กกต. ส่งข้อเสนอให้ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ เปรียบเทียบข้อดี - ข้อเสีย ให้มหาดไทยจัดเลือกตั้ง หวั่นการเข้ามามีส่วนร่วมของเอกชนแตกต่างกัน ชงพิจารณาคำร้องเลือกตั้งเป็น 60 วัน จัดเลือกตั้งล่วงหน้า 2 วัน ขยายเวลาเปิดคูหาถึง 4 โมงเย็น และให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทน รมต. ในช่วงยุบสภา
วันนี้ (19 ม.ค.) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) นายศุภชัย สมเจริญ ประธาน กกต. เป็นประธานการประชุม กกต. นัดพิเศษเพื่อพิจารณาข้อเสนอ กกต. ที่จะเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะของ กกต. ต่อการควบคุมและการจัดการเลือกตั้ง เกี่ยวกับสภาพปัญหาแนวทางแก้ไขการจัดการเลือกตั้งของประเทศไทย ต่อคณะกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 ของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน เป็นประธาน
โดยที่ประชุมมีมติเห็นชอบเสนอรายงานฉบับดังกล่าวเพื่อส่งให้ กมธ.ยกร่างธรรมนูญในวันที่ 22 ม.ค. นี้ เพื่อนำไปประกอบการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีสาระสำคัญใน 2 ประเด็นหลัก คือ 1. มีการเปรียบเทียบการทำหน้าที่จัดการเลือกตั้งระหว่าง กกต. กับส่วนราชการ อย่างกระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ ได้พูดถึงข้อดีข้อเสีย ถ้า กกต. จัดเลือกจะมี กกต. จังหวัด ผอ. เขต ผอ. หน่วย กรรมการประจำหน่วย ในการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง มีหน่วยงานเอกชนเข้าร่วมตรวจสอบ ไม่ใช่มีเฉพาะข้าราชการเท่านั้น เช่น กรรมการประจำหน่วยจะเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามาทำหน้าที่เพื่อตรวจสอบการทำงานของ กกต. อีกขั้นหนึ่ง หากให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการจัดการเลือกตั้ง จะมีปลัดกระทรวงมอบนโยบายให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด เพื่อสั่งการกำนัน ผู้ใหญ่บ้านจัดการเลือกตั้ง สายบังคับบัญชามาจากส่วนกลาง จากหน่วยราชการทั้งหมด การเข้ามามีส่วนร่วมของเอกชนก็จะแตกต่างกัน
ประเด็นที่ 2 คือวิธีการจัดการเลือกตั้ง โดยพูดถึงกรอบระยะเวลาพิจารณาคำร้องคัดค้านการเลือกตั้งขยายจาก 30 วัน เป็น 60 วัน เพื่อให้เกิดความรอบคอบ นอกจากนี้ยังมีประเด็นรายละเอียดอื่นๆ อาทิ ขยายระยะเวลาลงคะแนนเลือกตั้งจากเดิม 08.00 - 15.00 น. เป็น 08.00 - 16.00 น. รวมทั้งเสนอให้มีการเพิ่มวันเลือกตั้งล่วงหน้าจาก 1 วัน เป็น 2 วัน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เดินทางมาใช้สิทธิเลือกตั้ง ห้ามใช้งบประมาณของรัฐเพื่อขึ้นป้ายโฆษณาประชาสัมพันธ์ ที่เป็นประโยชน์ส่วนตัวตลอดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งทางการเมือง ห้ามทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง ซึ่งมีผลย้อนหลัง 6 เดือนก่อนครบวาระ สำหรับนโยบายหาเสียงให้พรรคการเมืองกำหนดนโยบายในการหาเสียงให้ชัดเจน โดยเฉพาะนโยบายที่เข้าข่ายเป็นนโยบายประชานิยม กำหนดให้ปลัดกระทรวงรักษาการแทนรัฐมนตรีในช่วงที่มี พ.ร.ฎ. ยุบสภา เป็นต้น