xs
xsm
sm
md
lg

“คำนูณ” ถอดบทเรียนอดีต ยันไทยไม่เหมาะเลือกนายกฯ-ครม.ทางตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน  โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
สปช. มีมติเห็นชอบรายงาน กมธ. ปฏิรูป ด้าน กมธ. ยกร่าง รธน. ส่อไม่รับเลือกนายกฯ - ครม. ทางตรง “คำนูณ” ชี้ไม่แก้ปัญหาซื้อเสียง ตรงข้ามอาจทำให้เกิดสงครามกลางเมือง หมิ่นเหม่ต่อพระราชอำนาจ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในส่วนของกรรมาธิการยกร่าง มีความเห็นที่สอดคล้องกับที่กรรมาธิการปฏิรูปฯ ในประเด็นการให้มีรัฐบาลรักษาการที่มาจากปลัดกระทรวง หากมีการยุบสภา เลือกตั้งใหม่ ส่วนประเด็นจำนวน ส.ส. ที่เสนอตัวเลข 350 แม้ใน กมธ. จะยังไมได้ข้อสรุป และหารือในหลายตัวเลข แต่ตัวเลข ส.ส. 350 ก็ตรงกับที่อนุกรรมาธิการยกร่างชุดที่มีนายสุจิต บุญบงการ ได้เสนอมาความเห็นมา และการเสนอให้มีคณะกรรมการอิสระว่าด้วยการประเมินแห่งชาติ ขึ้นมาทำหน้าที่ประเมินข้าราชการประจำ เป็นนวัตกรรมใหม่ที่ กมธ. ได้พิจารณากัน ซึ่งก็จะเอาทั้ง 3 ข้อเสนอไปหารือใน กมธ. ยกร่างต่อไป

ส่วนประเด็นที่มีการวิพากษ์วิจารณ์กันมาก คือการให้มีการเลือกตั้งนายกฯ และ ครม. โดยตรงนั้น กมธ. ยกร่าง ก็หารือและสนทนาธรรมเกี่ยวกับประเด็นนี้มี กมธ. บางคนก็สนับสนุนประเด็นนี้ แต่ กมธ. ยังไมได้ตัดสินใจประการใด อย่างไรก็ตาม ตนมีข้อสังเกตว่ารูปแบบที่กรรมาธิการเสนอนั้น ไม่ว่าการใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง หรือให้เขตหนึ่งมี ส.ส. ได้ 3 คน แต่ประชาชนเลือกได้ 1 คน ไม่ได้เป็นหลักประกันว่าหากนำมาใช้แล้วการซื้อสิทธิขายเสียงจะลดลง ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่ามีจุดอ่อน เพราะการเลือกตั้งในลักษณะดังกล่าววันเลือกตั้งจะต้องมีการเลือกทั้งนายกฯ ครม. และ ส.ส. เขต จากประสบการณ์ในอดีตที่เคยมีการเลือกตั้ง ส.ส. เขต และ ส.ส. ในระบบบัญชีรายชื่อในวันเดียวกัน พบว่า มีการใช้เงินซื้อเสียงจำนวนมากและซื้อเป็นระบบมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ปรารภในกรรมาธิการว่า ท่านเคยคิดผิดมาแล้วเมื่อตอนร่างรัฐธรรมนูญ 40 ที่ให้มีการเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ และ ส.ส. เขต ท่านบอกว่า ท่านเคยคิดว่าซื้อเสียงไมได้ผล ตรงกันข้ามซื้อมากขึ้น และซื้อเป็นระบบมากขึ้น

นอกจากนี้ เห็นว่า ที่กรรมาธิการปฏิรูปต้องการนำหลักการแบ่งแยกอำนาจมาใช้ ในอดีตก็เคยมีมาแล้ว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จะเห็นได้ว่าในรัฐธรรมนูญ 40 ที่ให้ประชาชนเลือก ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อซึ่งประชาชนก็เข้าใจ เบอร์หนึ่งของบัญชีคือนายกฯ และรองลงมาคือ คณะรัฐมนตรี ขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญขณะนั้นก็บัญญัติว่าหากได้เป็นรัฐมนตรีต้องลาออกจาก ส.ส. ข้อดีที่เกิดขึ้นของระบบ คือ ได้รัฐบาลทครบเทอมเป็นครั้งแรกในปี 44 - 48 แต่มีผลข้างเคียงคือ มีภาวะรัฐบาลเข้มแข็งมาก เมื่อไปรวมกับมาตรการ ส.ส. ต้องสังกัดพรรค ทำให้สภาพความเป็นจริงเท่ากับรัฐบาลครอบงำรัฐสภาได้เด็ดขาดแล้วต่อมาก็เข้าไปครอบงำองค์กรอิสระ ปรากฏชัดในการเลือก กกต. และ ป.ป.ช. ในระยะต่อมาจนมีนักวิชาการเขียนว่ารัฐธรรมนูญตายแล้ว

“แม้ต่อมาจะยังไม่มีการเลือกตั้งนายกโดยตรง แต่สิ่งที่เราได้ยินจากรัฐบาลในระยะหลังคือการอ้างว่ามาจากการเลือกตั้งของประชาชน ดังนั้น ถ้าเรามีการเปลี่ยนระบบให้มีการเลือกนายกฯ และ ครม. โดยตรง ตามที่มีการเสนอซึ่งมีการกำหนดคะแนนที่ต้องได้ไว้ว่าต้องได้คะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง หมายความว่า คณะ รมต. ต้องได้รับคะแนนเลือกไม่ต่ำกว่า 20 ล้าน เราก็จะยิ่งได้ยินว่า รัฐบาลมาจากการเลือกตั้งโดยตรงมาจากเสียง ประชาชนทั้งประเทศ 20 ล้านเสียง แน่นอนถ้าเราได้รัฐบาลที่ดี ก็จะมีความมั่นคง แต่ถ้าตรงข้าม ก็จะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นได้”

นายคำนูณ กล่าวอีกว่า แนวคิดเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีทางตรงไม่ใช่ของใหม่ มีมาตั้งแต่ปี 2512 และในปี 2516 และ 2517 ช่วงที่มีการร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2517 เรืออากาศตรี ฉลาด วรฉัตร เคยเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2521 ต่อพรรคประชาธิปัตย์เมื่อปี 2530 แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ เนื่องจากมีผู้ใหญ่ในสังคมและนักวิชาการเห็นว่าไม่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทยที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ทำหน้าที่ประมุขแห่งรัฐอยู่ ที่พูดมานี้ไม่ได้หมายความว่าผู้เสนอแนวคิดนี้ไม่ว่าจะในอดีตหรือปัจจุบันจะมีความมิบังควรแต่ประการใด แต่ว่าในการออกแบบระบบการเมืองของประเทศนั้นเราจำเป็นต้องรอบคอบ

“ประเทศไทยเลือกรูปแบบการปกครองระบบรัฐสภามา 82 ปี คือ ประชาชนเลือกผู้แทนราษฎร ผู้แทนราษฎรทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรีและทูลเกล้าฯให้พระมหากษัตริย์โปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี การเลือกระบบนี้เพราะเชื่อว่าเหมาะสมกับประเทศไทยที่สุดแล้วที่มีสถาบันพระมหากษัตริย์ ตลอดระยะเวลา 82 ปี มาพอเสร็จสิ้นการเลือกตั้ง ส.ส. เมื่อไหรก็ถือว่า ส.ส. ทั้งสภาได้ดำรงตำแหน่ง ส.ส. ไม่ต้องมีการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งอีก เพราะถือว่าประชาชนเลือกตั้งเข้ามา และถือเป็นตัวแทนของประชาชน แต่ตัวแทนของประชาชนนั้นจะเลือกนายกรัฐมนตรี หรือถวายคำแนะนำแด่พระมหากษัตริย์ เพื่อให้มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งตามคำแนะนำนั้น ผมยังคงเห็นว่าเป็นการออกแบบที่เราลงตัวและเป็นทฤษฎีที่เรายึดถือกันมา หากเราเปลี่ยนมาเป็นการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีโดยตรง ประเพณีปฏิบัติเหล่านี้อาจต้องเกิดคำถามขึ้นมาและหลังจากเกิดคำถามนั้นแล้วผมก็ยังไม่สามารถหาคำอธิบายในทางทฤษฎีได้”

โฆษกคณะ กมธ. ยกร่างฯ อธิบายเพิ่มว่า จริงอยู่ที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองได้เสนอว่าทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิมที่ให้พระมหากษัตริย์มีพระบรมราชโองการแต่งตั้งผู้นำสูงสุดในแต่ละฝ่าย แต่ไม่ทราบว่าจะต้องมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯคณะรัฐมนตรีที่ได้รับเลือกตั้งจาก 20 ล้านเสียงหรือไม่ หรือถ้าในทางบริหารอาจเกิดปัญหาว่าคณะรัฐมนตรีทำงานด้วยกันไม่ได้ เช่น นายกรัฐมนตรีอาจมีมุมมองที่แตกต่างจาก รมว.คลัง ในเรื่องการเก็บภาษี แบบนี้จะทำอย่างไร การอธิบายทางทฤษฎีที่ให้คนที่ได้รับเลือกมาจากคะแนน 20 ล้านเสียงเท่ากันจะปลดคนหนึ่งพ้นจากตำแหน่งในคณะรัฐมนตรี จะมีการอธิบายและให้เหตุผลในทางทฤษฎีอย่างไร

“จะมีเหตุผลอะไรที่จะไม่กระทบพระราชอำนาจและไม่ทำให้พระราชอำนาจตกอยู่ในความลำบากบางประการว่าการมีพระบรมราชโองการให้รัฐมนตรีคนใดคนหนึ่งพ้นจากตำแหน่ง คือ มีพระบรมราชโองการให้คนที่ประชาชนเลือกมา 20 ล้านเสียงพ้นจากตำแหน่งโดยคำแนะนำของคนอีกคนหนึ่งที่เป็นนายกรัฐมนตรีที่ก็ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนโดยตรง 20 ล้านเสียงเท่ากัน อันนี้ผมยอมรับว่าอาจคิดได้ไม่รอบคอบ แต่ผมเชื่อว่าการเปลี่ยนระบบใหม่ เราจะต้องอธิบายได้โดยปราศจากข้อสงสัยและไม่พร้อมที่จะเอาบ้านเมืองไปเป็นการทดลองแต่ประการใด ทั้งหมดเป็นเพียงตัวอย่างคำถามเท่านั้น”

นายคำนูณ กล่าวสรุปว่า เห็นว่าการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีโดยตรงอาจมีคำถามมากกว่าการเลือกนายกรัฐมนตรีเพียงคนเดียวด้วยซ้ำไป แต่ผมเชื่อว่าแนวความคิดเลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงมีมานานแล้วและสังคมไม่เห็นด้วย และเห็นว่าการเสนอขึ้นมาจะมีผลข้างเคียงที่ก่อให้เกิดคำถามขึ้นต่อไป เสมือนหนึ่งว่าเรากินยารักษาโรคแต่เกิดผลข้างเคียงตามมา คำถามใหญ่ๆคือระบบรัฐสภาของเราหมดทางเยียวยาแล้วหรือ ถึงจะต้องเปลี่ยนเป็นระบบใหม่ทั้งหมด ซึ่งเรื่องนี้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ได้ตัดสินใจแต่อย่างใด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากที่สมาชิกได้อภิปรายแสดงความเห็นอย่างกว้างขวางแล้วในที่สุดที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญติดตามและให้ข้อเสนอแนะการยกร่างรัฐธรรมนูญ สภาปฏิรูปแห่งชาติ จากนั้นจะมีการเสนอต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อนำไปประกอบการพิจารณาต่อไป โดยจะมีการแนบความเห็นและข้อเสนอแนะต่างๆ ของสมาชิกไปพร้อมด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น