xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ม.44 ฟัน ขรก.โกง ซะทีเถอะ!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.)
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การยึดอำนาจโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ(คสช.)กินเวลาครบ 1 ปีเรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางความคาดหวังของประชาชนว่าการยึดอำนาจครั้งนี้จะนำมาซึ่งการปฏิรูปประเทศไทยครั้งใหญ่ ตามที่ คสช.ได้ประกาศไว้เป็นเจตนารมณ์ในการยึดอำนาจ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขจัดการทุจริตคอร์รัปชั่นที่ฝังรากลึกและกัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นสาเหตุแห่งความขัดแย้งที่ปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานั้น ยังไม่เห็นว่าจะมีวิธีการใดๆ ที่จะทำให้บรรเทาเบาบางลงไปได้ เมื่อ คสช.เข้ามายึดอำนาจ จึงเป็นที่คาดหวังกันว่า คสช.ในฐานะผู้ถืออำนาจรัฏฐาธิปัตย์ จะทำการสะสางปัญหานี้ให้ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังเสียที

อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากการยึดอำนาจ แม้ว่าจะมีการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงหลายตำแหน่ง แต่จุดประสงค์หลักก็เพื่อความเหมาะสมในการบริหารราชการแผ่นดินมากกว่าที่จะเป็นการลงโทษจากการกระทำความผิดในตำแหน่งหน้าที่ และปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่เดิมเข้ามาดำเนินการต่อ

ส่วนการใช้อำนาจของ คสช.ดำเนินการกับข้าราชการที่มีพฤติกรรมทุจริตโดยตรง เพิ่งมีออกมาเป็นรูปธรรม เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา เมื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช.ได้ลงนามในคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 เรื่อง มาตรการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบ และการกําหนดกรอบอัตรากําลังชั่วคราว

คำสั่งดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้อํานาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุ.ศ. 2557 สั่งโยกย้ายและพักงานเจ้าหน้าที่ของรัฐในส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานอื่น ๆ ของรัฐจำนวน 45 ราย ที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบของสํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) สํานักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) และสํานักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรณีถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการทุจริต หรือประพฤติมิชอบ ทําให้เสียหายแก่ทางราชการ หรือทําให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน แม้ผลการตรวจสอบยังไม่อาจสรุปความผิดได้ชัดเจนถึงขั้นชี้มูลความผิด แต่บางเรื่องมีการกระทําเป็นขบวนการ การตรวจสอบจึงใช้เวลานาน และบางเรื่องไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องเท่าที่ควร

ข้าราชการที่ถูกโยกย้ายทั้ง 45 ราย แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มที่ 1 เป็นข้าราชการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา 4 ราย กระทรวงการคลัง 6 ราย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 2 ราย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม 1 ราย กระทรวงมหาดไทย 10 ราย และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีตั้งแต่ระดับปลัดกระทรวง อาทิ นายสุวัตร สิทธิหล่อ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายแก่นเพชร ช่วงรังษี รองปลัดกระทรวงมหาดไทย, ระดับอธิบดี อาทิ ว่าที่ร้อยตรี อานุภาพ เกษรสุวรรณ์ อธิบดีกรมการท่องเที่ยว นายพัฒนาชาติ กฤติบวร อธิบดีกรมพลศึกษา นายนพวัชร สิงห์ศักดา ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี ลงไปจนถึงนายอำเภอ อาทิ นายพรต ภูภักดิ์ นายอําเภอเชียงยืน จังหวัดมหาสารคาม, นายภัลลพ พิลา นายอําเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี, นายสมภพ ร่วมญาติ นายอําเภอโนนสะอาด จังหวัดอุดรธานี, นายอรรณพ อกอุ่น นายอําเภอเมืองอุบลราชธานี เป็นต้น

กลุ่มที่ 2 หน่วยงานอื่นของรัฐ ได้แก่ นายประเสริฐ อภิปุญญา กรรมการติดตามและประเมนผลการปฏิบัติงานของสํานักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์บอร์ด กสทช.

กลุ่มที่ 3 นายกและรองนายกองค์การบริหารส่วนตําบล (อบต.) จํานวน 14 ราย

กลุ่มที่ 4 นายกเทศมนตรี ระดับเทศบาลตำบล จํานวน 3 ราย และ

กลุ่มที่ 5 ปลัดและรองปลัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จํานวน 3 ราย

ทั้งนี้ ข้าราชการที่มีรายชื่อในกลุ่มที่ 1 และกลุ่มที่ 2 ถูกสั่งย้ายไปปฏิบัติราชการในตําแหน่งประจําสํานักงานปลัดกระทรวงในกระทรวงที่สังกัด และให้ปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐมนตรีเจ้าสังกัดมอบหมาย

ส่วนผู้ที่มีรายชื่อในกลุ่มที่ 3 และกลุ่มที่ 4 ให้ระงับการปฏิบัติราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดํารงตําแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน จนกว่านายกรัฐมนตรีจะมีคําสั่งเป็นอย่างอื่น

และ ผู้มีรายชื่อในกลุ่มที่ 5 ให้ไปช่วยราชการที่ศาลากลางจังหวัดที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นนั้นตั้งอยู่หรือสถานที่ราชการอื่นตามที่ผู้ว่าราชการจังหวัดกําหนด แต่ต้องมิใช่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผู้นั้นปฏิบัติหน้าที่ โดยมิให้ได้รับเงินประจําตําแหน่งและสิทธิเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปราชการชั่วคราว อันเนื่องจากการไปช่วยราชการตามคําสั่งนี้

ท้ายคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 16/2558 ยังได้ระบุว่า หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาจประกาศบัญชีรายชื่อบุคคลเพิ่มเติมจากรายชื่อตามบัญชีแนบท้ายคําสั่งนี้ก็ได้ นั่นหมายถึงว่า จะมีข้าราชการที่ถูกโยกย้ายด้วยเหตุผลตามคำสั่งนี้ตามมาอีก

ขณะที่ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการยุติธรรม ในฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) บอกว่า ทั้ง 45 รายชื่อ เป็นส่วนหนึ่งของข้าราชการที่อาจเกี่ยวข้องกับการทุจริต ที่ ศอตช.ส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา พิจารณาในล็อตแรก จากที่มีทั้งสิ้น 198 รายชื่อ แต่ขณะนี้ตัวเลขดังกล่าวอาจเปลี่ยนแปลงได้ เพราะจะมีการคัดผู้เกษียณอายุราชการออกไป

การโยกย้ายข้าราชการในส่วนนี้ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เจ้ากระทรวงสามารถดำเนินการได้เอง หลังจาก นายกฯ ส่งรายชื่อไปให้กระทรวงต่างๆ และอีกส่วนหนึ่งเป็นส่วนที่กระทรวงไม่สามารถดำเนินการได้เอง ต้องอาศัยอำนาจมาตรา 44 ดำเนินการ

ต่อมา เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม มีรายงานจากทำเนียบรัฐบาล ว่า ศอตช. เตรียมเสนอรายชื่อข้าราชการทุจริต ชุดที่ 2 ให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพื่อใช้มาตรา 44 สั่งย้ายหรือพักงานข้าราชการเพิ่มเติมอีกประมาณ 70 คน ในวันที่ 20 พฤษภาคม

มีการคาดหมาย 70 คนในล็อตที่สองนี้ เป็นส่วนหนึ่งของรายชื่อ ศอตช.ส่งให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้ว 198 รายชื่อ และเป็นผู้ที่เกี่ยวข้องกับคดีทุจริตในโครงการไทยเข้มแข็ง คดีทุจริตก่อสร้างโรงพักทดแทน คดีทุจริตค่าโฆษณาระหว่างบริษัท ไร่ส้ม กับ บมจ.อสมท. เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พล.อ.ไพบูลย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม ว่า เรื่องนี้ต้องทยอยดำเนินการ รายชื่อเหล่านี้ไม่ได้บ่งบอกถึงความสำเร็จ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะบางคนเกษียณอายุราชการไปแล้ว นอกจากนี้ รายชื่อที่ได้รับบางส่วนก็ยังมีที่ไม่ถูกต้องบ้าง เนื่องจากหน่วยงานที่สอบสวนไม่ใช่หน่วยงานต้นสังกัด ดังนั้นจึงต้องค่อยๆ ทำไป ไม่ได้กำหนดระยะเวลา

พล.อ.ไพบูลย์ ยังบอกอีกว่า ได้มีการเปิดช่องไว้ว่า หากผู้ที่มีรายชื่อคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมก็สามารถเข้ามาร้องเรียนที่ ศอตช.ได้ จะให้หน่วยงานที่ส่งรายชื่อเข้ามาเป็นผู้ชี้แจง แต่ก็ต้องถามกลับกันว่า กล้าที่จะแบกหน้าออกสื่อหรือไม่ เอาเอกสารมาแบกันต่อหน้าเลย จะได้รู้ว่ามีความผิดอย่างไร หรือจะคุยกันเงียบๆ ก็ได้

“วันนี้เริ่มมีการรายงานกันว่าเมื่อมีการย้ายหัวหน้าหน่วยงานส่วนท้องถิ่นออกไปแล้ว คนเป็นรองที่ขึ้นมาแทนก็ชักจะเหมือนเดิม ซึ่งผมบอกไปแล้วถ้าเหมือนเดิมแล้วสอบเจอก็ต้องออกอีก ถ้าท่านเข้ามาแทน แต่ผู้ที่ออกไปแล้วยังชี้อยู่หลังไมค์ให้ท่านทำ อย่างนี้ไม่ได้ เราทราบอยู่แล้ว อย่าคิดนะว่าเราจะไม่สอบ เราเข้าใจดี เมื่อรองขึ้นมานั่ง รองก็จะโดนไปด้วย ผมเห็นแล้ว เพราะมีข่าวจากประชาชนในพื้นที่แจ้งมา ก็ดีเหมือนกันผมจะได้เอารองออกอีกสักคน” พล.อ.ไพบูลย์กล่าว

หากดูจากท่าทีของ พล.อ.ไพบูลย์ รวมไปถึง พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำสูงสุดของ คสช.ก็ดูเหมือนว่าจะขึงขังเอาจริงเอาจังกับการแก้ไขปัญหาการฉ้อราษฎร์บังหลวงพอสมควร แต่พอถึงขั้นการลงไม้ลงมือกับผู้กระทำผิด คสช.ก็ยังไม่กล้าใช้อำนาจของตัวเอง แม้จะมีมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มอบดาบอาญาสิทธิ์ไว้ให้ แต่การใช้มาตรา 44 ที่ผ่านมาก็ยังใช้เฉพาะด้านนิติบัญญัติและบริหารเท่านั้น

ส่วนในทางตุลาการ คสช.ได้ปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมที่มีอยู่เดิม ซึ่งก็ได้เห็นแล้วว่า ยังคงติดปัญหาเดิมๆ นั่นคือความล่าช้า ไม่ทันการณ์


กำลังโหลดความคิดเห็น