เปิดข้อเสนอ สนช. ชงเลือกตั้งนายกฯ - ครม. โดยตรง วาระแค่ 4 ปี ไม่เกิน 2 สมัย พร้อมกำหนด ส.ส. - ส.ว. ต้องจบปริญญาตรี ห้ามพรรคจ่ายเบี้ยเลี้ยง ส.ส. ขณะเดียวกัน ตัดอำนาจใบเหลือง - ใบแดง กกต. ยุบศาลรัฐธรรมนูญ - สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจ ส่วนพลังงานเสนอปรับโครงสร้างทั้งระบบ ออกกฎหมายป้องกันการผูกขาด ด้านองค์กรศาลยุติธรรมเด้งรับ พร้อมวินิจฉัยคดีเลือกตั้ง เสนอใช้ระบบ 2 ศาลตัดสินทั้งคดีเลือกตั้งและอาญานักการเมือง
วันนี้ (11 ธ.ค.) ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวันพรุ่งนี้ (12 ธ.ค.) มีวาระเร่งด่วนในการพิจารณา รายงานการรวบรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามมาตรา 34 วรรคสองของรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่คณะกรรมาธิการสามัญรวมความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาจัดทำรัฐธรรมนูญของ สนช. พิจารณาเสร็จแล้วโดยรายงานดังกล่าวได้รวบรวมความเห็นจากคณะกรรมาธิการสามัญ 16 คณะ และคณะกรรมาธิการวิสามัญ 1 คณะ โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 การเสนอความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของกรรมาธิการทั้ง 17 คณะ ส่วนที่ 2 การเสนอความเห็นเพื่อประกอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิก สนช. และส่วนที่ 3 ความเห็นของทั้งกรรมาธิการ และสมาชิก สนช. โดยจำแนกตามกรอบการยกร่างรัฐธรรมนูญ
ทั้งนี้ ประเด็นที่น่าสนใจด้านการเมืองได้เสนอที่มาของคณะรัฐมนตรี โดยให้พรรคการเมือง หรือไม่ใช่พรรคการเมืองเสนอบัญชีรายชื่อคณะบุคคลประกอบด้วยนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรี โดยมีจำนวนไม่เกิน 2 เท่าของจำนวนคณะรัฐมนตรีและให้คณะบุคคลดังกล่าวมีหมายเลขในลงสมัครหมายเลขเดียว และใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้งให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้หมายเลขเดียว หากคณะใดได้คะแนนเกินกว่าร้อยละ 35 ของผู้มีสิทธิเลือกตั้งให้ถือได้รับเลือกตั้งเข้าไปบริหารประเทศ แต่ถ้ามีหลายคณะได้คะแนนเกินร้อยละ 35 ให้ถือเอาคณะที่ได้คะแนนสูงสุดเป็นผู้ชนะเลือกตั้ง หากไม่มีคณะใดได้คะแนนตามที่กำหนดให้นำคณะที่ได้คะแนนสูงสุด และลำดับรองลงมา มาให้ประชาชนเลือกอีกครั้งหากคณะใดได้คะแนนสูงสุดก็ให้ถือว่าได้รับเลือกตั้ง
ส่วนการตั้งคณะรัฐมนตรี หรือปรับคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาจากบุคคลที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี ไม่เกินสองวาระติดต่อกัน พร้อมทั้งตั้งข้อสังเกตว่า ควรมีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ลงสมัครในบัญชีคณะรัฐมนตรีให้มีความเหมาะสมและศักยภาพเพียงพอในการดำรงตำแหน่ง และกำหนดนโยบายหาเสียงที่ชัดเจนปฏิบัติได้จริง ระบุแหล่งที่มาของงบประมาณเพื่อให้ประชาชนใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ส่วนการเลือกตั้ง ครม. โดยตรงอาจทำให้เกิดปัญหาการถ่วงดุลกับฝ่ายนิติบัญญัติ เช่น การพิจารณางบประมาณ การแต่งตั้งถอดถอน ควรกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้ชัดเจนเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
ขณะที่ระบบรัฐสภาให้ประกอบด้วย ส.ส และ ส.ว. ที่ต้องมีวุฒิการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี โดย ส.ส. ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 30 ปี ใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง จำนวน ส.ส. ให้เหมาะสมกับจำนวนประชากร ให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเลือกได้เพียงหมายเลขเดียว และผู้สมัครจะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ ส่วน ส.ว. มีอายุไม่ต่ำกว่า 40 ปี ให้มาจากการแต่งตั้ง มีวาระ 6 ปี ดำรงตำแหน่งได้วาระเดียว ทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย และเห็นชอบบุคคลในการดำรงตำแหน่ง ส่วนอำนาจถอดถอนให้เป็นอำนาจของรัฐสภา ส่วนพรรคการเมือง กำหนดให้รัฐต้องสนับสนุนการเงินแก่พรรคการเมืองอย่างพอเพียง แต่มีกฎหมายห้ามพรรคการเมืองจ่ายพิเศษแก่ ส.ส. รวมถึงผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองอื่นด้วย
ขณะที่องค์กรตามรัฐธรรมนูญ เสนอให้เพิ่มจำนวนกกต. เป็น 7 - 9 คน และประชาชนมีส่วนร่วมในการสรรหา แต่ให้ กกต. มีอำนาจเพียงจัดและควบคุมการเลือกตั้ง การสั่งเลือกตั้งใหม่หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งให้เป็นอำนาจศาลยุติธรรม และหากมีการยุบสภา ให้มีการแยก พ.ร.ฎ. ยุบสภา ออกจาก พ.ร.ฎ. กำหนดวันเลือกตั้งโดยการกำหนดวันเลือกตั้งต้องมีการหารือกับ กกต. ก่อน และให้ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งฟ้องคดีเลือกตั้งต่อศาลได้โดยตรง ส่วน ป.ป.ช. เสนอให้มีอำนาจไต่สวนทุจริตได้ทุกกรณี โดยต้องเป็นคดีอาญา คดีร่ำรวยผิดปกติ การตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินเท่านั้น ส่วนการดำเนินการทางวินัยให้เป็นกระบวนการของฝ่ายบริหาร และให้ยุบคณะกรรมการ ป.ป.ช. จังหวัด แต่ยังคงสำนักงานป.ป.ช. จังหวัดไว้ การนำคดีขึ้นสู่ศาลทำได้โดยตรงไม่ต้องผ่านอัยการ เสนอให้ยุบศาลรัฐธรรมนูญ โดยให้โอนภารกิจทั้งหมดไปสังกัดแผนกหนึ่งของศาลยุติธรรม และกำหนดให้วาระการดำรงตำแหน่งของกรรมการในองค์กรอิสระ เหลือเพียง 4 ปีทุกองค์กร ส่วนสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ไม่จำเป็นต้องมีต่อไป เนื่องจากไม่คุ้มค่าในเชิงงบประมาณ ขณะเดียวกัน ให้แก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ โดยให้ยุบ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แล้วให้มีแค่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพียงคณะเดียว
นอกจากนี้ ด้านพลังงาน ได้มีข้อเสนอให้มีกฎหมายป้องกันการผูกขาดในด้านธุรกิจพลังงานทั้งระบบและส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันทางการค้าอย่างเป็นธรรม และกำหนดมาตรการส่งเสริมให้เกิดธุรกิจด้านพลังงานแก่นักลงทุนชาวไทย หรือองค์กรธุรกิจสัญชาติไทยได้สามารถแข่งขันกับกลุ่มทุน หรือธุรกิจข้ามชาติขนาดใหญ่โดยรัฐควรหลีกเลี่ยงการประกอบกิจการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่มีความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของรัฐและผลประโยชน์ส่วนรวม อีกทั้งต้องรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติ ในการสำรวจขุดเจาะปิโตรเลียมของประเทศ พร้อมส่งเสริมการลงทุนค้นหาแหล่งปิโตรเลียมที่มีศักยภาพในต่างประเทศ ส่งเสริมการเก็บสำรองเชื้อเพลิงของรัฐให้เพียงพอเพื่อป้องกันการผันผวนของราคา ควรปรับปรุงโครงสร้างพลังงานทั้งระบบของประเทศ โดยเน้นการปล่อยไปตามกลไกตลาด ลดการแทรกแซงจากรัฐ โดยเฉพาะในรูปแบบการอุดหนุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงประเภทต่างๆ ควบคุมและกำกับนโยบายบริหารจัดการกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงให้ถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของกฎหมายอย่างเคร่งครัด
อย่างไรก็ตาม ในรายงานดังกล่าว ยังได้มีการรวบรวมความคิดเห็นของหน่วยงานปฏิบัติที่เสนอความเห็นเข้ามาซึ่งที่น่าสนใจ คือ ความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรม ซึ่งระบุว่า เห็นด้วยที่จะให้การพิจารณาสั่งเลือกตั้งใหม่ หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งในการเลือกตั้งระดับชาติ และระดับท้องถิ่นเป็นอำนาจของศาลยุติธรรม โดยให้มีการปรับระบบการพิจารณาคดีดังกล่าวเป็นระบบไต่สวน และให้เริ่มต้นพิจารณาที่ศาลอุทธรณ์ ส่วนการยื่นฎีกาคัดค้านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ให้กระทำได้ภายใต้เงื่อนไขเดียวกับคดีทั่วไปซึ่งใช้ระบบอนุญาตโดยศาลฎีกา ขณะที่ในคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ก็เห็นว่าเพื่อให้มีระบบการทบทวนคำพิพากษา จึงอาจปรับปรุงระบบการพิจารณาโดยให้เริ่มคดีที่ศาลอุทธรณ์และใช้ระบบไต่สวนพิจารณาคดี รวมทั้งให้สามารถยื่นอุทธรณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองได้ ซึ่งก็จะสอดคล้องกับระบบสากล ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่าควรคงคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรมไว้ในรัฐธรรมนูญ