ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติผ่านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง (ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม) พ.ศ. ... ในวาระแรก เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ในการประชุม สนช.เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา
เป็นการผ่านร่างกฎหมายที่กล่าวได้ว่า มีเสียงคัดค้านอย่างมีนัยสำคัญที่สุด ในยุคที่กลไกการบริหารประเทศอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ซึ่งเป็นผู้คัดเลือก สนช.อย่างเบ็ดเสร็จ
ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวนี้ มีหลักการและเหตุผลสรุปได้ว่า องค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองที่ผ่านมา ได้บัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยมิได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 สมควรกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการเลือก และการพ้นจากตำแหน่ง ของกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับการกำหนดบทบัญญัติดังกล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระแสข่าวว่า สนช.จะบรรจุร่างกฎหมายฉบับนี้ เข้าสู่วาระการพิจารณา ก็มีเสียงคัดค้านดังขึ้นมาทันที โดยเมื่อวันที่ 10 ก.ย. ที่รัฐสภา ตัวแทนตุลาการศาลปกครองจำนวน 101 คน ได้ลงชื่อในหนังสือส่งถึงนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เพื่อขอให้ระงับ หรือชะลอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฯ ออกไปก่อน เนื่องจากสำนักงานศาลปกครองและผู้บริหารศาลปกครอง ซึ่งเป็นผู้เสนอร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่ได้มีการเสนอร่างฯ ให้คณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ซึ่งเป็นองค์กรสูงสุดของศาลปกครองพิจารณา รวมทั้งไม่เคยเปิดเผยและรับฟังความคิดเห็นจากตุลาการทั้งศาล ทั้งที่ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับ ก.ศป. ที่บทเฉพาะกาลในมาตรา 12 และมาตรา 13 บัญญัติว่าให้มีการเลือก ก.ศป. ผู้ทรงคุณวุฒิจากตุลาการ และจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) และจากวุฒิสภาใหม่ ภายในระยะเวลา 60 วัน และในระหว่าง 60 วันนี้ ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทำหน้าที่แทน ก.ศป.
ต่อมา ในวันที่ 11 ก.ย.ที่สำนักงานศาลปกครอง นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมด้วย รองประธานศาลปกครอง ผู้บริหารศาลปกครอง และผู้พิพากษาศาลปกครอง ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ ประมาณ 200 คน ได้ร่วมประชุมผ่านวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกรณีที่ตุลาการศาลปกครองได้รวบรวมรายชื่อคัดค้านและขอให้ชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ โดยไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังแต่อย่างใด
ภายกลังการประชุม บุคลากรของศาลปกครองได้ออกเอกสารข่าวระบุว่า ประธานศาลปกครองสูงสุดร่วมกับรองประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ชี้แจงในประเด็นองค์ประกอบของ ก.ศป.ที่ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 226 ของรัฐธรรมนูญ 2550 โดยไม่ได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ภายหลังรัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในสถานะทางกฎหมายของ ก.ศป. จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติทางกฎหมายโดยการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดองค์ประกอบของ ก.ศป. ไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ 2550 ทั้งนี้ เพื่อให้งานของศาลปกครองดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมิให้เกิดข้อขัดข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครอง
ในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดองค์ประกอบของ ก.ศป.ดังกล่าว ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นมาก่อนแล้ว ด้วยการทำหนังสือสอบถามความเห็นของตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2557 โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจ 107 ราย ผลปรากฏว่ามีผู้ที่เห็นด้วย 98 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.59 ไม่เห็นด้วยเพียง 9 รายเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม การเคลื่อนไหวคัดค้านการเสนอร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ก็ยังมีอยู่ต่อไป โดยเมื่อ วันที่ 17 ก.ย. ที่สำนักงานศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ นางสิริกาญจน์ พานพิทักษ์ ตุลาการหัวหน้าคณะศาลปกครองกลาง พร้อมด้วยตุลาการศาลปกครองจำนวนหนึ่ง ได้ถวายพวงมาลัยและกล่าวคำสักการะพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) เพื่อขอพระบารมีดลบันดาลให้ตุลาการศาลปกครองมีกำลัง สติปัญญา ในการต่อสู้คัดค้านร่างแก้ไข พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อบ้านเมือง และขอให้ สนช.พิจารณาร่างกฎหมายได้ตระหนักถึงผลที่เกิดจากกฎหมายดังกล่าว
นางสิริกาญจน์กล่าวหลังการถวายสักการะว่า ร่างแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะมีผลเกี่ยวกับการสรรหาคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง มีการปลดกรรมการ ก.ศป.ที่เป็นตัวแทนของตุลาการทั้งหมดในศาลปกครองชั้นต้นและศาลปกครองสูงสุด ที่มาจากการเลือกตั้งโดยชอบธรรม และให้ที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดทำหน้าที่แทน ก.ศป.ซึ่งคณะตุลาการศาลปกครองไม่เห็นด้วยเพราะที่ประชุมใหญ่ในศาลปกครองสูงสุดมีหน้าที่พิจารณาคดีเพียงอย่างเดียว จึงไม่ควรมายุ่งเรื่องการบริหารกิจการภายใน
หลังจากนั้น ตัวแทนของคณะตุลาการศาลปกครองได้เดินทางไปที่รัฐสภา เพื่อชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญสนช. หรือ วิปฯ สนช. โดยมีนายประสาท พงษ์สุวรรณ ในฐานะตัวแทนตุลาการศาลปกครองเข้าขี้แจง ยืนยันว่า การพิจารณากฎหมายฉบับดังกล่าวไม่มีความจำเป็น แต่หากจะเดินหน้าพิจารณาทางตุลาการศาลปกครองจะขอเข้าร่วมเป็นกรรมาธิการด้วย
ในที่สุด ที่ประชุม สนช.เมื่อวันที่ 18 ก.ย.ก็มีมติเห็นชอบรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ 130 ต่อ 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 17 คน โดยมีตัวแทนจากตุลาการศาลปกครองที่มีความเห็นแย้งกันจำนวน 4 คนร่วมด้วย โดยมี สนช.หลายคนอภิปรายไม่เห็นด้วย อาทิ
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ที่อภิปรายว่า ร่างฯ นี้มีปัญหาคือมาตรา 12 และมาตรา 14 ที่บัญญัติเสมือนว่า ก.ศป.ชุดปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว ทั้งที่ยังเหลืออยู่ 8 คน จากทั้งคณะที่มี 13 คน เท่ากับว่าเกินกึ่งหนึ่ง และจะหมดวาระในเดือนเมษายนปีหน้า จึงเป็นปัญหาว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านแสดงว่า ก.ศป.ทั้ง 8 คนไม่มีอยู่แล้วจริงหรือ นอกจากนี้มีความพยายามจากฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยร้องเรียนมายัง สนช. ว่า แม้รัฐธรรมนูญปี 50 จะหมดไป แต่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ศาลปกครองอยู่ต่อไป
นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ อภิปรายว่า ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้ยึดตามประเพณีปฏิบัติ แม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม ซึ่งขณะนี้ กศป. ก็ยังคงทำหน้าที่ มีการประชุมแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ ซึ่ง กศป.มีอายุไปถึง เม.ย. 58 ดังนั้น การตีความกฎหมายเราต้องตีความให้กฎหมายยังอยู่ และใช้ได้ เพราะหากยกเลิก ก.ศป.ชุดเดิมก็ถือว่าไม่เป็นธรรม
นพ.เจตน์ ศิรธานนท์ อภิปรายว่า ตนไม่สบายใจที่เห็นหนังสือร้องเรียนจากศาลปกครอง 101 คน แสดงว่าเกิดความแตกแยกในชั้นตุลาการศาลปกครอง ทั้งชั้นสูงสุดและชั้นต้น การเกิดความแตกแยกในสถาบันที่ผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าบริหารจัดการไม่ดีจะเกิดวิกฤตศาลปกครองขึ้นได้ และหากตุลาการศาลปกครองไม่สบายใจก็ทำงานไม่เป็นกลางอย่างที่ควรจะเป็น แล้วประชาชนจะได้รับความยุติธรรมอย่างไร
ได้แต่หวังว่า สิ่งที่ นพ.เจตน์แสดงความกังวลเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ นั้น จะได้รับการแก้ไขในชั้นการแปรญัตติ เพื่อให้สถาบันตุลาการยังคงเป็นที่พึ่งของประชาชนในการแสวงหาความเที่ยงธรรมต่อไป