xs
xsm
sm
md
lg

ภท.-ชทพ.ชงแก้ยุบพรรค ร้องหาประชานิยม-ไม่เอาบทลงโทษ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 09.30 น.วานนี้ (18 พ.ย.) ตัวแทนจากพรรคการเมืองได้เดินทางมาให้ความเห็นเกี่ยวกับการยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ตามคำเชิญของคณะกรรมาธิการ(กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นวันแรก โดยมีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ทำหน้าที่เป็นประธานหารือครั้งนี้
การหารือครั้งนี้ เป็นส่วนของตัวแทนพรรคภูมิใจไทย นำโดย นายสรอรรถ กลิ่นประทุม ประธานที่ปรึกษาพรรคภูมิใจไทย นายทรงศักดิ์ ทองศรี รองหัวหน้าพรรค นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เลขาธิการพรรค นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค และ นายสิรภพ ดวงสอดศรี ผู้อำนวยการพรรค
ขณะที่ตัวแทนพรรคชาติไทยพัฒนา ประกอบด้วย นายธีระ วงศ์สมุทร หัวหน้าพรรค นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล และ นายนิกร จำนง ที่ปรึกษาหัวหน้าพรรค ซึ่งทั้งหมดได้เข้านั่งหารือในห้องรับรองด้านหน้าห้องประชุม คณะกมธ.งบประมาณ โดยมีพล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกกมธ.ยกร่างฯ นายอลงกรณ์ พลบุตร สปช. และนายชัย ชิดชอบ สปช. เข้าร่วมพูดคุยในห้องดังกล่าวด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กมธ.ยกร่างฯไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังการหารือ แต่สามารถบันทึกภาพได้ นอกจากนี้ ยังกำหนดให้แต่ละพรรคร่วมหารือเป็นเวลา 50 นาที โดยให้พรรคภูมิใจไทย เข้าหารือก่อน และจะมีการแถลงข่าวถึงผลการหารือในภายหลัง

**ภท.ให้แก้ ม.68,237 เรื่องยุบพรรค

ต่อมา พล.อ.เลิศรัตน์ แถลงภายหลังการหารือ ว่า ทางตัวแทนพรรคภูมิใจไทยได้ให้ข้อคิดเห็นต่อคณะกมธ.ยกร่างฯ ว่า อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ร่างขึ้นเพื่อคนทุกคนไม่มีอคติ และไม่กีดกัดใคร ส่วนประเด็นเรื่องส.ส.ก็ไม่อยากให้มีการกำจัดวาระของส.ส. อยากเห็น สร้างระบบพรรคการเมืองที่ดี สร้างนักการเมืองที่มีคุณธรรม ขณะเดียวกันก็ต้องการให้ปฏิรูประบบราชการให้เข้มแข็ง มีภูมิคุ้มกัน เพราะ ถ้าระบบราชการมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบที่ไม่เป็นไปตามกฎหมายได้
นอกจากนี้ องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ ก็อยากให้นำบทเรียนจากรัฐธรรมนูญ ปี 2540 กับ ปี 2550 มาใช้ยกร่างฯใหม่ ไมว่าจะเป็นที่มา หรือเจตนารมณ์ เพราะถ้าเริ่มต้นประชาชนไม่ยอมรับเสียแล้ว ก็จะเป็นปัญหา พร้อมกันนี้ควรมีกระบวนการสรรหาที่เข้มข้น พร้อมกับสามารถถอดถอนได้ด้วย
สำหรับปัญหาในการยุบพรรคการเมือง จากมาตรา 68 และ 237 ตามรัฐธรรมนูญปี 2550 นั้น ทาง ภท.เห็นว่าที่ผ่านมาการยุบพรรคง่ายเกินไป ด้วยการกำหนดโทษหากกรรมการบริหารทำผิดเพียงคนเดียว ก็ถูกยุบ และยังมีโทษให้กรรมการบริหารพรรคคนอื่นๆ มีโทษเว้นวรรค 5 ปีด้วย ซึ่งทางภท.เห็นว่าไม่เป็นธรรม โดยอยากเห็นพรรคการเมืองเป็นสถาบันที่เป็นหลักในการกำหนดนโยบาย ขณะที่ประเด็นเรื่องที่มาของ ส.ว. นั้น หากจะต้องมี ส.ว.บางส่วนต้องมาจากการสรรหา ก็จะต้องมีขอบเขตอำนาจหน้าที่ มิใช่ให้ส.ว.สรรหา มีอำนาจเท่ากับส.ว.เลือกตั้ง
สำหรับนายกรัฐมนตรีและรัฐบาล มีอำนาจกำหนดนโยบายประชานิยม ลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ ถ้าหากเกิดความเสียหาย ก็ไม่ควรมีบทลงโทษต่อผู้ปฏิบัติ หรือผู้กำหนดตามนโยบาย
ส่วนเรื่องการทำประชามตินั้นเห็นว่าเร็วเกินไปที่จะพูด เพราะจะต้องพิจารณากระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญในอีก 5-6 เดือนข้างหน้า หากเสียงของประชาชนตอบรับดี ก็ไม่จำเป็นต้องทำประชามติ เพราะจะต้องใช้เวลา และงบประมาณ

**ชทพ.เสนอแก้ไข ม.190

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวถึง ข้อเสนอของพรรคชาติไทยพัฒนาว่า อยากเห็นระบอบประชาธิปไตยมีความมั่นคง และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประชาชนในทุกมิติ มีการยกร่างรัฐธรรมนูญของฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร และฝ่ายตุลาการอย่างสมดุล ซึ่งที่ผ่านมาเห็นว่า ยังเป็นปัญหาที่ผูกพันกันมากเกินไป ระหว่างฝ่ายบริหาร และฝ่ายนิติบัญญัติ
ส่วนมาตรา 237 และ มาตรา 68 ที่ทำให้เกิดการยุบพรรค และตัดสิทธิ์กรรมการบริหารพรรคที่เป็นปัญหา ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนา ต้องการให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย ขณะเดียวกันกรรมาธิการฯ ก็เห็นว่าหากมีการยุบพรรคการเมืองง่าย ก็จะทำให้เกิดนอมินีขึ้นมาบริหารประเทศ ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมาธิการ ก็ต้องไปหาคำตอบว่าจะทำอย่างไร
สำหรับการเลือกตั้งแบบเขตเดียวคนเดียว และเขตใหญ่ 3 คน ก็มีทั้งข้อดี และข้อเสีย ซึ่งพรรคชาติไทยพัฒนาไม่เห็นด้วย ที่จะให้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะจะทำให้ไม่ยึดโยงกับพื้นที่ และเป็นตัวแทนของประชาชน จึงอยากให้พิจารณาให้เหมาะสมกับปัจจุบัน นอกจากนี้คือเรื่องของวุฒิสภา เห็นว่าให้เพิ่มกรรมการสรรหาส.ว.ให้มากกว่า 7 คนขึ้นไป และลดจำนวน ส.ว.สรรหาให้เหลือ 1 ใน 6 และ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้งขอให้คำนึงถึงสัดส่วนของประชากร เช่นในกทม. ควรมีส.ว.ให้มากกว่าจังหวัดที่มีประชากรน้อยกว่า ซึ่งคุณสมบัติของ ส.ว.สรรหา ควรมาจากหลากหลายสาขาอาชีพ และไม่ควรมีอำนาจเหมือน ส.ว. จากการเลือกตั้ง
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า พรรคชาติไทยพัฒนา ยังเสนอให้มีการแก้ไข มาตรา 190 ในการลงนามสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ที่รัฐบาลจะต้องมาขอความเห็นชอบจากสภาก่อน เพราะเห็นว่ามีผลกระทบต่อการบริหารราชการแผ่นดิน และเห็นว่า การร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ควรแก้ปัญหาการแบ่งพรรคนิยม แบ่งสีนิยมให้ได้ จึงต้องมีบทบัญญัติให้เยาวชนได้รับการศึกษาเรื่องประชาธิปไตยตั้งแต่ในชั้นเรียน เพื่อให้เป็นผู้ใช้สิทธิ หรือนักการเมืองที่ดีในอนาคต รวมถึงผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา หรือคนพิการต้องได้รับโอกาสในการเรียนรู้ ในเรื่องการทำประชามติ พรรคชาติไทยพัฒนาเห็นว่า เป็นเรื่องปลายน้ำ แต่อยากให้เน้นการทำประชาพิจารณ์มากกว่า
ทั้งนี้ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้สั่งให้จัดทำรายชื่อคณะอนุกรรมาธิการทั้ง 11 ด้าน ส่งให้กับพรรคการเมืองที่มาชี้แจง เพื่อในอนาคตที่จะให้ข้อมูลเพิ่มเติมได้ ถือเป็นการสื่อสาร 2 ทาง โดยในวันที่ 19 พ.ย. พรรคชาติพัฒนา และพรรคพลังชล จะเข้าพบคณะกรรมาธิกาฯ ในเวลา 10.00 น.
ส่วนการหารือระหว่างคณะกรรมาธิการยกร่างฯ กับคสช. รัฐบาล สปช. และสนช.นั้น พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า ทางคณะกรรมาธิการจะมีผู้ร่วมหารือ 21 คน ประกอบด้วย ประธาน รองประธาน และประธานอนุกรรมาธิการทั้งหมด ซึ่งคาดว่าจะมีการหารือขอเรียกร้องของพรรคการเมืองที่ให้ผ่อนปรนกฎอัยการศึก และคำสั่งของคสช. และคาดว่า คสช. จะมีแนวทางในการชี้แจงว่ายังติดขัดอะไร และจะแก้ไขอย่างไร ทั้งนี้ตนเห็นว่าแม้จะไม่มีการประชุมพรรค แต่บุคคลที่มาให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการ ก็เป็นผู้ใหญ่ของพรรคอยู่แล้ว

** "มาร์ค"ไม่เอาเลือกนายกฯโดยตรง

ด้านนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ตนจะเดินทางไปพบกับกมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 24 พ.ย.นี้ แต่มีประเด็นคือ เป็นการเชิญในฐานะตัวแทนพรรค ไม่ใช่ในฐานะ นายอภิสิทธิ์ จึงมีความหนักใจ เพราะถ้าบอกให้เป็นความเห็นพรรคการเมือง พรรคก็ควรจะได้ประชุม แต่ข้อจำกัดอยู่ว่า คสช. ยังไม่ให้พรรคการเมืองประชุม ดังนั้นพรรคประชาธิปัตย์ จึงทำหนังสือไปที่ คสช. เพื่อขอประชุมในเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ หากคสช.อนุญาตให้ทำการประชุมได้ พรรคฯจะประชุมในวันที่ 23 พ.ย.นี้ แต่หากไม่สามารถประชุมได้ ตนก็จะเข้าให้ข้อมูลกับคณะกรรมาธิการฯโดยมี นายจุรินทร์ ลักษณะวิศิษฎ์ นายชำนิ ศักดิเศรษฐ รองหัวหน้าพรรค และนายจุติ ไกรฤกษ์ เลขาธิการพรรค ส่วนสมาชิกอีกหนึ่งคน กำลังพิจารณาว่าจะเป็นใครที่สามารถไปเสริมในมุมที่ครบถ้วน
"ประเด็นที่พรรคจะนำไปเสนอต่อ คณะกรรมาธิการฯ อาทิ ระบบการเลือกตั้ง ที่อาจจะมาปรับปรุงให้สอดคล้องกับสถานการณ์ยุคปัจจุบันมากขึ้น ส่วนแนวคิดแยกฝ่ายนิติบัญญัติ กับฝ่ายบริหารออกจากกันนั้น ผมคิดว่าเรากำลังจะถอยออกมาจากระบบรัฐสภาดั้งเดิม ซึ่งประเด็นที่ต้องคิดเป็นพิเศษคือ เราต้องมีคำตอบว่า การเลือกผู้บริหารโดยตรง จะให้ผู้บริหารรับผิดชอบรับผิดชอบการบริหารประเทศอย่างไร เพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งใช้อำนาจเกินขอบเขต ลุแก่อำนาจ โจทย์ใหญ่ที่สุดของประเทศ คือ ทำอย่างไรฝ่ายบริหารนั้นไม่เหลิงอำนาจ ฉะนั้นสมมติว่า เกิดกรณีว่าฝ่ายบริหารนั้นตรวจสอบไม่ได้ ขยายอำนาจตัวเองมากขึ้น สภาไล่ออกไม่ได้ เรื่องลาออกนั้น ผมว่าระบบแบบนี้น้อยมากที่จะเกิดขึ้น เพราะเขาถือว่าเลือกมาแล้วอยู่ 4-7 ปี ซึ่งก็แล้วแต่รัฐธรรมนูญจะกำหนดนี้ ถ้าเลือกตรงแล้วเขาบอกว่า วาระต้องแน่นอน เขาได้รับเลือกมาอย่างนี้จะทำอย่างไร คุณต้องมีคำตอบตรงนี้" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น