xs
xsm
sm
md
lg

"บวรศักดิ์"ปัด"มีชัย"จุ้น ยันไม่มีล้วงลูกยกร่างรธน.เริ่มปีใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึง ภารกิจของสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่ต้องเร่งทำว่า นายเทียนฉาย กีรนันท์ ประธาน สปช.ได้ให้นโยบายว่า เรื่องที่เป็นข้อบังคับ ซึ่งเคยใช้กับสภาคงนำมาใช้กับ สปช.ลำบาก ดังนั้นในบางเรื่องจะใช้วิธีการยกมือแทน เว้นแต่เรื่องจำเป็น เช่น การรับรองร่างรธน. จะใช้วิธีเสียบบัตรลงคะแนน นอกจากนี้มีการพูดถึงการเตรียมการสนับสนุนสมาชิก สปช. ในเรื่องการจัดทำร่างกฎหมาย เพราะถ้าไม่เตรียมการช่วยเหลือ สมาชิกจะยกร่างไม่เป็น
"ประธาน สปช.ได้ให้นโยบายที่สำคัญคือ สปช. ควรทำปฏิทินกำหนดเวลาทำงานให้เหมือนกับกมธ.ยกร่างฯ ซึ่งสปช.และสนช. ได้ทำรายงานให้ครม.และคสช.สัปดาห์ละครั้ง ดังนั้น สปช.ต้องกำหนดตารางการทำงานให้ชัดเจนมากขึ้น"
นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวถึงการนัดตรวจการบ้าน อนุกมธ.ยกร่าง 11 คณะ ในวันที่ 1 ธ.ค. ว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้ตั้งอนุกมธ. 11 ชุด เพื่อจัดทำกรอบความคิดในการร่างรธน. ซึ่งจะนำความเห็นพรรคการเมืองที่รับฟังไว้ มาบรรจุในกรอบด้วย และคาดว่าในวันที่ 1 ธ.ค.นี้ จะได้หลักการสำคัญที่อนุกมธ. ทั้ง 11 ชุด เห็นว่าควรกำหนดไว้ในรธน. จากนั้นกมธ.ยกร่างฯ จะหารือตั้งแต่วันที่ 2-9 ธ.ค. เพื่อรอการประชุมสภาปฏิรูปฯ ในวันที่ 10 ธ.ค. และคณะกมธ.วิสามัญของ สปช.ทุกคณะ จะต้องส่งความเห็นที่จะให้ใส่ในร่างรธน. มายังนายเทียนฉาย จากนั้นสปช. จะประชุมในวันที่ 15-16 ธ.ค. ก่อนที่จะส่งความเห็นที่ สปช. ลงมติแล้ว ให้กมธ.ยกร่างฯ ภายในวันที่ 19 ธ.ค. โดยเป็นไปตามเงื่อนไขที่รธน.ชั่วคราวปี 2557 กำหนดว่า ความเห็นที่จะเสนอให้กมธ.ยกร่างฯ ต้องเป็นมติของ สปช. โดยในวันที่ 19 ธ.ค. ทางกมธ.ยกร่างฯ จะนำความเห็นดังกล่าวมาประชุมหารือกัน ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาพิจารณาไม่เกินวันที่ 29 ธ.ค. ก็จะได้กรอบการยกร่างรธน. ทั้งหมด และลงมือยกร่างได้หลังปีใหม่ โดยจะมีทีมงานของกฤษฎีกา มารับฟังความเห็นจากอนุกมธ.ฯ ชุดต่าง ๆ เพื่อยกร่างรธน. ในเบื้องต้น
เมื่อถามว่า การที่ ครม.ตั้งนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ติดตามการยกร่างรธน. คิดอย่างไร นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ได้ตั้งนายมีชัย สื่อเข้าใจผิด เพราะครม.พูดถึงคณะติดตามของครม.และคสช. ตามที่รธน.ได้กำหนดไว้ ดังนั้นครม.และคสช.จึงต้องมีคนคอยทำการบ้านให้ ครม. จึงให้คณะที่ปรึกษาเดิมของคสช.ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน เพิ่ม นายมีชัย เข้าไป เป็นฝ่ายติดตามกำหนดให้ครม.และคสช. เสนอคำขอแก้ไขเพิ่มเติมรธน. การร่างรธน. ไม่ใช่ตั้งนายมีชัย ขึ้นมาคนเดียว โดยกมธ.ยกร่างฯ ก็มีมติที่จะส่งรายงานไปถึง ประธาน สปช. ประธาน สนช. นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ทุกสัปดาห์ เพื่อจะได้ติดตามแผนการดำเนินงานของ กรรมาธิการยกร่างฯได้อย่างใกล้ชิด แต่นายมีชัย ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการยกร่างรธน. ของกรรมาธิการฯ
"ยืนยันการทำงานของกมธ.ยกร่างฯ รัฐบาลไม่สามารถเข้ามาล้วงลูกได้ เพราะเป็นการทำงานของคน 36 คน หากปล่อยให้ล้วงลูกโดยไม่เป็นข่าว ก็เก่งมาก แต่หากจะมีการให้คำแนะนำ ก็เป็นเรื่องของคณะที่ปรึกษาคสช. ไม่ใช่ในนามของ นายมีชัย โดยการให้ความเห็น ก็สามารถเสนอมายังกมธ. ได้เช่นเดียวกับประชาชนทั่วไป สปช. พรรคการเมือง รวมถึง ครม.ด้วย"
ส่วนที่นายกฯขอให้มีการยกร่างกฎหมายลูก ควบคู่ไปกับการร่างรธน. ตน ยังไม่ขอพูด เพราะต้องดูว่ารธน. จะออกมาอย่างไร จะสมมติก่อนไม่ได้
นายบวรศักดิ์ ยังกล่าวกรณีที่นายกฯ เปิดทางให้มีการทำประชามติ ร่างรธน.ว่า ยังไม่ได้เปิดทาง ใครบอกว่าเปิด ส่วนตัวเห็นว่าควรจะทำประชามติ แต่นายกฯ บอกว่ารอถึงเวลาก่อนค่อยพูด เพราะเป็นอำนาจของครม. และคสช. ที่จะแก้รธน. ให้มีการทำประชามติหรือไม่ทำ เมื่อถามย้ำว่า กระแสจากหลายฝ่ายเห็นควรว่า ต้องทำประชามติ นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า เป็นเรื่องดี สามารถแสดงความเห็นได้


** พรรคมาตุภูมิเน้นปราบทุจริต

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลง ภายหลังพรรคมาตุภูมิ เข้าให้ข้อคิดเห็นต่อกมธ.ยกร่างฯ ว่า พรรคมาตุภูมิเสนอให้มีการวางกลไก ป้องกันการทุจริต ให้คดีทุจริตไม่ควรมีการอายุความ เพิ่มโทษผู้กระทำผิดเป็น 2 เท่า หรือให้ผู้กระทำผิดรับโทษครึ่งหนึ่งของทั้งหมด ก่อนให้มีการผ่อนผัน บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการซื้อจัดจ้างที่อาจส่อต่อการทุจริตอย่างจริงจัง ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ตั้งแต่ตำรวจ ถึงศาลยุตธิกรรม ทั้งยังควร ปรับปรุง พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ ให้มีประสิทธิภาพและมั่นคง
ส่วนการเข้าสู่ระบบทางการเมือง โดยเฉพาะการคัดเลือกนายกรัฐมนตรี มี 2 ความเห็น คือ ให้ทั้ง ส.ส. และส.ว. เป็นผู้เลือกบุคคลที่เป็นส.ส. หรือ ส.ว. ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีได้ หรือให้ ส.ส.และส.ว. คัดเลือกบุคคลภายนอกมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้

** "มาร์ค" ขอเลื่อนออกไปก่อน

พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวว่า สำหรับในสัปดาห์หน้า พรรคประชาธิปัตย์ ได้แจ้งขอเลื่อนเข้าหารือ จากกำหนดการเดิม ในวันที่ 24 พ.ย. เนื่องจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ติดภารกิจในต่างประเทศ ซึ่งตนเชื่อว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเข้าร่วมให้ความคิดเห็นต่อกรรมาธิการยกร่างฯ ภายใน 2 สัปดาห์แน่
สำหรับการทำงานของ กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 25 พ.ย. ก็จะมี ตัวแทนจากมวลชนกลุ่มกปปส. พร้อมด้วย นายสุริยะใส กตะศิลา ตัวแทนจากมวลชนกลุ่มพันธมิตร เข้ามาแสดงความคิดเห็น และเสนอแนะ
พล.อ.เลิศรัตน์ กล่าวอีกว่า ส่วนพรรคเพื่อไทย และกลุ่มนปช. คาดว่า จะไม่มาเข้าร่วมกับกมธ.ยกร่างฯ อย่างแน่นอน เนื่องจากมีผู้ใหญ่ในพรรคไม่เห็นด้วย แต่เราก็จะประสานความร่วมมือ เพื่อขอความคิดเห็นจากพรรคเพื่อไทย และนปช. ในรูปแบบอื่นๆต่อไป โดยในวันที่ 20 พ.ย.นี้ กมธ.ยกร่างฯ ได้ทำแบบสอบถามความคิดเห็นต่อการร่างรธน. ไปยัง 74 พรรคการเมืองเรียบร้อยแล้ว
ด้านนายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า หลังจากที่พรรคส่งหนังสือถึง คสช. เพื่อขอให้ผ่อนปรน กฎอัยการศึก ให้พรรคการเมืองสามารถประชุมได้นั้น ขณะนี้ คสช.ยังไม่ได้ส่งหนังสือตอบกลับมาว่าจะอนุญาตให้ประชุมพรรคหรือไม่ จึงได้มีการประสานไปยังกมธ.ยกร่างฯ ขอเลื่อนการให้ความคิดเห็น จากวันที่ 24 พ.ย. ออกไปก่อน ซึ่งต้องรอความชัดเจนจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่คาดว่าจะเดินทางจากการกลับจากประเทศจีน ในวันที่ 22 พ.ย.นี้ คาดว่าจะมีการหารือภายในระหว่างแกนนำพรรคถึงท่าทีเรื่องนี้


**กปปส.เสนอ กกต.ห้ามแจกใบแดง

นายถาวร เสนเนียม แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องลดอำนาจองค์กรอิสระ ว่า ต้องพูดให้ชัดว่า จะลดอำนาจอะไร เช่น อำนาจด้านตุลาการควรลด ต้องมีศาลเลือกตั้งขึ้นมา และ 3 อำนาจ ได้แก่ อำนาจด้านบริหาร อำนาจตุลาการ และ อำนาจนิติบัญญัติ ก็อาจไม่ต้องอยู่ภายในองค์กรอิสระ อาทิ กกต. ที่ไม่ควรมีอำนาจในการให้ใบเหลือง ใบแดง การลงโทษควรอยู่ที่ศาล ซึ่งอาจตั้งแผนกศาลเลือกตั้งขึ้นมาที่ศาลไหนก็ได้ แนวทางนี้กปปส. สนับสนุน เพราะประสิทธิภาพการบังคับใช้กฎหมายเป็นเรื่องใหญ่ เป็นจิตสำนึกของคนในองค์กรที่ต้องปฏิรูปด้วย ซึ่งอำนาจเบ็ดเสร็จอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) จะทำหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น