หน.ปชป.แนะตั้งโจทย์ให้ชัด ตรวจสอบไม่ได้คือปัญหา เลือกตรงนายก-ครม.ระวังความชอบธรรม อย่าร่าง รธน.เพื่อแค่ทุกฝ่ายพอใจ หวั่นระบบไม่สอดคล้อง ห่วง ล้างผิด วิกฤตซ้ำ เหตุยังไม่นิ่ง กลัวอ้างสองมาตราฐาน ไล่แก้ปัญหาส่วนรวมก่อน จี้สร้างความชัดเจน หนุน “แก้วสรร” บี้นายกฯ ฟ้องจำนำข้าว “ปู” ดักอย่าสร้างหนี้เพิ่มเพื่อแก้ปัญหา งงทิ้งโอกาสฟื้น ศก. จี้ทบทวนพลังงาน เล็งนำลูกพรรคถวายพระพรออนไลน์
วันนี้ (1 ธ.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนายกรัฐมนตรีโดยตรงว่า ได้ให้ความเห็นกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วว่าขอให้ตั้งโจทย์ในภาพรวมให้ชัดว่าสภาพปัญหาคือการไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารได้ ดังนั้นข้อเสนอก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น เพราะถ้าให้มีการเลือกผู้บริหารโดยตรง แต่ไม่ชัดเจนว่าเรื่องกลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยสภาหรือฝ่ายอื่นจะเข้มแข็งอย่างไรก็จะเป็นอันตรายทำให้มีการอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งทำให้การตรวจสอบยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้เลือกจากบัญชีรายชื่อเท่ากับเป็นการรวบอำนาจไว้ที่คนกลุ่มเดียว แต่ไม่สามารถตอบคำถามที่เป็นปัญหาอยู่ได้ จึงขอให้กรรมาธิการฯได้พิจารณาออกแบบทั้งระบบจึงจะตอบได้ว่าการเลือกฝ่ายบริหารโดยตรงจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์กล่าวถึงการเลือกตั้งแบบเยอรมันว่ามีข้อดีสองประการ คือ 1. คะแนนเสียงของประชาชนมีความหมายทุกคะแนนเสียงเป็นเป้าหมายที่ดี 2. สัดส่วนในสภาจะสะท้อนคะแนนเสียงประชาชนมากกว่าการเลือก ส.ส.เข้าไป แต่รายละเอียดจะมีความซับซ้อนพอสมควร จึงเห็นว่าต้องเริ่มต้นจากการบอกเป้าหมายของข้อเสนอแต่ละข้อก่อนว่าเสนอเพื่อแก้ปัญหาอะไร สอดคล้องกับเรื่องอื่นๆ หรือเปล่า
“ไม่ควรมีเป้าหมายว่าให้ทุกฝ่ายพอใจในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ทุกฝ่ายพอใจ จึงต้องออกแบบทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ถ้าออกแบบด้วยการหยิบข้อเสนอหนึ่งมาวางแล้วเอาอีกข้อเสนอหนึ่งมาแปะ เอาอีกข้อเสนอหนึ่งมารวม แต่ระบบไม่สอดคล้องกันก็จะเป็นปัญหา ขาดเรื่องความสมดุลของโครงสร้างอำนาจซึ่งเป็นหัวใจของปัญหาการเมืองไทยมาโดยตลอด” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ยังกล่าวถึงข้อเสนอให้มีการออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับผู้ชุมนุมทางการเมืองเพื่อความปรองดองว่า เรื่องนี้ตนได้แสดงความเห็นกับกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วว่า ทุกครั้งที่มีการใช้คำว่าปรองดองมักเอามาบังหน้าเรื่องการนิรโทษกรรมการทุจริต ละเมิดชีวิตทรัพย์สินของบุคคลอื่น จนเป็นต้นเหตุของวิกฤตมาถึงทุกวันนี้ เป็นเรื่องที่ลืมไม่ได้ต้องไม่ทำให้ปัญหาซ้ำรอย เมื่อมีการกำหนดเรื่องปรองดองเป็นหมวดหนึ่งในรัฐธรรมนูญที่กำลังจะร่างใหม่ก็ต้องมีความชัดเจนว่าจะทำอย่างไร ซึ่งตนไปฝากข้อคิดไปแล้วว่าต้องดูจังหวะสถานการณ์ที่มีความนิ่ง หากสถานการณ์ไม่นิ่งจะเกิดคำถาม เช่น หากมีข้อเสนอนิรโทษกรรมย้อนหลังก็จะมีคำถามว่าคนที่ฝ่าฝืนกฎอัยการศึกในวันนี้จะได้รับการนิรโทษกรรมหรือไม่ คนที่ออกมาแสดงออกทางการเมืองในอนาคตจะได้รับการนิรโทษกรรมหรือเปล่า ถ้าได้รับการนิรโทษกรรม คสช.รับได้หรือไม่ เพราะจะทำให้การควบคุมสถานการณ์มีปัญหา แต่ถ้าไม่ให้ก็จะเกิดเงื่อนไขเรื่องสองมาตรฐานขึ้นมาว่า ทำไมชุมนุมทางการเมืองที่ผ่านมาได้แต่ยกเว้นตามที่ คสช.ห้าม
“บ้านเมืองมีปัญหามาก ทำอย่างไรเราจะแก้ปัญหาส่วนรวมให้มีความมั่นคง ถ้าหยิบยกเงื่อนไขที่ทำให้เกิดปัญหาปลีกย่อยนำไปสู่ความขัดแย้ง สุดท้ายเรื่องใหญ่จะไม่ได้ทำ แม้ว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นเครื่องมือในกระบวนการปรองดองแต่ขั้นตอนจะต้องเริ่มจากหลังการได้ข้อเท็จจริง มีข้อตกลงที่จะทำให้สถานการณ์หยุดนิ่ง จึงนำไปสู่เรื่องการนิรโทษกรรมที่มีขอบเขตชัดเจน แต่ของเราหยิบเรื่องนิรโทษกรรมก่อนทุกครั้งจนเป็นปัญหา ผมคิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำหนดเป็นประเด็นในอนาคตได้ และมีท่าทีจากกรรมาธิการยกร่างฯว่ามากที่สุดจะพูดถึงแค่องค์กรหรือกระบวนการในอนาคตมากกว่า ถ้าหยิบเนื้อหาสาระขึ้นมาจะเป็นความขัดแย้งที่เป็นปัญหาแน่ ผมจึงไม่ทราบว่าแนวคิดเรื่องนิรโทษกรรมจะกำหนดในรัฐธรรมนูญหรือออกเป็นกฎหมาย ถ้าเป็นรัฐธรรมนูญกรรมาธิการฯต้องให้คำตอบว่าจะทำอย่างไร แต่ถ้าเป็นการออกกฎหมาย คสช.และสนช.ต้องให้คำตอบว่าจะทำหรือไม่” นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์กล่าวต่อว่า สนับสนุนข้อเรียกร้องของนายแก้วสรร อติโพธิและคณะ ที่ออกมาผลักดันให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ที่ทำให้ขาดทุน 5.19 แสนล้านบาทจากโครงการจำนำข้าว เนื่องจากเป็นความเสียหายส่วนรวมที่รัฐบาลดูแลแทนประชาชน ดังนั้นหากมีความเสียหายจริง มีการทำผิด ต้องเรียกค่าเสียหายไม่เช่นนั้นจะเป็นภาระของประชาชนที่เสียภาษี รัฐบาลก็มีหน้าที่ดำเนินการฟ้อง ไม่ควรละเลยต้องไปดูข้อกฎหมายเพื่อดำเนินการต่อไป เพราะโดยหลักการแล้วคนที่สร้างความเสียหายต้องรับผิดชอบ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นว่าคนที่ใช้อำนาจแทนประชาชนทำความเสียหายแต่ภาระกลับตกอยู่กับประชาชน ยิ่งรัฐบาลมีแนวคิดไปกู้เงินมาใช้หนี้ภาระความเสียหายก็จะผูกพันไปยาว โดยในขณะที่กระทรวงการคลังมีการออกพันธบัตร 5 หมื่นล้านบาทเพื่อชำระหนี้จำนำข้าว ตนคิดว่าไม่ควรใช้วิธีการแบบนี้ทั้งหมด รัฐบาลต้องดูความเหมาะสม ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการผลักภาระให้อนาคต
“สิ่งที่รัฐบาลควรทำ คือ 1. เรียกความเสียหายจากผู้ที่สร้างความเสียหาย 2. บริหารการเงินการคลังให้เหมาะสม ความจริงตอนนี้เป็นโอกาสดีของรัฐบาลในแง่เศรษฐกิจ ผมไม่เข้าใจว่าทำไมรัฐบาลไม่พยายามใช้ประโยชน์ เช่น ราคาน้ำมันดิบที่ถูกมากในขณะนี้เพราะลดลง 30-40 เหรียญ แต่ไม่คืนกำลังซื้อให้กับประชาชน ไม่ดูโอกาสในการที่จะลดเรื่องภาระทางงบประมาณที่จะช่วยให้มีเงินไปทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์แทนการไปกู้เงินเพิ่มเติม ที่รัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจไม่ดีเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ในความเป็นจริงขณะนี้ตัวเลขที่เริ่มดีขึ้นกลับกลายเป็นการส่งออกที่กระเตื้องขึ้นมา จึงอยากให้รัฐบาลยอมรับอย่างตรงไปตรงมาว่าปัญหาเกิดจากเศรษฐกิจภายในประเทศที่มาจากการขาดกำลังซื้อของประชาชน ผมจึงไม่เข้าใจนโยบายพลังงานที่เป็นอยู่เพราะไม่ได้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงแต่เป็นการใช้โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบถูกมาเก็บเข้ารัฐบาลหรือให้ผู้ประกอบการแทนที่จะคืนกลับมาให้ประชาชน” นายอภิสิทธิ์กล่าว
ทั้งนี้ เมื่อเวลา 09.19 น. พรรคประชาธิปัตย์จัดพิธีลงนามถวายพระพร ชุมนุมสดุดีและบำเพ็ญกุศลถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ครบ 87 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม ที่ลานแม่พระธรณีบีบมวยผม สำนักงานใหญ่พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีนายอภิสิทธิ์ หัวหน้าพรรคเป็นประธานในพิธีพร้อมแกนนำพรรค เช่น นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษา นายบัญญัติ บรรทัดฐาน กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคและอดีต ส.ส. สมาชิกพรรคจำนวนมาก จากนี่นนายอภิสิทธิ์อ่านคำสดุดีเฉลิมพระเกียรติถวายพระพรชัยมงคล โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ 9 รูปมาร่วมสวดเจริญชัยมงคลคาถาเสร็จแล้วจึงถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ หลังเสร็จพิธีทางศาสนาแล้วนายอภิสิทธิ์จะเป็นประธานลงนามถวายพระพรออนไลน์ ตามด้วยผู้บริหารพรรคและสมาชิกพรรคและประชาชนผู้สนับสนุนพรรคในสื่อโซเซียลมีเดียที่พรรคจัดทำขึ้น