xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯถกกรอบรธน.วันนี้ ปมเลือกนายกฯ-ครม.ตรง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (1 ธ.ค.) นายประสาร มฤคพิทักษ์ โฆษกคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง แถลงหลังการประชุมว่าที่ประชุมมีการพิจารณาถึงข้อเสนอแนะของอนุกรรมาธิการปฏิรูปพรรคการเมือง และอนุกรรมาธิการปฏิรูปการเรียนรู้ โดยมีข้อสรุปในเรื่องระบบพรรคการเมือง 6 ประเด็น คือ
1. จะต้องพัฒนาสถาบันพรรคการเมืองให้มีความเข้มแข็ง สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมและตรวจสอบได้ โดยการส่งสมาชิกพรรคลงเลือกตั้ง ต้องได้รับความเห็นชอบจากสมาชิกพรรคในพื้นที่นั้นๆ เพื่อป้องกันไม่ให้นายทุนเข้าแทรกแซง
2. พรรคการเมืองมีหน้าที่พิทักษ์ผลประโยชน์แห่งชาติ
3. การยุบพรรคทำได้เฉพาะกรณีพรรคการเมืองทำความผิดร้ายแรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตย เป็นภัยต่อความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ แต่ในกรณีหัวหน้าพรรค หรือกรรมการบริหารพรรคกระทำทุจริตเลือกตั้งตาม มาตรา 237 ของรัฐธรรมนูญ 50 มีความเห็นแตกเป็น 2 แนวทาง คือ เห็นด้วยให้มีการยุบพรรคได้ กับ ไม่ควรยุบพรรคการเมืองในกรณีดังกล่าว เพราะที่ผ่านมาไม่สามารถแก้ปัญหาได้ จึงควรให้เป็นความผิดเฉพาะตัว
4. ต้องมีการสนับสนุนพรรคการเมืองโดยรัฐอย่างเหมาะสมและยุติธรรม
5. มีองค์กรตรวจสอบจริยธรรมพรรคการเมืองและผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
6. นักการเมืองต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมือง แต่ก็มีกรรมาธิการขอสงวนความเห็นว่า นักการเมืองจะเป็นสมาชิกพรรคการเมืองหรือไม่ก็ได้ เพื่อจะได้ไม่ตกอยู่ในอาณัติของฝ่ายนายทุนพรรค อย่างไรก็ตาม ต้องมีองค์กรควบคุมนักการเมือง ขณะที่นักการเมืองท้องถิ่นต้องเป็นสมาชิกพรรคการเมืองด้วยหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องมีการศึกษาเพิ่มเติม
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพิจารณาข้อเสนอของอนุกรรมาธิการด้านการปฏิรูป การเรียนรู้ การปรองดอง และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ในเบื้องต้นมี 3 ประเด็น ที่เห็นว่าควรบรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญ คือ
1. บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการศึกษาเรียนรู้ทางการเมืองตามสิทธิและหน้าที่พลเมืองโดยต้องกำหนดให้มีองค์กรรับผิดชอบที่ชัดเจน ซึ่งที่ประชุมพูดถึงว่าอาจจะเป็นกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันพระปกเกล้า มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ กกต. ที่ก็ทำเรื่องในเรื่องการส่งเสริมประชาธิปไตย และต้องมีกระบวนการการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน
2. รัฐต้องส่งเสริมให้มีกระบวนการและกลไกสร้างความปรองดอง เพื่อเสริมสร้างความเป็นเอกภาพของชาติ ทั้งยามปกติและกรณีที่เกิดความขัดแย้ง มีพื้นที่สาธารณะให้ประชาชนเพื่อสร้างวัฒนธรรมความปรองดอง และห้ามไม่ให้พรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองสร้างความขัดแย้งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
3. บุคคลย่อมมีสิทธิและหน้าที่ในการมีส่วนร่วมการใช้อำนาจรัฐและการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ รวมทั้งการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะและของรัฐ โดยส่งเสริมให้มีการตั้งสภาพลเมืองให้ทำหน้าที่ดังกล่าว ซึ่งรัฐต้องจัดให้มีระบบและกลไกส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้วย

**กมธ.ยกร่างฯพิจารณากรอบรธน.วันนี้

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวว่า ในวันนี้ (2 ธ.ค.) กมธ.ยกร่างฯ จะพิจารณารายงานและผลการพิจารณาของคณะอนุกมธ.กรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ทั้ง 10 คณะ โดยได้มีการวางกรอบพิจารณาเบื้องต้นคือ พิจารณาความเป็นไปได้ และตามแนวทางที่วางแนวทางไว้ภายใน กมธ.ยกร่างฯ โดยประเด็นข้อเสนอของอนุ กมธ.กรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะ เช่น การตั้งคณะกรรมการสันติภาพ หรือ Peace Comissioner,การนิรโทษกรรม, การเลือกตั้งคณะรัฐมนตรีโดยตรงนั้น คาดว่ากมธ.ยกร่างฯ จะรับฟังข้อเสนอและเหตุผลก่อน หากข้อมูล หรือประเด็นใดที่พิจารณาและเห็นว่าควรลงมติให้ตกไป ก็จะดำเนินการ แต่ต้องเป็นไปอย่างรอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นการชี้นำหรือข้อสรุปใดๆ ก่อนจะรับฟังความเห็น และข้อเสนอแนะต่อการร่างรัฐธรรมนูญจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

**"มาร์ค"ชี้จุดอ่อนเลือกนายกฯ-ครม.โดยตรง

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งครม. และนายกรัฐมนตรีโดยตรง ว่า ตนได้ให้ความเห็นกับกมธ.ยกร่างฯไปแล้วว่า ขอให้ตั้งโจทย์ในภาพรวมให้ชัดว่า สภาพปัญหาคือการไม่สามารถตรวจสอบการใช้อำนาจฝ่ายบริหารได้ ดังนั้นข้อเสนอก็ต้องแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ ไม่ใช่ทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น เพราะถ้าให้มีการเลือกผู้บริหารโดยตรง แต่ไม่ชัดเจนว่า เรื่องกลไกการตรวจสอบฝ่ายบริหารโดยสภา หรือฝ่ายอื่นจะเข้มแข็งอย่างไรก็จะเป็นอันตรายทำให้มีการอ้างความชอบธรรมจากการเลือกตั้งทำให้การตรวจสอบยากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะข้อเสนอที่ให้เลือกจากบัญชีรายชื่อเท่ากับเป็นการรวบอำนาจไว้ที่คนกลุ่มเดียว แต่ไม่สามารถตอบคำถามที่เป็นปัญหาอยู่ได้ จึงขอให้กรรมาธิการฯ ได้พิจารณาออกแบบทั้งระบบจึงจะตอบได้ว่า การเลือกฝ่ายบริหารโดยตรงจะแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึง การเลือกตั้งแบบเยอรมันว่า มีข้อดีสองประการ คือ 1 . คะแนนเสียงของประชาชนมีความหมายทุกคะแนนเสียงเป็นเป้าหมายที่ดี 2 . สัดส่วนในสภาจะสะท้อนคะแนนเสียงประชาชนมากกว่าการเลือกส.ส.เข้าไป แต่รายละเอียดจะมีความซับซ้อนพอสมควร จึงเห็นว่า ต้องเริ่มต้นจากการบอกเป้าหมายของข้อเสนอแต่ละข้อก่อน ว่าเสนอเพื่อแก้ปัญหาอะไร สอดคล้องกับเรื่องอื่นๆ หรือเปล่า
"ไม่ควรมีเป้าหมายว่า ให้ทุกฝ่ายพอใจในร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เพราะเป็นไปไม่ได้ ที่ทุกฝ่ายพอใจ จึงต้องออกแบบทั้งระบบให้สอดคล้องกัน ถ้าออกแบบด้วยการหยิบข้อเสนอหนึ่งมาวาง แล้วเอาอีกข้อเสนอหนึ่งมาแปะ เอาอีกข้อเสนอหนึ่งมารวม แต่ระบบไม่สอดคล้องกันก็จะเป็นปัญหา ขาดเรื่องความสมดุลย์ของโครงสร้างอำนาจ ซึ่งเป็นหัวใจของปัญหาการเมืองไทยมาโดยตลอด" นายอภิสิทธิ์ กล่าว

** กกต.ไม่ห่วงถูกลดอำนาจ

นายศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงกรณีที่ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกสปช. ในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณากรอบการจัดทำรัฐธรรมนูญ คณะที่ 8 เสนอให้มีการปรับปรุงโครงสร้าง และอำนาจของกกต. ให้มีอำนาจเพียงการสั่งให้เลือกตั้งใหม่ (ใบเหลือง) เท่านั้นว่า เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น ยังไม่ใช่ข้อสรุป ซึ่งต้องรอกฎหมายให้เป็นรูปเป็นร่างก่อน แต่ถ้าหากกระทบต่อตัวเราแล้วเราไปโต้แย้ง ก็จะบอกว่าเราหวงอำนาจอีก หากเราไปวิพากษ์วิจารณ์จะไม่ดี อย่างไรก็ตามรอให้กฎหมายออกมาก่อนแล้วค่อยมาคุยกันดีกว่า
ส่วนกรณีที่จะปรับโมเดลให้ใช้อำนาจพิจารณาแบบคณะลูกขุน มีวาระทำงานไม่เกิน 1 ปี ว่า นั้นก็เป็นความเห็นเหมือนกัน เช่นเดียวกันกับการปรับให้คณะกรรมการ กกต. มี 7 คน และไม่ให้มีกกต.ประจำจังหวัด ทั้งหมดนี้ก็ต้องรอกฎหมายว่าจะออกมาอย่างไร ถ้าเราพูดอะไรตอนนี้ก็เกิดเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนได้ หากกฎหมายออกมาจริง เราก็ต้องปฏิบัติตาม และตนก็ไม่หวั่นไหวว่าจะมีการลดอำนาจหรือไม่

**กมธ.ปฏิรูปสังคมชง 7ประเด็นบรรจุรธน.

นพ.อำพล จินดาวัฒนะ ประธาน กรรมาธิการปฏิรูปด้านสังคมฯ (กมธ.ปฏิรูปด้านสังคมฯ) แถลงว่า ที่ประชุม กมธ. มีมติเสนอให้บรรจุในรัฐธรรมนูญ 7 ประเด็น คือ 1. ให้ขยายขอบเขตความคุ้มครองของรัฐธรรมนูญไปถึง "มนุษย์ทุกคนที่มีลมหายใจอยู่บนผืนแผ่นดินไทย" ไม่เฉพาะประชาชนเท่านั้น เพื่อให้ครอบคลุมถึงคนหลายกลุ่ม จะได้ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ 2. เสนอให้จัดสรรบุคคลในการดำรงตำแหน่งต่างๆ ในกลไกลรัฐทุกระดับ ต้องมีสัดส่วนของเพศตรงข้ามไม่น้อยกว่า 3 ใน 10 เพื่อเกิดความเสมอภาคเท่าเทียมกัน 3. เสนอให้เขียนเรื่องสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจนในการกำหนดอนาคตตนเอง ชุมชนสามารถเป็นนิติบุคคล โดยรัฐต้องสนับสนุนให้จัดการกิจการสาธารณะ ดูแลทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมสนับสนุนสัมาอาชีพให้สอดคล้องกับแนวคิด"ทุนสัมมา"
4. เสนอขยายสิทธิของประชาชน อาทิ สิทธิของบุคคลในการรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมาย สิทธิของแรงาน สิทธิรวมตัวกันเป็นพื้นที่วัฒนธรรมเฉพาะกลุ่ม เป็นต้น โดยรัฐสิทธิดังกล่าว ต้องกำหนดสิทธิในการเข้าถึง และใช้ประโยชน์ควบคู่ เพื่อให้เกิดความคุ้มครอง 5. เสนอให้มีการกำหนดหน้าที่พลเมืองว่า ทุกคนมีหน้าที่ในการร่วมพัฒนาประเทศชาติ อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ศิลปวัฒนธรรมประเพณี โดยรัฐมีหน้าที่ในการพัฒนาศักยภาพการทำหน้าที่พลเมือง สามารถรวมตัวกันเป็นเครือข่ายพลังพลเมืองได้
6. เสนอการกำหนดให้สถาบันครอบครัว มีหน้าที่พัฒนาสมาชิกในครอบครัวให้เป็นพลเมืองดี สร้างครอบครัวอบอุ่น พ่อแม่มีสิทธิ์ลาเพื่อดูแลบุตรในระยะเวลาที่เพียงพอ สร้างระบบกลไกที่เสริมครอบครัวสามารถสร้างให้เด็กแรกเกิดใหม่มีคุณภาพได้ และ 7. เสนอให้จัดระบบ และกลไกในการทำให้เกิดสังคมคุณธรรม ที่เกื้อกูล เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพผู้อื่น และมีมาตรการกำจัดการทุจริตอย่างเด็ดขาด
" ยืนยันว่า เราไม่ได้มองเพียงแค่ 7 ประเด็นที่ได้เสนอเท่านั้น แต่เห็นว่าอะไรที่ดีอยู่แล้วในรัฐธรรมนูญฉบับเดิมก็ยังคงต้องใช้อยู่ ส่วน 7 ประเด็นนี้ เป็นส่วนเพิ่มเติมที่จะเสนอไป โดยในช่วงบ่าย (1ธ.ค.) กมธ.ปฏิรูปด้านสังคม จะมีการประชุมอีกครั้ง ก่อนเสนอให้ กมธ.ยกร่างฯ และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช. ) ต่อไป " นพ.อำพล กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น