กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มมาตรา 7 วรรคสอง วางศาล รธน. ตัดสิน ยกเหตุการณ์ตุลาการเข้าเฝ้าฯ ปี 2549 ด้าน กมธ. ปฏิรูปการเมือง ตั้ง “เอนก” เป็นหัวเรือใหญ่ประสาน ปชป.- พท.- นปช.- กปปส. หารือหาแนวทางสร้างปรองดอง ชี้แต่ละหน่วยงานทำงานไม่ทับซ้อนกัน
วันนี้ (12 ม.ค.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงรายงานความคืบหน้าการพิจารณายกร่างรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราของ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นวันแรก ว่า ในช่วงระหว่างวันที่ 12 - 16 ม.ค. กมธ.วางกรอบพิจารณาบททั่วไป ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน และภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดีและสถาบันการเมือง เฉพาะหมวด 2 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ รวมทั้งสิ้น 89 มาตรา โดยตั้งเป้าไว้จะพิจารณาเฉลี่ยให้ได้วันละ 18 มาตรา ซึ่งในวันนี้ (12 ม.ค.) จะเป็นการพิจารณาบททั่วไปจำนวน 7 มาตรา ภาค 1 พระมหากษัตริย์และประชาชน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ 18 มาตรา รวมทั้งสิ้น 25 มาตรา
นายคำนูณ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้สำหรับผลการพิจารณาชื่อร่างใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย” และตั้งแต่บททั่วไป มาตรา 1 - 6 ไม่มีการแก้ไขถ้อยคำในมาตราดังกล่าว ยกเว้นมาตรา 7 ที่จากเดิมตามรัฐธรรมนูญ 2550 มีเพียงแค่วรรคหนึ่ง ที่ระบุว่า “เมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้การกระทำการหรือวินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัติรย์ทรงเป็นประมุข” โดย กมธ. ยกร่างฯ ได้เพิ่มวรรคสอง โดยระบุว่า “ในกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการกระทำหรือการวินิจฉัยกรณีใดตามวรรคหนึ่ง สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลฎีกา ศาลปกครองสูงสุด หรือองค์กรตามรัฐธรรมนูญ จะขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาด เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของตนก็ได้ แต่สำหรับศาลฎีกาและศาลปกครองสูงสุด ให้กระทำได้เฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาคดี และเมื่อมีมติของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาหรือที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด”
“สำหรับสาเหตุที่ต้องมีการเพิ่มวรรคสองในมาตรา 7 นั้น เนื่องจากตลอด 17 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 เมื่อเกิดสถานการณ์ทาการเมืองมักจะมีการนำมาตรา 7 มาแอบอ้างในหลายรูปแบบ และส่งผลกระทบต่อสถาบันเบื้องสูง กรณีที่นำมาตรา 7 มาแอบอ้างมักจะเป็นประเด็นปัญหาที่ไม่มีองค์กรใดมาตัดสินหาข้อยุติได้ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการเปิดช่องทางให้องค์กรใดองค์กรหนึ่งมาทำหน้าที่ตัดสินและให้ได้ข้อยุติ เพื่อไม่ให้กระทบหรือนำสถาบันมาแอบอ้างอีก” โฆษก กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าว
เมื่อถามว่า การที่ กมธ. ยกร่างฯ เพิ่ม วรรคสอง จะเป็นการปิดทางการเสนอนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 7 หรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ไม่เกี่ยวข้องโดยตรง เพราะยังมีประเด็นปัญหาที่นอกเหนือไปจากนายกรัฐมนตรีมาตรา 7 เช่น ก่อนที่จะมีรัฐประหาร ก็เคยมีปัญหาว่ารัฐสภาจะเปิดประชุมได้หรือไม่ ซึ่งประเด็นนายกรัฐมนตรี มาตรา 7 น่าจะจบลงตั้งแต่วันที่ 25 เม.ย. 2549 ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้นายอักขราทร จุฬารัตน อดีตประธานศาลปกครองสูงสุด นำตุลาการศาลปกครองสูงสุด เฝ้าฯ ถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับตำแหน่งหน้าที่ ว่า มาตรา 7 ไม่เคยมีการปฎิบัติตามประเพณีการปกครองที่ผ่านมา เมื่อถามว่ากรณีที่เคยมีกลุ่มคนประกาศไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญจะทำให้เกิดปัญหาหรือไม่ นายคำนูณ กล่าวว่า ไม่มีปัญหา ไม่ว่าอย่างไรต้องเดินหน้าไปตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การที่คนมีมุมมองที่ต่างกัน มันก็ต้องมีองค์กรที่วินิจฉัยชี้ขาด ซึ่งตามกฎหมายเดิมก็ได้ระบุแล้วว่า ให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นที่สิ้นสุดและผูกพันทุกองค์กร
อีกด้านหนึ่ง นายบุญเลิศ คชายุทธเดช กรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมาธิการฯปฎิรูปการเมืองที่มีนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธานและมีการเชิญผู้แทนจาก 4 หน่วยงาน ที่ดำเนินการในเรื่องการสร้างความปรองดองเข้าหารือ อาทิ นายอเนก เหล่าธรรมทัศน์ ประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช., นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ประธานอนุกรรมาธิการด้านระบบเลือกตั้งและพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, นางถวิลวดี บุรีกุล ประธานอนุกรรมาธิการการมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ พล.ท.บุญธรรม โอริส ผู้แทนศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยกล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบการปฏิบัติงานในเรื่องการปรองดองของแต่ละหน่วยงานว่าได้ทำอะไรไปบ้าง ซึ่งหลักๆ คือ การรับฟังความคิดเห็นประชาชนที่ ศปป. ได้มีการดำเนินการมาก่อนหน้านี้หลายเดือนแล้ว ส่วนคณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดองก็กำลังศึกษาในเรื่องการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบว่าจะทำอย่างไร
ทั้งนี้ หลังรับฟังความเห็นแล้ว ผู้ร่วมประชุมเสนอว่าการจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งที่จะนำไปสู่การสมานฉันท์ปรองดองได้อย่างแท้จริงและใช้เวลาไม่นาน ต้องมุ่งไปที่ผู้นำพรรคการเมือง ผู้ที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหว ซึ่งประกอบด้วย ผู้นำพรรคการเมือง 2 พรรคใหญ่ คือ พรรคประชาธิปัตย์ และพรรคเพื่อไทย ส่วนองค์กรมวลชนที่มีบทบาทในการเคลื่อนไหวต่อสู้ตามแนวคิดอุดมการณ์ ที่มีการเชื่อมโยงกับพรรคการเมือง ก็คือ แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการ หรือ นปช. ที่เกี่ยวพันกับพรรคเพื่อไทย และ กปปส. ที่เกี่ยวพันกับพรรคประชาธิปัตย์ โดยจะเห็นว่าจะต้องมีการเชิาญผู้นำใน 4 ฝ่าย นี้มาพูดคุย หารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยผู้ที่จะจัดต้องเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ซึ่งยังไม่มีการพูดกันอย่างชัดเจนว่าหมายถึงใครในการที่จะเชิญคนเหล่านี้มาพบและหารือกันต่อไป
อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีข้อสรุปให้นายเอนก เป็นหัวหน้าในการประสาน 4 กลุ่ม และเป็นผู้ศึกษาดำเนินการในกรณีหากต้องให้ผู้มีอำนาจสูงสุดเข้ามาดำเนินการ ทางกรรมาธิการก็พร้อมที่จะสนับสนุน แต่ทั้งนี้ก็ไมได้มีการกำหนดกรอบเวลาในการทำงานแต่ความแตกแยกที่ผ่านมาทำให้ประเทศเกิดความเสียหายมากแล้วจึงเพียงแต่ขอให้นายเอนกพยายามเร่งรัดดำเนินการโดยเร็ว
นายสมบัติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรุปว่า 1. หน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่ดำเนินการในการปรองดอง ไมได้ทำหน้าที่ทับซ้อนกัน แต่จะต้องมีการประสานกัน โดยมอบหมายให้อนุฯปรองดอง ในกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองเป็นผู้ประสาน 2. เพื่อให้การปรองดองเป็นรูปธรรม พบว่าประเด็นสำคัญคือหัวเชื้อซึ่งหากจะทำให้การปรองดองสำเร็จจะต้องให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายร่วมกันแก้ไขในจุดนี้ โดยภาคกิจสำคัญคือการพูดคุยกับหัวเชื้อ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ พอได้ข้อสรุปจะนำเข้าสุกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าใครเป็นคนตัดสิน เพื่อคลี่คลายปัญหาตรงนี้ ทั้งนี้จะทำหนังสือให้นายอเนก เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปรองดอง เป็น หัวเรือใหญ่ ในการขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ สนช. ศปป. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุม นายวันชัย สอนศิริ กรรมาธิการ ย้ำต่อที่ประชุมว่า ถ้าไม่สามารถทำให้คนในชาติเกิดการปรองดองกัน กฎ กติกาต่างๆ ที่สร้างขึ้นก็ไร้ผล ขณะนี้เป็นบรรยากาศที่เหมาะสมที่สุดที่จะดำเนินการสร้างความปรองดอง เนื่องจากรัฐบาลปัจจุบันไม่ใช่คู่ขัดแย้งโดยตรง
ด้าน นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน ให้ความเห็นถึงการปรับเรื่องกระบวนการยุติธรรม ที่ต้องให้มีความยืดหยุ่นมากกว่าปัจจุบัน ส่วนประเด็นเรื่องการนิรโทษกรรมนั้น ยืนยันว่า ผู้กระทำผิดต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม และเมื่อได้ข้อยุติจึงดำเนินการเยียวยา พร้อมมองว่าความขัดแย้งไม่ได้เป็นแค่สีเสื้อ แต่รวมไปถึงการสร้างความรู้สึกที่ดีขึ้นให้แก่ผู้ที่ไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งที่ได้รับผลกระทบ
ขณะที่ นายประสาร มฤคพิทักษ์ ในฐานะอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเรียนรู้ การปรองดอง การมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ให้ความเห็นถึงการนิรโทษกรรมต่อที่ประชุมว่า ต้องมีการแสวงหาข้อเท็จจริงก่อน และเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ไปสู่การยอมรับและขอโทษ จึงจะมีการพิจารณาถึงการนิรโทษกรรม ซึ่งจะเป็นขั้นสุดท้าย โดยจะต้องไม่รวมถึงคดีอาญา คดีทุจริต และคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
ส่วน พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ ในฐานะรองประธานกรรมาธิการ ให้ความเห็นว่า การดำเนินการสร้างความปรองดองไม่ควรรีบเร่ง และที่ผ่านมาน่าเสียดายที่ผ่านมาไม่ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง จึงควรจะทำอย่างต่อเนื่องแม้จะมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งแล้ว
นายสมบัติ กล่าวว่า ที่ประชุมได้ข้อสรปว่า หน่วยงานแต่ละหน่วยงานที่ดำเนินการในการปรองดอง ไมได้ทำหน้าที่ทับซ้อนกัน แต่จะต้องมีการประสานกัน โดยมอบหมายให้อนุปรองดอง ในกรรมาธิการปฏินรูปกี่เมืองเป็นผู้ประสาน 2 เพื่ให้การปรองดองเป็นรูปธรรม พบว่าประเด็นสำคัญคือหัวเชื้อซึ่งหากจะทำให้การปรองดองสำเร็จจะต้องให้ตัวแทนแต่ละฝ่ายร่วมกันแก้ไขในจุดนี้ โดยภาคกิจสำคัญคือการพูดคุยกับหัวเชื้อ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของคนในชาติ พอได้ข้อสรุปจะนำเข้าสุกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าใครเป็นคนตัดสิน เพื่อคลี่คลายปัญหาตรงนี้ ทั้งนี้จะทำหนังสือให้นายเอนก เป็นประธานคณะกรรมการศึกษาแนวทางการปรองดอง เป็น หัวเรือใหญ่ ในการขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 ฝ่าย คือ สนช. ศปป. คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ และกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง