อดีต ส.ว. กทม. ชู “ประยุทธ์” ความหวังสุดท้ายของ ปชช. เร้าสะสางปมท่อส่งก๊าซที่ ปตท. ครอบครองอยู่คืนให้รัฐตามคำสั่งศาล ท้า ก.คลัง - พลังงาน กล้าพูดหรือไม่ว่า “ท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน” วอนถาม ปชช. ว่ายอมหรือไม่ ก่อนคิดแปรรูปให้เอกชนเป็นเจ้าของ 100%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ภายใต้หัวข้อ “ท่อส่งก๊าซในทะเลต้องเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ไม่ใช่สมบัติผลัดกันกินของธุรกิจเอกชน” โดยกล่าวถึงข้อความในหนังสือที่เครือข่ายภาคประชาชนจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย ไปยื่นถึงประธาน คสช. ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่กองบัญชาการกองทัพบก ถนนราชดำเนินนอก ว่า ในหนังสือที่ไปยื่นมีใจความดังนี้
“ขอให้ประธาน คสช. ชะลอการมีมติ กพช. เรื่องแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่ออกไปก่อน จนกว่าจะสะสางข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ว่าใครเป็น “เจ้าของ” ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า “ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน” ที่ ปตท. ครอบครองอยู่ก่อนที่ศาลตัดสินและมีคำสั่งให้คืนกลับมาให้กับรัฐมีอะไรบ้าง?
รวมทั้งกรณีท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลที่ ปตท. ยังคืนไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของ สตง. ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนทรัพย์สินตามมติ ครม. สมัยรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อ 18 ธันวาคม 2550
ประธาน คสช. โปรดใช้อำนาจตรวจสอบกรณีนี้ เพราะนักการเมืองในทุกยุคที่มีกลุ่มทุนหนุนหลัง ไม่มีใครกล้าสะสาง เหลือแต่เพียง คสช. ที่ประชาชนคาดหวังให้มาเป็นผู้สะสางกรณีนี้เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน
สิ่งที่เครือข่ายประชาชนได้ทักท้วงการแยกระบบท่อส่งก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ และให้ บมจ.ปตท. เป็นเจ้าของนั้น เพราะระบบท่อส่งก๊าซเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ซึ่งตามกฎหมายจะไม่สามารถนำมาซื้อขาย และไม่สามารถยกให้เอกชนเป็นเจ้าของได้
การแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทจะทำให้สาธารณสมบัติที่รัฐเป็นเจ้าของทั้ง 100% จะถูกลดสัดส่วนลงตามการถือหุ้นของรัฐใน ปตท. ที่มีอยู่ 51% เป็นการเปิดช่องให้เอกชนอีก 49% เข้ามาฮุบสมบัติชาติ
ตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา หน่วยงานที่มีหน้าที่ในการแบ่งแยกและนำทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ที่ ปตท. ครอบครองอยู่คืนให้รัฐตามคำสั่งศาล แต่หน่วยงานเหล่านั้นกลับเพิกเฉย ปล่อยปละละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ การปล่อยให้ บมจ.ปตท. ครอบครองท่อส่งก๊าซในทะเลไว้เพราะเหตุใด?
ดิฉันขอให้หน่วยงานเหล่านั้น ช่วยตอบคำถามดิฉันด้วยว่า “ท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเลเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือไม่?” การวางท่อส่งก๊าซในทะเลต้องใช้อำนาจของรัฐหรือไม่? หรือเอกชนรายไหนก็วางท่อก๊าซได้โดยไม่ต้องอาศัยอำนาจรัฐ? กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน คณะกรรมการกฤษฎีกากล้าออกมาแถลงต่อสาธารณชนหรือไม่ว่า “ท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ใช่สาธารณสมบัติของแผ่นดิน”
ก่อนที่จะแปรรูป ปตท. รอบ 2 ให้เป็นเอกชน 100% โปรดถามประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศเสียก่อนว่ายอมหรือไม่?
โรดแมปการปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนคือการแปรรูป ปตท. ให้เสร็จสมบูรณ์ต่อจากการแปรรูป ปตท. ครั้งที่ 1 เป็นการฟื้นคืนชีพของ “กลุ่มทุนที่นิยมแปรรูปสมบัติชาติ” ชุดเดิม ที่เคยตั้งสำหรับผลประโยชน์การแปรรูป ปตท. ไว้ แต่ถูกทักษิณเข้ามาชุบมือเปิบไปเมื่อปี 2544 มาถึงวันนี้ได้โอกาสฟื้นคืนชีพมาอีกครั้งหลังรัฐประหาร ที่เป็นช่วงเว้นวรรคของพรรคทักษิณ เลยรีบร้อนจะตั้งสำรับผลประโยชน์ในการแปรรูป ปตท. รอบ 2 ให้ได้ก่อนเลือกตั้งปี 2558 จะได้ไม่ถูกนักการเมืองจากการเลือกตั้งในอนาคต มาชุบมือเปิบอีกรอบ ใช่หรือไม่?
การปฏิรูปพลังงานของคนเหล่านี้ มีความหมายแค่การแปรรูปสาธารณูปโภคพื้นฐานให้เป็นของเอกชน 100% แค่นั้นหรือ?
หรือคือการโอนอำนาจรัฐที่เคยดูแลราคาพลังงานที่เป็นธรรมแก่ประชาชนไปสู่สิ่งที่เรียกว่ากลไกตลาดเสรี (ภายใต้กลุ่มทุนผูกขาดพลังงาน) เท่านั้นหรือ?
การแปรรูปสมบัติชาติเป็นไปเพื่อความยั่งยืนทางธุรกิจของกลุ่มทุน หรือเพื่อความยั่งยืนของประชาชนกันแน่? ทั้งที่ก่อนหน้าการแปรรูป ปตท. รัฐวิสาหกิจนี้ได้กำไรมาโดยตลอด มีเงินส่งเข้ารัฐและประชาชนก็ได้ราคาพลังงานที่เป็นธรรม เหมือนในมาเลเซีย
การลักไก่แปรรูปครั้งที่ 1 ก็ทำให้ประชาชนขมขื่นจากราคาน้ำมันแพง แล้วทำไมประชาชนจะต้องยอมรับกับการถูกมัดมือชกในการแปรรูปครั้งที่ 2 ด้วยข้ออ้างอันสวยหรูว่า “กลุ่มทุนมีประสิทธิภาพมากกว่ารัฐ” ทั้งที่ใครๆ ก็รู้ว่าประสิทธิภาพของบรรษัทพลังงานเอกชนนั้นก็คือ การแสวงหากำไรสูงสุด บนค่าใช้จ่ายสูงสุดของประชาชนนั่นเอง”