืองที่มีคุณธรรม ขณะเดียวกัน ทาง ภท.ต้องปฏิรูประบบราชการให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน เพราะ ถ้าระบบราชการมีประสิทธิภาพก็จะช่วยป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายได้ นอกจากนี้ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญก็อยากให้นำบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กับ ปี 2550 มาใช้ยกร่างฯใหม่ ไมว่าจะเป็นที่มาหรือ เจตนารมณ์ เพราะหากไม่เริ่มต้นประชาชนไม่ยอมรับเสียแล้วก็จะเป็นปัญหา พร้อมกันนี้ควรมีกระบวนการสรรหาที่เข้มข้น พร้อมกับสามารถถอดถอนได้ด้วย
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาในการยุบพรรคการเมืองจากมาตรา 68 และ 237 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น ทาง ภท.เห็นว่าที่ผ่านมายุบง่ายเกินไป ด้วยการกำหนดโทษหากกรรมการบริหารทำผิดเพียงคนเดียวก็ถูกยุบ และยังมีโทษให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆมีโทษเว้นวรรค 5 ปีด้วย ทาง ภท.มองว่าไม่เป็นธรรม โดย อยากเห็นพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เป็นหลักในการกำหนดนโยบาย ขณะที่ ประเด็นเรื่องที่มาของ ส.ว.นั้น หากจะต้องมี ส.ว.บางส่วนต้องมาจากการสรรหาก็จะต้องมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ มิใช่ให้ ส.ว.สรรหามีอำนาจเท่ากับ ส.ว.เลือกตั้ง สำหรับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลมีอำนาจกำหนดนโยบายประชานิยมลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าหากเกิดความเสียหายก็ไม่ควรมีบทลงโทษต่อผู้ปฏิบัติหรือผู้กำหนดตามนโยบาย ส่วนเรื่องการทำประชามติ ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้นเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะพูด เพราะจะต้องพิจารณากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า หากเสียงของประชาชนตอบรับดีก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพราะจะต้องใช้เวลาและงบประมาณ
สำหรับข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนา พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า พรรคดังกล่าวอยากเห็นระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคงและลดความเหลื่อมล้ำระหว่าวงประชาชนในทุกมิติ มีการยกร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการอย่างสมดุล ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่ายังเป็นปัญหาที่ผูกพันกันมากเกินไประหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ส่วนมาตรา 237 และ มาตรา 68 ที่ทำให้เกิดการยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่เป็นปัญหาซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาต้องการให้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย ขณะเดียวกัน กรรมาธิการฯ ก็เห็นว่าหากมีการยุบพรรคการเมืองง่ายก็จะทำให้เกิดนอมินีขึ้นมาบริหารประเทศ เรื่องนี้คณะกรรมาธิการก็ต้องไปหาคำตอบว่าจะทำอย่างไร สำหรับการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว และเขตใหญ่ 3 คน ก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เห็นด้วยที่จะให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ไม่ยึดโยงกับพื้นที่และเป็นตัวแทนของประชาชน จึงอยากให้พิจารณาให้เหมาะสมกับปัจจุบัน
นอกจากนี้ คือ เรื่องของวุฒิสภา เห็นว่าให้เพิ่มกรรมการสรรหา ส.ว.ให้มากกว่า 7 คนขึ้นไป และลดจำนวน ส.ว.สรรหาให้เหลือ 1 ใน 6 และส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งขอให้คำนึงถึงสัดส่วนของประชากร เช่น ใน กทม.ควรมี ส.ว.ให้มากกว่าจังหวัดที่มีประชากรน้อยกว่า และคุณสมบัติของ ส.ว.สรรหาควรมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ
พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวอีกว่า พรรคชาติไทยพัฒนายังเสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 190 ในการลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลจะต้องมาขอความเห็นชอบจากสภาก่อน เพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรแก้ปัญหาการแบ่งพรรคนิยม แบ่งสีนิยมให้ได้ จึงต้องมีบทบัญญัติให้เยาวชนได้รับการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ในชั้นเรียน เพื่อให้เป็นผู้ใช้สิทธิ หรือนักการเมืองที่ดีในอนาคต รวมถึงผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาหรือคนพิการต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้ สำหรับการทำประชามติพรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่าเป็นเรื่องปลายน้ำ แต่อยากให้เน้นการทำประชาพิจารณ์มากกว่า อย่างไรก็ตาม นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้สั่งให้จัดทำรายชื่อคณะอนุกรรมาธิการทั้ง 11 ด้าน ส่งให้กับพรรคการเมืองที่มาชี้แจง เพื่อในอนาคตที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ ถือเป็นการสื่อสารสองทาง โดยในวันที่ 19 พ.ย.พรรคชาติพัฒนาและพรรคพลังชลจะเข้าพบคณะกรรมาธิกาฯในเวลา 10.00 น.
ส่วนการหารือระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กับ คสช. รัฐบาล สปช.และสนช.นั้น พล.อ.เลิศรัตน์กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการจะมีผู้ร่วมหารือ 21 คน ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และประธานอนุกรรมาธิการทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือขอเรียกร้องของพรรคการเมืองที่ให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึกและคำสั่งของ คสช.และคาดว่า คสช.จะมีแนวทางในการชี้แจงว่ายังติดขัดอะไรและจะแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ตนเห็นว่าแม้จะไม่มีการประชุมพรรค แต่บุคคลที่มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการก็เป็นผู้ใหญ่ของพรรคอยู่แล้ว
นอกจากนี้ พล.อ.เลิศรัตน์เปิดเผยด้วยว่า จะมีการประชุมเพื่อหารือและติดตามความคืบหน้ารวม ถึงปัญหาอุปสรรคของงานแต่ละสายงานเพื่อให้เป็นไปตามโรดแมปของ คสช.ที่ได้วางไว้ที่ อาคารรับรองเกษะโกมล ในเวลา 14.30 น.ว่า ในส่วนของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีจำนวน 36 คน จะส่งตัวแทนไปทั้งหมด 21 คน ประกอด้วย นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ รองประธาน กมธ. 6 คน ได้แก่ นพ.กระแส ชนะวงศ์ นายมานิจ สุขสมจิตร นายสุจิต บุญบงการ นางนรีวรรณ จินตกานนท์ นายปรีชา วัชราภัย นายชูชัย ศุภวงศ์ และประธานอนุกมธ.ทั้ง 14 คณะ โดย กมธ.จะไปชี้แจงความคืบหน้าในการทำงาน และจะเน้นรับฟังข้อเสนอแนะ และความคิดเห็นต่างๆ เกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ