xs
xsm
sm
md
lg

เลือกตั้งกุมภาฯ 59 “วิษณุ” แจงมะกัน - เหน็บ “สมชัย” ฟ้อง 3 พันล้าน นึกถึงความสงบด้วย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ แจงสหรัฐฯ ไทยเลือกตั้ง ก.พ. 59 ชี้หากทำประชามติ เลือกตั้งจะดีเลย์ 2 เดือน เอียงข้างเอานายกฯ ตรงหรือไม่ กมธ.ยกร่างฯ ใหญ่สุด ปัดไม่เคยได้ยินข่าวตั้ง คกก. พิทักษ์ รธน. กระตุก “สมชัย” ฟ้องร้องเลือกตั้งนึกถึงความสงบ



วันนี้ (23 ธ.ค.) ที่ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลัง นายแพทริค เมอร์ฟี อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เข้าเยี่ยมคารวะว่า ได้มีการชี้แจงความคืบหน้าโรดแมปที่อยู่ในระยะที่ 2 ของการร่างรัฐธรรมนูญที่จะแล้วเสร็จเดือนกันยายน 2558 บวก อีก 2 - 3 เดือนทำกฎหมายลูก และบวกอีก 2 เดือนจัดการเลือกตั้ง ที่จะเกิดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2559

นายวิษณุ ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการลงประชามติ ใครที่คิดจะทำประชามติยังทำไม่ได้ ต้องผ่านด่านการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นผู้มีอำนาจตัดสินใจว่าควรจะแก้ไขหรือไม่ และส่งไปให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาว่าจะแก้ไขหรือไม่ ซึ่งอยู่ที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงเรือหรือไม่ คาดว่าเดือนเมษายน 2558 ตอนที่กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จน่าจะรู้แล้ว โดยต้องมีเวลาทดสอบว่าประชาชนคิดอย่างไร แต่ตนไม่ทราบว่าหากสุดท้ายมีการตัดสินใจให้ทำประชามติต้องขยายเวลาเลือกตั้งออกไปนานเท่าไร เพราะขึ้นอยู่กับเวลาในการสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยในปี 2550 ไม่ได้มีการสร้างความเข้าใจกันมากพอ เลยทำให้เป็นที่มาของการกล่าวหาว่าไปลงประชามติกันโดยไม่รู้เรื่อง

“แต่ครั้งนี้หากรัฐธรรมนูญเสร็จเดือนกันยายน 2558 ถือเป็นทางสองแพร่ง ระหว่างเลี้ยวซ้ายกับเลี้ยวขวา หากไม่ทำประชามติก็เลี้ยวซ้ายคือ 3 เดือนหลังจากนั้นเป็นการออกกฎหมายลูก และอีก 2 เดือนสำหรับหาเสียงเลือกตั้ง แต่หากทำประชามติก็เลี้ยวขวาคือ ไม่ต้องเอาระยะเวลา 3 เดือนในการออกกฎหมายลูกกับอีก 2 เดือนในการหาเสียงเลือกตั้งมาบวกกัน เพราะเมื่อตัดสินใจทำประชามติก็ออกกฎหมายลูกเร็วๆ เป็นฉบับแรกคือ กฎหมายลูกว่าด้วยการทำประชามติ จากนั้นออกกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง และกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองไป ดังนั้น 3 เดือนหลังจากร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเป็นเวลาที่ใช้ในการทำประชามติได้ อย่างไรก็ดี ปกติถ้าเราเลี้ยวซ้ายพ้น 3 เดือนจะสามารถประกาศเลือกตั้งและกำหนดวันเลือกตั้งได้เลย แต่การเลี้ยวขวาทำประชามติจะทำให้ดีเลย์ 2 เดือนที่ยังประกาศวันเลือกตั้งไม่ได้” นายวิษณุ กล่าว

นายวิษณุ กล่าวถึงข้อเสนอการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีโดยตรง ที่มีการถกเถียงกันระหว่างนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และประธาน กมธ. ยกร่างฯ กับนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง สปช. ว่า ในที่สุด กมธ. ยกร่างฯ เป็นใหญ่อยู่ดี ทั้งหมดเป็นความเห็นที่เสนอเข้าไป สปช. จะเสนออะไรต้องเสนอเป็นกลุ่มก้อนและทางการ ไม่ใช่เป็นรายบุคคล การเสนอต้องทำในนาม กมธ. หรือ สปช. แล้ว กมธ. ยกร่างฯ ถึงจะรับไป รัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้ระบุว่าคนใดคนหนึ่งจะเสนอไปได้ ซึ่งอีก 4 เดือนพอ กมธ. ทำการยกร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ตอนนั้นสมาชิก สปช. แต่ละคนทำงานป็นคนๆ ได้ ไม่ต้องเป็นเสนอเป็นกลุ่มก้อนแล้ว ไปขอแก้ด้วยการแปรญัตติเอา ถือว่าไปเจอกันตอนนั้นอีกหนหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า คิดว่าการเลือกตั้งนายกฯ และ ครม. โดยตรงจะทำให้เกิดซุปเปอร์ประธานาธิบดี หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไปถามสองคนที่เขาวิพากษ์กัน ตนไม่เกี่ยว อย่าเอาตนเข้าไปด้วย แต่ไม่มองว่าเป็นการงัดข้อกัน เพราะทั้งหมดอยู่สภาเดียวกัน นายบวรศักดิ์เป็นรองประธาน สปช. นายสมบัติเป็นประธาน กมธ. ปฏิรูปการเมือง สปช. มีสิทธิที่จะพูด ไม่ว่าอะไร

เมื่อถามถึงกระแสข่าว คสช. เตรียมเสนอตั้งคณะกรรมการพิทักษ์รัฐธรรมนูญ นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่เคยได้ยิน แต่จะพูดกันไม่ให้ตนได้ยินหรือไม่นั้นไม่ทราบ ตนเข้าประชุมหลายคณะไม่เห็นมีการพูดอะไร

ส่วนกรณีที่ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ระบุว่า เตรียมฟ้องเอาผิดคนทำเลือกตั้ง 2 ก.พ. 57 เป็นโมฆะ 3,000 ล้านบาทนั้น นายวิษณุ กล่าวว่า ยังไม่ดูว่า กกต. มีอำนาจในเรื่องนี้อย่างไรบ้าง ถ้า กกต. เชื่อว่ามีอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ คสช. ได้ฟื้นอำนาจตรงนี้คืนให้ก็เดินหน้าไป มันไม่ใช่เรื่องยุ่งยากที่จะเถียงกันว่ามีหรือไม่มีอำนาจ แต่หากไปฟ้องศาล ถ้าศาลบอกไม่มีอำนาจก็จบ

“ผมเห็นว่า อะไรที่ทำต้องเป็นมาตรฐานเดียวกัน และช่วยคำนึงถึงเรื่องความสงบเรียบร้อยด้วย หน้าที่ปรองดองไม่ใช่หน้าที่ของรัฐบาลและ คสช. ฝ่ายเดียว ทุกคนต้องช่วยกัน” นายวิษณุ กล่าว

เมื่อถามว่า ตั้งข้อสังเกตหรือไม่ ทำไม กกต. ถึงออกมาเล่นเรื่องนี้ในช่วงนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนไม่ทราบ เป็นมติ กกต. หรือเปล่ายังไม่รู้ ตนไม่กล้าบอกแทนรัฐบาลในเรื่องนี้ ส่วนข้อเสนอยุบรวมองค์กรอิสระที่ไม่ค่อยมีบทบาทนั้น หากเห็นว่าองค์กรใดไม่มีความจำเป็นก็ยุบรวมเป็นองค์กรเดียวกัน ถ้าทำได้ควรจะทำ เพราะหากมีมากเกินไปจะทำให้สิ้นเปลืองเงินทอง และทำให้เกิดความโกลาหลขึ้นในประเทศ


กำลังโหลดความคิดเห็น