xs
xsm
sm
md
lg

สนช.ไม่สนเสียงค้าน 101 ตุลาการ ผ่านวาระ 1 ร่างกฎหมายศาลปกครอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุม สนช. ผ่านวาระ 1 ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง 130 ต่อ 5 เสียง ดึงตัวแทนตุลาการเห็นแย้ง 4 คนเข้าร่วม กมธ.วิสามัญ ไม่สนหนังสือร้องเรียน 101 ตุลาการศาลปกครอง “หมอเจตน์” เตือนจัดการไม่ดีเกิดวิกฤตแน่ ประชาชนไม่ได้รับความยุติธรรม “ครูหยุย” ชี้กฎหมายมีจุดอ่อน ยันไม่รับหลักการ



วันนี้ (18 ก.ย.) ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาศาลปกครอง พ.ศ. ... โดยมีหลักการและเหตุผลโดยองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองที่ผ่านมา ได้บัญญัติไว้เฉพาะในรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 และ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 โดยมิได้บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 สมควรกำหนดบทบัญญัติเกี่ยวกับองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครองไว้ใน พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติมคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม วิธีการเลือก และการพ้นจากตำแหน่ง ของกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ผู้ทรงคุณวุฒิให้สอดคล้องกับการกำหนดบทบัญญัติดังกล่าว

ทั้งนี้ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ดูเผินๆ เหมือนไม่มีปัญหา แต่ที่มีปัญหาคือมาตรา 12 ที่ให้ดำเนินการเลือก ก.ศป. ผู้ทรงคุณวุฒิให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ พ.ร.บ.มีผลใช้บังคับ มาตรา 13 ระหว่างที่ยังมิได้มี ก.ศป. ให้ที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดทำหน้าที่เป็น ก.ศป. ไปพลางก่อน จนกว่าจะมี ก.ศป. ตาม พ.ร.บ.นี้ และมาตรา 14 มติหรือการให้ความเห็นชอบของ ก.ศป. ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันที่รัฐธรรมนูญ 2550 สิ้นสุดลง ที่ได้ดำเนินการไปในช่วงเวลานับแต่วันที่ 22 พ.ค. 57 จนถึงวันก่อนวันที่ พ.ร.บ. นี้ มีผลบังคับใช้ ให้ถือว่ามติ หรือการให้ความเห็นชอบนั้นเป็นการปฏิบัติหน้าที่ของ ก.ศป. ซึ่งการบัญญัติดังกล่าวเสมือนว่า ก.ศป. ชุดปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว ทั้งที่ยังเหลืออยู่ 8 คน ทั้งคณะมี 13 คน พ้นไปแล้ว 5 คน ที่เหลืออยู่ยังเกินกึ่งหนึ่ง และจะหมดวาระในเดือนเมษายนปีหน้า จึงเป็นปัญหาว่าหากกฎหมายฉบับนี้ผ่านแสดงว่า ก.ศป. ทั้ง 8 คนไม่มีอยู่แล้วจริงหรือ นอกจากนี้มีความพยายามฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยร้องเรียนมายัง สนช. ว่า แม้รัฐธรรมนูญปี 50 จะหมดไป แต่คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศให้ศาลปกครองอยู่ต่อไป

“ดังนั้น เมื่อแม่อยู่ ลูกก็ยังต้องอยู่ แต่ฝ่ายเสนอกฎหมายอ้างว่าได้ทำประชาพิจารณ์แล้ว ด้วยการออกแบบสอบถาม แต่เป็นการสอบถามเพียงข้อเดียวว่า ควรให้มีศาลปกครองอยู่ต่อไปหรือไม่ เป็นการตั้งคำถามแบบชี้นำไม่รอบด้าน เมื่อมีข้อถกเถียงได้มีการประชุมกันในตุลาการศาลปกครองสูงสุด มีการแจ้งว่าประธานได้ถามไปยังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แล้ว โดย คสช. บอกให้ชุดปัจจุบันอยู่ปฏิบัติหน้าที่จนหมดวาระ หากยอมรับการคงสถานภาพว่าให้อยู่ต่อไปโดยไม่มีข้อแม้ ดังนั้น ตนเสนอให้ตัดทั้ง 3 มาตรานี้ออกไป เพื่อขอให้ ก.ศป. ที่เหลืออยู่จนครบวาระ แล้วเลือกส่วนที่ขาดไป เพราะเราเคยเจอวิกฤตตุลาการมาแล้ว อย่าให้เกิด กศป. อีกเลย หากไม่มีการเปลี่ยนแปลง จะเป็นฉบับแรกที่ผมไม่รับหลักการเลย” นายวัลลภ กล่าว

ด้าน นายสมคิด เลิศไพฑูรย์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ในมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ให้ยึดตามประเพณีปฏิบัติ แม้จะไม่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญก็ตาม ซึ่งขณะนี้ กศป. ก็ยังคงทำหน้าที่ มีการประชุมแต่งตั้งโยกย้ายอยู่ ซึ่ง กศป. มีอายุไปถึง เม.ย. 58 ดังนั้น การตีความกฎกมายเราต้องตีความให้กฎหมายยังอยู่ และใช้ได้ เพราะหากยกเลิก ก.ศป. ชุดเดิมก็ถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะส่วนใหญ่ก็มาจากการเลือกตั้งภายในศาลปกครองเอง เราอาศัยอำนาจอะไรที่จะไปยกเลิกเขา เหลือเวลาแค่ 6 เดือนก็ควรให้อยู่

นพ.เจตน์ ศิรธานนท์ สมาชิก สนช. อภิปรายว่า ตนไม่สบายใจที่เห็นหนังสือร้องเรียนจากศาลปกครอง 101 คน แสดงว่าเกิดความแตกแยกในชั้นตุลาการศาลปกครอง ทั้งชั้นสูงสุดและชั้นต้น การเกิดความแตกแยกในสถาบันที่ผดุงความยุติธรรมให้กับประชาชนถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ถ้าเราบริหารจัดการไม่ดีจะเกิดวิกฤตศาลปกครองขึ้นได้ และหากตุลาการศาลปกครองไม่สบายใจก็ทำงานไม่เป็นกลางอย่างที่ควรจะเป็น แล้วประชาชนจะได้รับความยุติธรรมอย่างไร

ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รมว.ยุติธรรม ชี้แจงว่า ความจริงร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ถูกส่งเข้ามาตั้งแต่มี คสช. แล้ว แต่เราพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่ควรใช้ความเป็นรัฐาธิปัตย์ออกกฎหมายฉบับนี้ จึงรอให้ใช้กระบวนการของ สนช. พิจารณาจะดีกว่า ดังนั้น การดำเนินการใดๆ ก็ตาม ถ้า สนช. จะกรุณาแก้ไขให้เป็นประโยชน์กับกระบวนการยุติธรรม และประชาชนก็ยินดีน้อมรับไปดำเนินการ และยืนยันว่า คสช. ไม่ได้ตอบว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย เพราะถือว่าไม่ก้าวก่ายการบริหารหน่วยงาน

ด้าน นายวิชัย ชื่มชมพูนุท รองประธานศาลปกครองสูงสุด ชี้แจงว่า เหตุที่การทำรัฐประหารปี 49 กศป. ไม่มีปัญหานั้น เพราะเมื่อรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง แต่องค์ประกอบมีอยู่ครบ และไม่มีฝ่ายใดทักท้วงว่า กศป. มีอยู่หรือไม่ แต่มีการทำหน้าที่ แต่ในปี 57 องค์ประกอบ ก.ศป. หมดอายุก่อนรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง ทางศาลปกครองจึงมีหนังสือมายังวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรี ให้ส่งผู้แทนตามรัฐธรรมนูญ โดยมีหนังสือตอบจากเลขาธิการวุฒิสภาว่า รัฐธรรมนูญสิ้นสุดลงแล้ว จึงไม่สามารถส่งรายชื่อให้ได้ จึงเป็นปัญหาทักท้วงว่า ก.ศป. ยังมีอยู่หรือไม่ ซึ่งข้อเสนอแนะต่างๆ ก็จะนำไปแก้ไขในชั้นกรรมาธิการวิสามัญต่อไป

จากนั้นที่ประชุมลงมติรับหลักการในวาระที่ 1 ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวด้วยคะแนน 130 เสียง ไม่เห็นด้วย 5 เสียง งดออกเสียง 10 เสียง ตั้งกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 17 คน โดยมีตัวแทนจากตุลาการศาลปกครองที่มีความเห็นแย้งกันจำนวน 4 คนร่วมด้วย คือ นายประสาท พงษ์สุวรรณ, นายวิชัย ชื่นชมพูนุท, นายสมชัย วัฒนการุณ และ นายอดุลย์ ขันทอง โดยกำหนดแปรญัติ 7 วัน ระยะเวลาดำเนินการ 60 วัน


กำลังโหลดความคิดเห็น