xs
xsm
sm
md
lg

บทความ

x

ท่อก๊าซธรรมชาติในทะเลเป็นของใคร?

เผยแพร่:   โดย: พลเรือโท ประทีป ชื่นอารมย์


โดย พลเรือโท ประทีป ชื่นอารมย์

ก๊าซผ่านท่อ ที่นำมาใช้ในประเทศไทยมาจาก 2 แหล่ง คือจากประเทศพม่า 23 %และจากประเทศไทย 77 % ในปริมาณ77%นี้มาจากในทะเล บริเวณอ่าวไทย 90.3 % และมาจากบนบกเพียง 9.7 %

ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ มีความยาวทั้งสิ้น 3,498 กิโลเมตร แบ่งเป็น ท่อก๊าซในทะเล ความยาว 2,905 กิโลเมตร คือ ระบบท่อที่ต่อจากแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยมาขึ้นฝั่งที่ จ.ระยอง และเชื่อมต่อที่โรงแยกก๊าซธรรมชาติ หน่วยที่ 1 , 2 , 3 และ 5 จ.ระยอง และระบบท่อก๊าซจากแหล่งเอราวัณ มายังโรงไฟฟ้าขนอม อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช(ในส่วนระบบท่อก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย มายัง อ.จะนะ จ.สงขลา และแผนแม่บทในการวางท่อก๊าซในอนาคต ยกเว้นยังไม่กล่าวถึง)

ท่อบนบก ความยาว 1,402 กิโลเมตร ประกอบด้วยระบบท่อฝั่งตะวันออกจากโรงแยกก๊าซฯ จ.ระยอง ไปยังโรงไฟฟ้าบางปะกง พระนครใต้ วังน้อย และแก่งคอย ส่วนระบบท่อฝั่งตะวันตกคือระบบที่เชื่อมต่อจากชายแดนไทยกับพม่า มายังโรงไฟฟ้าราชบุรี

ปัจจุบัน ระบบท่อส่งก๊าซฯ ทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตกได้เชื่อมโยงเป็นระบบเดียวกัน ทำให้เพิ่มความยืดหยุ่นในการนำก๊าซธรรมชาติจากทั้งอ่าวไทยและสหภาพพม่ามาใช้ทดแทนกันได้ในกรณีจำเป็น

ดังนั้น ผลประโยชน์ในกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของท่อก๊าซ จึงมีความหมายต่อการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์อันมหาศาลของเจ้าของสิทธิ์นั้น และ นำมาซึ่งความขัดแย้งทางสังคม ระหว่าง ประชาชนเจ้าของประเทศเจ้าของปริโตรเลียมธรรมชาติ กับ บริษัท ปตท.

ประเด็นความขัดแย้ง คือ ท่อก๊าซในทะเล เป็นของอำนาจมหาชนของรัฐ หรือ เป็นอำนาจและสิทธิของ ปตท.โดย : วันที่ 14 ธ.ค. 50 : ปตท.ได้ยี่นคำร้องไปยังศาลปกครองสูงสุดเพื่อขอความชัดเจนคำวินิจฉัยคำสั่งศาลฯ ที่ให้ ปตท.แบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของ ปตท.

วันที่ 26 ธ.ค.51 :ศาลฯ ได้มีคำสั่งว่า ปตท.ได้ดำเนินการตามคำพิพากษา (คืนท่อ) แล้ว

กระแสสังคมมีข้อขัดแย้งว่า : การคืนทรัพย์สินท่อก๊าซฯ ของ ปตท.ให้กระทรวงการคลังยังไม่ครบถ้วน โดย ปตท.ยืนยันว่ามีการโอนท่อก๊าซฯ ที่ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิและเวนคืนที่ดินประชาชนให้คลังแล้ว

คำถามคือ คืนท่อก๊าซแล้วตามที่ ปตท.ยืนยันนั้น คืนส่วนไหน?ถึงจะครบถ้วนตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด เพราะมันมีท่อก๊าซทั้งที่อยู่บนบกและในทะเล(ที่มีจำนวนท่อก๊าซที่ยาวถึง 2905 กม.และควบคุมผลประโยชน์จากการส่งก๊าซที่มากกว่าบนบก) ถ้าคืนเฉพาะที่อยู่บนบก แต่ยังไม่คืนในส่วนที่อยู่ในทะเล ทำได้หรือไม่? และมันมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติหรือไม่?อย่างไร?

หรือถ้าตอบว่า ท่อก๊าซในอ่าวไทยไม่สามารถคืนให้ไปอยู่ในอำนาจของประชาชนได้ เพราะ ไม่ใช่ทรัพย์สินของชาติ เนื่องจากท่อก๊าซวางอยู่นอก"พื้นที่ทะเลอาณาเขต 12 ไมล์ทะเล" เป็นคำตอบที่ถูกต้องหรือไม่?

ข้อเท็จจริงคือ ท่อก๊าซในทะเลจากแหล่งผลิตในทะเลทั้งหมด ทอดผ่านท้องทะเลจากฐานขุดเจาะที่เป็น"เขตเศรษฐกิจจำเพาะ"(ห่างจากเส้นฐานที่ใช้วัดความกว้างของทะเลอาณาเขต ไม่เกิน 200ไมล์ทะเล) และทอดผ่าน"ทะเลอาณาเขต"(ห่างจากเส้นฐาน ไม่เกิน 12ไมล์ทะเล)ก่อนขึ้นสู่ชายฝั่งทั้งในพื้นที่ จ.ระยอง และ จ.สงขลา

ในข้อกฏหมาย:อนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยกฏหมายทะเล ค.ศ.1982
1.CLOS,ข้อ 58 และ 87 ว่า ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของรัฐชายฝั่งนั้น รัฐอื่นๆย่อมมีเสรีภาพ
1.1.เสรีภาพในการเดินเรือ (freedom of navigation)1.2.เสรีภาพในการบินผ่าน (freedom of overflight) 1.3.เสรีภาพในการวางสายเคบิลและท่อใต้ทะเล (freedom of the laying of submarine cables and pipelines) 1.4.การใช้ทะเลประการอื่นๆ
2.รัฐชายฝั่งย่อมมีอำนาจอธิปไตย(sovereignty)เหนือทะเลอาณาเขตของตน รวมถึงในห้วงอากาศ,เหนือพื้นดินท้องทะเล(sea-bed)และใต้ผิวดิน(subsoil)แห่งทะเลอาณาเขตด้วย
2.1.ยกเว้นการผ่านโดยสุจริต(right of innocent passage) คือ การผ่านโดยไม่เป็นปรปักษ์ต่อความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของรัฐชายฝั่ง
2.1.รัฐชายฝั่งยังสามารถออกกฏหมายว่าด้วยการฝ่าฝืนกฏหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับ ศุลกากร,การคลัง,การเข้าเมือง,การอนุรักษ์สภาพแวล้อมและการควบคุมภาวะมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
2.3.หากเรือต่างชาติกระทำการใดๆอันเป็นปฏิปักษ์หรือคุกคามต่อสันติภาพ ความมั่นคงแห่งบูรณภาพดินแดนของรัฐชายฝั่ง รัฐชายฝั่งสามารปฏิเสธไม่ให้เรือต่างชาติผ่านทะเลอาณาเขตหรือจับกุมเรือนั้นได้

พิจารณาจากข้อกฏหมายทั้ง 2 ข้อ จะเห็นว่า แม้กฏหมายทะเลจะจะชี้ชัดว่า การวางท่อก๊าซในอ่าวไทยจากฐานผลิตก๊าซในพื้นที่"เขตเศรษกิจจำเพาะ"จะสามารถกระทำได้ แต่โรงงานแยกก๊าซทั้งหมดตั้งอยู่บนฝั่ง ท่อก๊าซในทะเลทั้งหมดจึงต้องวางผ่านพื้นที่"ทะเลอาณาเขต"ของไทย ซึ่งไทยสามารออก กฏ กติกา ข้อบังคับ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติได้ ดังนั้นประเด็นการรักษาผลประโยชน์ของชาติจากความเป็นเจ้าของปริโตรเลียมธรรมชาติในอ่าวไทย จึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขที่ว่า ท่อก๊าซไม่ใช่ทรัพย์สินของชาติเพราะวางอยู่นอกทะเลอาณาเขต แต่ขึ้นอยู่กับการใช้ประโยชน์จากข้อเท็จจริง คือ เรามีอำนาจอธิปไตย(sovereignty)เหนือทะเลอาณาเขต และท่อก๊าซในทะเลทั้งหมดต้องวางท่อผ่านทะเลอาณาเขตก่อนขึ้นฝั่ง ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ที่มีอำนาจหน้าที่ในหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องจะจริงใจในการการกำหนด กฏ กติกา ข้อบังคับ กับผู้ได้สัมปทาน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของชาติมากน้อยแค่ไหน??ต่างหาก!!
กำลังโหลดความคิดเห็น