xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” แจงรัฐธรรมนูญไม่มีผลถอดถอนย้อนหลัง วอนอย่ารีบประเมินปรองดองเหลวเร็วเกินไป

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (ภาพจากแฟ้ม)
รองนายกฯ แจงที่ประชุม คตช. แก้ไขระเบียบว่าด้วยการพัสดุ จะได้บังคับได้ มีโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ครอบคลุมพ่อค้า นักธุรกิจ ประชาชน แจงโทษถอดถอนตัดสิทธิการเมือง 5 ปี ตาม พ.ร.บ. ป.ป.ช. ส่วนรัฐธรรมนูญฉบับถาวรไม่มีผลย้อนหลัง จะใช้กับรายใหม่ ชี้เร็วเกินประเมินปรองดองไม่สำเร็จ เหตุเจ็บปวดกันมานาน แม้ล้มเหลวต้องเดินหน้าต่อ แต่ไม่จำเป็นต้องนิรโทษกรรม

วันนี้ (15 ม.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงที่ประชุมคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ให้มีการแก้ไขจากระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2535 เป็น พ.ร.บ. ว่าด้วยการพัสดุว่า เพื่อจะบังคับได้ และมีโทษสำหรับผู้ฝ่าฝืน ซึ่งตนคิดว่าน่าจะทันใช้ในรัฐบาลนี้ เพราะไม่มีอะไรยุ่งยาก นำบางส่วนที่มีอยู่ในระเบียบมาทำ และเวลานี้กำลังดำเนินการอยู่ เพียงแต่ว่ายังไม่เสร็จ

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมามีปัญหากำหนดราคากลางสูงเกินจริง ทำให้ส่วนต่างกลายเป็นเงินทอนให้กับนักการมือง นายวิษณุ ตอบว่า เป็นหัวข้อหนึ่งที่ให้ไปคิดเรื่องของราคากลาง วันนี้ต้องใช้วิธีต่อรองให้ต่ำกว่าราคากลาง ซึ่งหลายโครงการมีการต่อรองต่ำกว่าราคากลาง และรายงานเข้าคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทุกครั้ง แต่ปัญหาเกิดที่ว่าหากมีการเซ็นสัญญาไปแล้ว และมีการต่อรองลดลงได้ก็ต้องไปแก้สัญญาทำให้วุ่นขึ้นไปอีก

เมื่อถามว่า หากพบว่ามีความผิด จะส่งให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) ดำเนินการต่อ นายวิษณุ กล่าวว่า ใช่ เพราะมันไม่มีโทษในตัวมันเอง ต้องไปอิงอย่างอื่น และถ้ากำหนดเป็น พ.ร.บ. ว่าด้วยพัสดุแล้ว หากพบความผิดยังต้องส่ง ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. ดำเนินการเหมือนเดิม ที่ไม่ใช่ความผิดฐานทุจริต แต่เป็นความผิดไม่ปฏิบัติตามระเบียบ แต่หากพบทุจริตก็จะโดนอีกกระทง และหากผู้กระทำความผิดมีตำแหน่ง ก็สามารถถอดถอนได้ หากผู้กระทำผิดอยู่ในข่ายที่ต้องถอดถอน โดย พ.ร.บ. ฉบับนี้ยังครอบคลุมไปถึงพ่อค้า นักธุรกิจ ประชาชน

นายวิษณุ กล่าวถึงบทลงโทษของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติถอดถอนว่า บุคคลดังกล่าวจะถูกตัดสิทธิในการดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี ตามมาตรา 65 วรรค 2 ของ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ซึ่งนายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. ตอบไว้ในที่ สนช. แล้ว โดยมาตรา 65 กำหนดโทษไว้ 2 อย่าง คือ ถอดถอนให้พ้นจากตำแหน่ง แต่เมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วจึงไม่มีอะไรให้ถอดถอน แต่ในมาตราเดียวกัน วรรค 2 กำหนดโทษเอาไว้ไม่ให้สามารถปฏิบัติหน้าที่หรือดำรงตำแหน่งทางการเมือง 5 ปี ซึ่งแม้ลาออก แต่โทษตัวนี้ยังรออยู่ได้ จึงเป็นที่มาว่าทำไม สนช. จึงสามารถดำเนินการถอดถอนได้ ส่วนมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี 57 ที่กำหนดให้ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญสร้างกลไกป้องกันผู้เคยต้องคำพิพากษาคดีทุจริตหรือประพฤติมิชอบเข้าดำรงตำแหน่งทางการเมืองอย่างเด็ดขาดนั้น คนละเรื่องกับกรณีนี้ เพราะโดยปกติกฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลัง รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีผลกับรายใหม่ๆ

นายวิษณุ ยังให้สัมภาษณ์ถึงกรณี พล.ท.พิสิทธิ์ สิทธิสาร รองเสนาธิการทหารบก ในฐานะ ผอ.ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป ระบุการปรองดองยังไม่สามารถทำได้ตามเป้าหมายว่า ยังไม่เห็นรายงานดังกล่าว แต่การสร้างความปรองดองต้องทำต่อไป และไม่ใช่งานที่มอบให้หน่วยใดรับผิดชอบ ทุกฝ่ายต้องช่วยกัน ทำได้หลายวิธี อย่างผ่านศูนย์ดำรงธรรม คอยแก้ปัญหาให้กับประชาชน ช่วยได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งตรงข้ามความปรองดองคือความแตกแยก ที่เกิดจากความเหลื่อมล้ำในสังคม ความไม่เป็นธรรม สองมาตรฐาน สิ่งเหล่านี้แต่ละอย่างแก้ด้วยวิธีต่างๆกัน แล้วจะออกมาเป็นความปรองดองความเข้าใจ

“สมมติต่อให้ล้มเหลวจริงก็ต้องเดินหน้าทำต่อ หยุดไม่ได้ ความปรองดองเป็นจุดหมายปลายทาง แต่วิธีการระหว่างทางก็ต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ เท่าที่เห็นก็ได้แก้ปัญหาในบางจุดได้อยู่บ้างแล้ว อย่างการแก้ปัญหาผ่านศูนย์ดำรงธรรมทำได้หลายเรื่องแก้ปัญหาแล้ว ประชาชนกลับไปด้วยความเข้าใจ ก็ถือว่าเป็นการปรองดองในระดับหนึ่ง เพราะถ้าไม่เข้าใจก็จะออกมาในรูปแบบการชุมนุมต่อต้าน แต่นี้ก็เงียบหายกันไป” รองนายกฯ กล่าว

เมื่อถามว่า เร็วเกินไปหรือไม่ที่จะประเมินว่าการสร้างความปรองดองสำเร็จหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เร็วเกินไป เพราะความเจ็บปวดรวดร้าวมันนานเกินกว่าที่จะเยียวยาได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ละเรื่องไม่จำเป็นต้องใช้เวลาเท่ากัน ส่วนจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อสร้างความปรองดองหรือไม่นั้น ขณะนี้รัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คิดอยู่ แต่อยากฟังความเห็นของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ก่อน เผื่อว่าจะมีความคิดเห็นที่เฉียบแหลมรอบคอบมา เอามารวมกับที่เราคิดจะได้เกิดความมั่นใจยิ่งขึ้น เมื่อถามว่า การปรองดองไม่จำเป็นต้องนิรโทษอย่างเดียว นายวิษณุ กล่าวว่าไม่จำเป็น มีหลายวิธี อาจจะต้องใช้หลายวิธีพร้อมๆ กันก็ได้


กำลังโหลดความคิดเห็น