xs
xsm
sm
md
lg

ศาลปกครองเสียงแตก “101 ตุลาการ” ค้าน สนช.พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ข้ามหัวผู้พิพากษา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ที่ประชุมศาลปกครองเสียงแตก 101 ตุลาการ ชี้ ไม่เห็นด้วยให้ สนช. พิจารณาร่าง พ.ร.บ. จัดตั้งศาลปกครองฯ โดยไม่ผ่านความเห็นผู้พิพากษาก่อน ด้าน “หัสวุฒิ” สั่งตั้งคณะทำงานร่วมหาข้อยุติ

วันนี้ (11 ก.ย.) ที่สำนักงานศาลปกครอง เมื่อเวลา 14.00 น. รายงานข่าวแจ้งว่า นายหัสวุฒิ วิฑิตวิริยกุล ประธานศาลปกครองสูงสุด พร้อมด้วย รองประธานศาลปกครอง ผู้บริหารศาลปกครอง และผู้พิพากษาศาลปกครอง ทั้งจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาคทั่วประเทศรวมกว่า 200 คน ได้ร่วมประชุมผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจกรณีที่ตุลาการศาลปกครองได้รวบรวมรายชื่อและยื่นหนังสือคัดค้าน ถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ชะลอการพิจารณา ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฉบับที่ ... พ.ศ. .... โดยใช้เวลาในการประชุมกว่า 3 ชั่วโมง

สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ได้ใช้ห้องประชุมชั้น 11 ของอาคารศาลปกครอง โดยทางเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟังแต่อย่างใด และเจ้าหน้าที่ไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนขึ้นไปบนห้องประชุมชั้น 11 โดยให้อยู่แต่ด้านล่างเท่านั้น แหล่งข่าวจากศาลปกครอง ระบุว่า สำหรับบรรยากาศในที่ประชุมนั้น นายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูงสุด ได้เปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาศาลปกครองต่างๆ แสดงความคิดเห็นถึง ร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง ฉบับที่... พ.ศ..... ดังกล่าวอย่างเต็มที่ ว่า มีผู้พิพากษาเห็นด้วยในหลักการร่าง พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวหรือไม่ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้พิพากษาแสดงความเห็นถึงความชัดเจนกรณีสถานะของ ก.ศป. ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่การตรวจสอบการทำงานของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งกลุ่มผู้พิพากษาต่างแสดงความคิดเห็นไปในทิศทางที่หลากหลายแตกต่างกัน และยังไม่ได้ข้อสรุปเป็นที่ยุติไปในทิศทางเดียวกัน

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า กลุ่มผู้พิพากษาที่ร่วมลงรายชื่อในการคัดค้านร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯฉบับดังกล่าวนั้น มีทั้งกลุ่มผู้ที่ไม่เห็นด้วยในหลักการ และมีความเห็นแย้งในบทเฉพาะกาล และผู้ที่เห็นว่าก่อนเสนอร่าง พ.ร.บ. ไปยัง สนช. นั้น ควรจะเปิดโอกาสให้ตุลาการศาลปกครองเห็นตัวร่างของ พ.ร.บ. ฉบับเต็มก่อน นอกจากนี้ ในช่วงเดือน มิ.ย. 2557 ที่ผ่านมา ก็ได้มีการสอบถามความเห็นของตุลาการว่าควรจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองฯ เพื่อให้มีความชัดเจนเกี่ยวกับสถานะของ ก.ศป. ไว้แล้ว ซึ่งกลุ่มผู้พิพากษาส่วนใหญ่ก็ต่างเห็นด้วยถึงความเห็นดังกล่าว แต่ก่อนเสนอร่างไปยัง สนช. นั้นกลับมิได้มีการส่งร่าง พ.ร.บ. ให้กับผู้พิพากษาของศาลปกครองให้พิจารณาก่อนแต่อย่างใด ก่อนที่จะพบว่ามีการเสนอร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ ให้ สนช. เป็นผู้พิจารณา ซึ่ง นายหัสวุฒิ ประธานศาลปกครองสูดสุด จึงมีความเห็นให้ตั้งคณะทำงานร่วมกัน โดยมีผู้แทนจากทั้ง 2 ฝ่ายที่มีความคิดเห็นแตกต่าง ฝ่ายละ 5 คน รวมจำนวน 10 คน เพื่อรวบรวมความคิดเห็นร่วมกันของทั้ง 2 ฝ่าย จากนั้นก็จะเสนอความเห็นไปยังตุลาการศาลปกครองทุกคนให้รับทราบ ว่าจะมีความเห็นตรงกับแนวคิดนี้หรือไม่ เพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าภายกลังการประชุม บุคลากรของศาลปกครอง สำนักงานศาลปกครองได้ออกเอกสารข่าวต่อกรณีดังกล่าวระบุว่าตามที่ประธานศาลปกครองสูงสุดได้เชิญประชุมบุคลากรศาลปกครองซึ่งประกอบด้วย ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ตุลาการศาลปกครองชั้นต้น ข้าราชการฝ่ายศาลปกครอง พนักงานและลูกจ้าง เข้าร่วมประชุมที่ห้องสัมมนา ชั้น 11 อาคารศาลปกครอง และดำเนินการถ่ายทอดการประชุมดังกล่าวผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพ (Video Conference) ไปยังศาลปกครองในภูมิภาคทุกแห่ง โดยในการชี้แจงครั้งนี้ สำนักงานศาลปกครองได้มีการแจกเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 แก่ผู้เข้าร่วมประชุมด้วย

การประชุมเริ่มต้นโดยประธานศาลปกครองสูงสุด ร่วมกับรองประธานศาลปกครองสูงสุด ได้ชี้แจงในประเด็นว่า องค์ประกอบของ ก.ศป. ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 226 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 โดยไม่ได้บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและ

วิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ภายหลังรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 สิ้นสุดลง ทำให้เกิดความไม่ชัดเจนในสถานะทางกฎหมายของ ก.ศป. จึงจำเป็นต้องหาข้อยุติทางกฎหมายโดยการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อกำหนดองค์ประกอบของ ก.ศป. ไว้ในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งมีสาระสำคัญเช่นเดียวกับที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และในทำนองเดียวกับกรณีของคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) ที่มีการบัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการฝ่ายศาลยุติธรรม พ.ศ. 2543 ทั้งนี้ เพื่อให้งานของศาลปกครองดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยและมิให้เกิดข้อขัดข้องเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของตุลาการศาลปกครอง ซึ่งในการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดองค์ประกอบของ ก.ศป. ดังกล่าว ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากตุลาการศาลปกครองสูงสุดและตุลาการศาลปกครองชั้นต้นมาก่อนแล้ว โดยสำนักงานศาลปกครองได้มีหนังสือสอบถามความเห็นของตุลาการศาลปกครองสูงสุด และตุลาการศาลปกครองชั้นต้น เมื่อเดือนมิถุนายน 2557โดยมีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 107 ราย ผลปรากฏว่ามีผู้ที่เห็นด้วยจำนวน 98 ราย คิดเป็นร้อยละ 91.59ไม่เห็นด้วยจำนวน 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 8.41นอกจากนี้ ประธานศาลปกครองสูงสุด ยังได้ชี้แจงที่ประชุมถึงเหตุผลและความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องเสนอแก้ไขกฎหมายดังกล่าวต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น