โฆษก กมธ.ยกร่างฯ เผยยึดพระราชดำรัส ไม่ให้ รธน.ใหม่เนื้อหายาวเกิน แจงกรอบดำเนินงาน เริ่ม 1 ธ.ค. วาง 17 เม.ย. 58 วันสุดท้ายจัดแนวทางร่าง รธน.ให้เสร็จ 4 ก.ย. 58 ปธ.สปช.ต้องนำร่าง รธน.ทูลเกล้าฯ ถวาย ยกบทเรียน รธน.40-50 ทำ กม.ประกอบ รธน.ใช้ได้จริง ไม่ชัวร์ทำประชามติ-องค์กรอิสระพ้นเก้าอี้ เผย พธม.-นปช.เมินร่วมแนะ กมธ. ปชป.เลื่อน พท.ยังไม่ประสาน
วันนี้ (21 พ.ย.) ที่รัฐสภา นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงผลการประชุมว่า กมธ.ยกร่างฯ มีมติจะขอน้อมนำพระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระราชทานแก่สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2540 ซึ่งมีสาระสำคัญว่าการร่างรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายแม่บท ถ้ามีข้อความมากเกินไปจะลำบากในการสร้างรัฐธรรมนูญที่เหมาะสม จึงควรมีการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่ง กมธ.ยกร่างฯ จะยึดถือเป็นต้นแบบในการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยจะไม่ให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีเนื้อหาที่ยาวจนเกินไป โดยจะบรรจุแต่หลักการสำคัญไว้ ส่วนรายละเอียดของเนื้อหาจะนำไปบัญญัติในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นไปตามแนวทางที่ กมธ.ยกร่างฯ ได้ประชุมร่วมกับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 18 พ.ย.ที่ผ่านมา
นายคำนูณกล่าวว่า ขณะเดียวกัน กมธ.ยกร่างฯ ได้มีการจัดทำกรอบเวลาการดำเนินงานยกร่างฯ ทั้งกระบวนการ ตามลำดับดังนี้ วันที่ 1 ธ.ค. อนุ กมธ.10 คณะ ส่งกรอบแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ กมธ.ยกร่างฯ วันที่ 1-10 ธ.ค. กมธ.ยกร่างฯพิจารณากรอบแนวทางยกร่างฯ เบื้องต้น วันที่ 15-17 ธ.ค.กมธ.ยกร่างฯ ร่วมประชุมกับ สปช.เพื่อรับฟังความเห็น วันที่ 18-26 ธ.ค. กมธ.ยกร่างฯ แก้ไขกรอบแนวทางเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ วันที่ 19 ธ.ค. สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะเสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อ กมธ.ยกร่างฯ วันที่ 5 ม.ค. 58 กฤษฎีกายกร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นเป็นรายมาตราด้วยภาษากฎหมายตามกรอบแนวทางการยกร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 17 เม.ย. 58 เป็นวันสุดท้ายที่ กมธ.ยกร่างฯ จะจัดทำแนวทางร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ จากนั้นเสนอร่างรัฐธรรมนูญต่อประธาน สปช. และเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) และคสช.ด้วย
วันที่ 6 เม.ย. 58 วันสุดท้ายที่ สปช.ต้องพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จ วันที่ 16 พ.ค. 58 วันสุดท้ายที่ ครม.และ คสช.สามารถเสนอความเห็นหรือยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติม วันที่ 25 พ.ค. 58 วันสุดท้ายที่ สปช.ยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่อ กมธ.ยกร่างฯ วันที่ 23 ก.ค. 58 วันสุดท้ายที่ กมธ.ยกร่างฯ ต้องพิจารณาคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้แล้วเสร็จ และเสนอสปช.ให้พิจารณา วันที่ 6 ส.ค. 58 วันสุดท้ายที่ สปช.ต้องมีมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ และวันที่ 4 ก.ย. 58 วันสุดท้ายที่ประธานสปช.ต้องนำร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย
นายคำนูณกล่าวว่า สำหรับการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ทางคณะอนุ กมธ.จัดทำข้อเสนอแนะในการตราหรือแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ที่มีนายเจษฎ์ โทณะวณิก เป็นประธาน จะเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณา ซึ่งสาเหตุที่ กมธ.ยกร่างฯ ให้ความสำคัญกับการร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เนื่องจากได้มีการนำบทเรียนการใช้รัฐรัฐธรรมนูญปี 40 และ 50 มาทบทวน โดยพบว่ารัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ มีหลักการที่ดี แต่ไม่ได้ถูกนำไปปฏิบัติใช้จริง โดยมีสาเหตุมาจากไม่มีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญเพื่อรองรับในการปฏิบัติ ดังจะเห็นได้จากการบังคับใช้รัฐธรรมนูญ 50 ที่มีการกำหนดเวลาให้ออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ แต่ไม่มีการดำเนินการ ดังนั้นรัฐธรรมนูญในอนาคตจะต้องมีบทบัญญัติที่บังคับให้มีการออกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปอย่างแท้จริง
นายคำนูณกล่าวอีกว่า สำหรับร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่คาดว่าจะมีการตราออกมามีด้วยกันหลายฉบับ เช่น ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการการเลือกตั้ง, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง, ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยพรรคการเมือง, ร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับวินัยการเงิน การคลัง รวมถึงร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นต้น แต่ท้ายที่สุดจะมีกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญกี่ฉบับขึ้นอยู่กับโครงสร้างของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญมากหรือน้อย สำหรับขั้นตอนในการเสนอกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 มาตรา 39 กำหนดให้เป็นหน้าที่ของ กมธ.ยกร่างฯ ในการเสนอกฎหมายลูกให้กับสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นผู้พิจารณา แต่ในขั้นตอนปฏิบัติจริงหากกฎหมายใดเป็นกฎหมายการเงิน กมธ.ยกร่างฯ อาจจะต้องเสนอให้ ครม.พิจารณา และเป็นผู้ส่งมายัง สนช.
เมื่อถามถึงความชัดเจนเกี่ยวกับการทำประชามติในร่างรัฐธรมมนูญฉบับใหม่ ภายหลังนายสมหมาย ภาษี รมช.คลัง บอกว่ารัฐบาลเห็นด้วยกับการทำประชามติในเรื่องดังกล่าว นายคำนูณกล่าวว่า จนถึงขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวที่บังคับใช้อยู่ในปัจจุบันยังไม่มีการแก้ไข เพื่อเปิดช่องให้มีการทำประชามติ แต่หากมีการทำประชามติ จะมีผลให้กระบวนการที่กำหนดไว้ในปฏิทินล่าช้าออกไปอีก 3 เดือน
เมื่อถามว่า หากมีการยกร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับองค์กรอิสระฉบับใหม่ จะมีผลให้ผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระปัจจุบันพ้นจากตำแหน่งหรือไม่ นายคำนูณกล่าวว่า ทั้งหมดขึ้นอยู่กับการกำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ ว่าจะมีการบัญญัติถึงสถานะขององค์กรอิสระอย่างไร
นายคำนูณกล่าวอีกว่า ได้รับการประสานอย่างเป็นทางการว่ากลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.) ว่าจะไม่เข้าร่วมแสดงความเห็นต่อ กมธ.ยกร่างฯ ส่วนพรรคประชาธิปัตย์ได้ขอเลื่อนกำหนดวันแสดงความคิดเห็นออกไปก่อน ส่วนพรรคเพื่อไทยก็ยังไม่ได้รับการประสานเช่นกัน จึงคิดว่าในกรณีที่นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นต่อ กมธ.ยกร่างฯ ในนามส่วนตัวคงไม่สามารถทำได้ เพราะจะต้องได้รับมอบหมายจากหัวหน้าพรรค หรือคณะกรรมการบริหารพรรคก่อน