“วีระ สมความคิด” ท้าพิสูจน์ความจริง ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบ หลังแปรรูปเป็น ปตท. ตั้งแต่ปี 2544 ชี้ตัวละครเดิมกับกระบวนการยักยอกและแยกตั้งบริษัทท่อส่งก๊าซที่ปิยสวัสดิ์อ้างมติ ครม. เมื่อ 13 ปีที่แล้ว ชี้ข้อขัดแย้งควรส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาพิจารณาข้อยุติ
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน (คปต.) ได้เล่าว่าตนเองเป็นคนแรกๆ ที่ได้เข้ามาจับเบาะแสความไม่ชอบมาพากลของมหากาพย์การแปรรูปการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย เป็น บมจ.ปตท. เมื่อ 1 ต.ค. 2544 สำเร็จในยุครัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่อ้างว่ารัฐบาลไทยต้องทำตาม “พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542” ซึ่งเป็นกฎหมาย 1 ใน 11 ฉบับที่เกิดขึ้นตามเงื่อนไขของหนังสือแสดงเจตจำนงขอความช่วยเหลือทางการเงินจาก IMF (Letter of Intent)
ช่วงเวลาการต่อสู้ตีแผ่ความจริงให้ปรากฏ ในปี 2545 วีระ และกลุ่มมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่นำโดย นางรสนา โตสิตระกูล ต่างดำเนินการฟ้องร้องผู้เกี่ยวข้องกับการแปรรูป ปตท. และท่อส่งก๊าซ ในปี 2549 และศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษาเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2550 ว่า
“ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ (คณะรัฐมนตรี, นายกรัฐมนตรี, รมว.พลังงาน และ บมจ.ปตท.) ร่วมกันกระทำการแบ่งแยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิใช้ที่ดิน เพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐ ออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ทั้งนี้ ให้เสร็จสิ้นก่อนการแต่งตั้งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานตาม พ.ร.บ.ประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550”
แต่การดำเนินการดังกล่าวล่าช้าหลายครั้ง เพราะ ปตท. ขอผัดผ่อนขยายเวลาถึง 4 ครั้ง ขณะที่มติคณะรัฐมนตรีสมัยพลเอก สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2550 ก็แถลงรับทราบ และมอบหมายหน่วยงานเกี่ยวข้อง 6 ข้อดำเนินการตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน ได้แสดงหลักฐานมติคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาล สุรยุทธ์ จุลานนท์ ในปี 2550 ที่ระบุไว้ใน ข้อ 2. ว่า เห็นชอบหลักการแบ่งแยกทรัพย์สิน และมอบให้กระทรวงพลังงานและคลังรับไปดำเนินการ โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง และระบุว่า “หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯในการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป
และที่สำคัญคือข้อ 3. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมธนารักษ์ดำเนินการกำหนดหลักเกณฑ์ในการคิด “อัตราค่าเช่า” ในส่วนของทรัพย์สินที่เป็นระบบท่อ เพื่อเป็นฐานคำนวณค่าเช่าให้แก่ บมจ.ปตท. ภายใน 3 สัปดาห์
“กรณีนี้ถ้า ปตท. จะใช้ท่อส่งก๊าซ ก็ต้องจ่ายค่าเช่าให้แก่รัฐ โดยกรมธนารักษ์ต้องคิดค่าเช่ากับ ปตท. และคำว่า ‘คำนวณค่าเช่าให้แก่ บมจ.ปตท.’ แสดงว่า ท่อส่งก๊าซไม่ใช่ของ ปตท. และปรากฏว่า ปตท. ไม่ได้จ่ายค่าเช่าเลย”
ความสำคัญของท่อส่งก๊าซ ที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินได้ตรวจสอบการแบ่งแยกทรัพย์สินของ บมจ.ปตท. พบว่า 30 ก.ย. 2550 ระบบท่อส่งก๊าซบนบก ในทะเล และระบบท่อจัดจำหน่าย มีมูลค่าทั้งสิ้น 115,000 ล้านบาท (มูลค่าสุทธิทางบัญชีเหลือ 82,200 ล้านบาท) ประกอบด้วย ท่อส่งก๊าซที่ได้มาโดยใช้อำนาจมหาชนของรัฐหลังแปรรูป เช่น โครงการท่อเส้นที่ 3 มูลค่า 28,600 ล้านบาท และมีการวางท่อก๊าซในทะเลที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ใช้อำนาจมหาชนของรัฐตั้งแต่ยังเป็น ปตท.
นายวีระ ได้ชี้ให้เห็นผลประโยชน์มหาศาลนี้ ที่กระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.ปตท. ควรปกป้องดูแล แต่กลับบิดเบือน และทำหนังสือเลขที่ 0304/0306 เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. 2551 ถึงผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินว่า ครม. มีมติเมื่อ 18 ธ.ค. 2550 มอบหมายให้กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์รับไปดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สินตามที่ศาลปกครองสูงสุดพิพากษา ทั้งๆ ที่มติ ครม. ให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้อง
“ทั้งคลังและกระทรวงพลังงาน แบ่งแยกทรัพย์สิน เขาบอกว่าแยกเสร็จแล้ว แต่รายละเอียดไม่ตรงกับของที่ สตง. ตรวจสอบ เขาแยกทรัพย์สินที่เอื้อประโยชน์แก่ ปตท. โดยดูได้ที่คนเซ็นหนังสือ คือ รัฐมนตรีช่วยกระทรวงการคลังขณะนั้น ร้อยตรีหญิง ระนองรัตน์ สุวรรณฉวี ภรรยาของ นายไพโรจน์ สุวรรณฉวี แห่งพรรคไทยรักไทย ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดทักษิณ เดินหน้าฮุบท่อส่งก๊าซ แบ่งแยกทรัพย์สินตามใจคลัง สตง. พูดไม่ออก”
นอกจากนี้ เลขาธิการ คปต. ยังแสดงหนังสือของ สตง. ถึงประธานวุฒิสภา เมื่อ 11 ส.ค. 2553 ชี้แจงว่า ปตท. คืนท่อก๊าซไม่ครบถ้วนจำนวน 32,613.45 ล้านบาท และท่อส่งก๊าซบนบกบางส่วนไม่ครบถ้วนอีก 21,400 ล้านบาท รวมทั้งสองรายการ 5 หมื่นล้านบาท ขณะที่ตัวเลขที่ปตท.ส่งคืนท่อส่งก๊าซบนบกแค่ 55.42% เท่านั้น
“ต่อจากนี้ไป ผมจะดำเนินคดีทั้งหมด ในเมื่อเราท้วงติงไปตั้งแต่วันที่ 13 ส.ค. เราแถลงถึงความไม่ชอบมาพากลเกี่ยวกับเอกสารแถลงข่าวของ ปตท. จากนั้นเช้าวันศุกร์ที่ 15 ส.ค. เราก็ไปยื่นให้หยุดการแยกตั้งบริษัทท่อส่งก๊าซ แต่พอบ่ายมีมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งขาติออกมา ตามหลักกฎหมาย ความผิดสำเร็จแล้ว ต่อจากนี้ ผมจะดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ฐานปฏิบัติและละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ทำให้ประชาชนเสียหาย คสช. ก็ไม่อยู่เหนือกฎหมาย” วีระ เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชันกล่าวในที่สุด