กมธ.ยกร่างฯ ดับฝัน สปช. เลือกตั้งนายกฯ โดยตรง ชี้ทุกรูปมีความเสี่ยงหมด แต่คุ้นชินแบบเดิม เชื่อรับมือได้ เผยคนต้นคิดถอนความเห็นไปแล้ว บอกคงฝ่าลำบาก
วันนี้ (23 ธ.ค.) นายสุจิต บุญบงการ กรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรรมนูญ แถลงผลการประชุม กมธ. ยกร่างฯ ว่า กมธ.ยกร่างฯ ได้สรุปรูปแบบการเลือกนายกรัฐมนตรี โดยให้คงรูปแบบการปกครองแบบรัฐสภาเช่นเดิม ที่นายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเหตุผลที่ไม่สามารถรับข้อคิดเห็นของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่เสนอให้เลือกนายกรัฐมนตรีโดยตรงได้ เพราะระบบรัฐสภา เป็นระบบที่เขาคุ้นชินและสามารถแก้ปัญหาเป็นเรื่องๆ ได้ เพราะแม้จะเป็นการเลือกนายกรัฐธรรมนูญในรูปแบบเดิม แต่ก็มีการปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันไม่ให้กลุ่มการเมืองเดิมใช้เสียงใช้อำนาจเสียงข้างมากคุมเสียงในสภาได้เบ็ดเสร็จ
โดยต้องการให้พรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง ไม่ใช่เครื่องของนายทุน และ ส.ส. ต้องเป็นผู้แทนจากประชาชน ไม่ใช้ผู้แทนกลุ่มการเมือง ที่สำคัญ จะทำอย่างไรให้มีการมียอมรับเสียงข้างน้อยด้วย โดยมีข้อเสนอให้ตำแหน่งประธานรัฐสภา มาจากพรรคการเมืองที่มีเสียงข้างมาก ส่วนรองประธานสภา คนที่ 1 และ 2 อาจมาจากพรรคที่มีคะแนนรองลงมา เพื่อไม่ให้ผูกขาดจากพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง ซึ่งการปฏิบัติหน้าที่จะต้องเป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้มติพรรค ขณะที่ประธานคณะกรรมาธิการสามัญประจำสภาผู้แทนราษฎรสำคัญๆ ให้มาจากพรรคฝ่ายค้าน เพื่อให้เกิดการถ่วงดุล
“สำหรับความเห็นต่างๆ ในคณะ กมธ.ยกร่างฯ ประเด็นเรื่องการเลือกนายกรัฐมนตรีนั้น ประธานในที่ประชุมคือ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ได้สอบถามในระหว่างการประชุม ถึงประเด็นดังกล่าว ซึ่งมี กมธ. ที่เคยเสนอรูปแบบเลือกนายกฯ และ ครม. โดยตรงได้ขอถอดความเห็นออกไปแล้ว โดยให้ความเห็นว่า คงฝ่า กมธ. ลำบาก แต่ก็ยังมี กมธ. อีกหนึ่งคนที่ยังขอสงวนความเห็นว่าจะอภิปรายเรื่องนี้ต่อไป” นายสุจิต กล่าว
นายสุจิต กล่าวว่า ส่วนรูปแบบการเลือกคณะรัฐมนตรี ที่มา ส.ส. ส.ว. และระบบการเลือกตั้ง รวมทั้งประเด็นว่า นายกรัฐมนตรีจะต้องเป็น ส.ส. หรือไม่นั้น จะได้ข้อสรุปในการประชุม กมธ.ยกร่างฯ ในวันที่ 24 ธ.ค. นี้