ศาลปกครองเดินหน้าหาข้อยุติเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครองฉบับใหม่ แจงกระบวนการไม่ได้รวบรัด ทำพลการ ผ่านแบบสอบถามตุลาการ - กก.ร่าง รองประธานศาล พิจารณาด้วยก่อนเสนอ ปธ.ผู้บริหารสูงสุด มีอำนาจเสนอแก้กฎหมาย
วันนี้ (12 ก.ย.) แหล่งข่าวศาลปกครอง กล่าวถึงการยับยั้งเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ... ว่า ศาลปกครองก็ยังไม่ได้เห็นรายชื่อของตุลาการ 101 คน ที่เสนอ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คัดค้านการพิจารณา ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบรายชื่อดูว่าเป็นตุลาการที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่หรือไม่ หรือเป็นอดีตตุลาการที่เกษียณราชการแล้ว แต่ยืนยันว่าไม่ใช่การกล่าวโทษเรื่องการยื่นหนังสือคัดค้านที่จะเป็นความผิด เพียงแต่จะต้องดูให้ชัดเจนว่ามีการคัดค้านอย่างไรบ้าง เพราะก่อนหน้านี้ศาลปกครองได้ทำแบบสอบถามความเห็นตุลาการไปแล้ว เมื่อช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา มีตุลาการเห็นด้วย 91.59% ซึ่งการสอบถามหลายประเด็น แต่เรื่องความมีอยู่ และองค์ประกอบของคณะกรรมการตุลาการศาลปกครอง (ก.ศป.) ถือเป็นเรื่องจำเป็นสำคัญและเร่งด่วนในการพิจารณา เพราะ ก.ศป. มีหน้าที่ต้องพิจารณการแต่งตั้งโยกย้ายตุลาการตามวาระปีงบประมาณที่จะถึงนี้
ขณะที่ผ่านมาอดีตก็มีปัญหาเรื่องคุณสมบัติของ ก.ศป. ที่มาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งมีความเข้มงวดพอๆ กับการสรรหาตุลาการมากเกินไปทำให้ผู้ที่จะมาในสัดส่วนการเมือง มีตัวเลือกน้อยทำให้ไม่สะดวก จึงทำให้ต้องปรับส่วนนี้บ้าง ขณะที่ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ก็ผ่านกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการร่างแล้วที่มีรองประธานศาลปกครองสูงสุดเป็นผู้พิจารณาก่อน จะเสนอ นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด และในฐานะผู้บริหารสูงสุดขององค์กรศาลปกครอง มีอำนาจจะเสนอเรื่องไปยัง สนช. พิจารณาแก้กฎหมายได้ ไม่ใช่เป็นการดำเนินการโดยพลการ หรือรวบรัดในกระบวนการผลักดันกฎหมายแต่อย่างใด
แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ศาลปกครองจะไม่ทำหนังสือไปยัง สนช. เพื่อยับยั้ง หรือชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ ดังกล่าวอีก หลังจากนี้ ต้องรอให้คณะทำงานร่วมกันของ 2 ฝ่าย รวม 10 คนที่ประธานศาลปกครองสูงสุดตั้งขึ้นประชุมร่วมผู้บริหารและตุลาการศาลปกครองทั่วประเทศ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ชี้แจงหลักการและเหตุผลการเสนอร่างกฎหมายไปแล้วเมื่อวันที่ 11 ก.ย. ที่ผ่านมา ทำการรับฟังและรวบรวมความคิดเห็นจากตุลาการที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการเสนอร่างกฎหมาย ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป