xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” แฉ ปตท.หน้ามืดลงทุนเกาะไซปรัส เหน็บแปรรูปปตท.เพื่อกำไรอันยั่งยืนของผู้ถือหุ้นเอกชน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ (แฟ้มภาพ)
อดีต ส.ว.กทม.แฉอีก ปตท.ฮิตลงทุนบนเกาะ หอบกำไรก้อนโตเปิด 3 บริษัทในไซปรัสเกาะฟอกเงินที่เคยเจอวิกฤตจนเกือบล้มละลายมาแล้ว บี้ “สตง.-ป.ป.ช.-ก.ล.ต.” ตรวจสอบ เย้ยลนลานเร่ง คสช.แปรรูปเป็นรัฐวิสาหกิจหวังหนีตรวจสอบ-ผูกขาดกำไรงามแก่ผู้ถือหุ้นเอกชนรายใหญ่ ใช่หรือไม่? เตือนแปรรูปเท่ากับสืบทอดนโยบายขายสมบัติชาติของทักษิณ ให้เอกชนชุบมือเปิบ อนาคต กฟผ.ก็อาจไม่เหลือ

วันนี้ (6 ส.ค.) เมื่อเวลาประมาณ 03.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กรุงเทพฯ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ภายใต้หัวข้อ “ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน หรือคือการแปรรูปขายสมบัติชาติเพื่อความมั่นคงของกลุ่มทุน?” ตามข้อความดังนี้


“บริษัท ปตท.นอกจากมีบริษัทลูกหลานในเกาะเคย์แมนถึง 30-32 บริษัทแล้ว ยังมีการเปิดบริษัทในที่อื่นๆ ได้แก่ เกาะไซปรัส เกาะมอร์ริเชียส เกาะบาฮามาส และเกาะเบอร์มิวด้า ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งทางการเงินโพ้นทะเลซึ่งถูกระบุไว้ในรายงานของสหประชาชาติว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน แหล่งที่มาของรูปแบบการฉ้อฉลทางการเงินระดับสูงและแหล่งหลีกเลี่ยงภาษีทั่วโลก

บริษัท ปตท.ได้แจกแจงกำไรในปี 2555 และ 2556 ว่านำไปลงทุนอะไรบ้าง (ดูภาพประกอบ) ในปี 2555 กำไรสุทธิของ ปตท.104,700 ล้านบาท นำมาปันผลให้ผู้ถือหุ้นเพียง 35% เท่ากับ 37,100 ล้านบาท และนำกำไรอีก 65% ไปลงทุนในกิจการต่างๆ และในจำนวนเงินที่นำไปลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาทนำไปซื้อแหล่งสัมปทานในประเทศโมซัมบิกด้วยการประมูลซื้อกิจการบริษัท Cove Energy

ปรากฏในรายงานการเงินของ ปตท.ว่ามีการไปเปิดบริษัท Cove Energy ในไซปรัส 3 บริษัท ทั้งๆ ที่โมซัมบิกอยู่ในแอฟริกา เหตุใดเลือกไปเปิดบริษัท Cove Energy ในไซปรัสซึ่งเป็นเกาะฟอกเงินในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และวิกฤตการณ์ด้านการเงินในไซปรัสเมื่อปี 2556 เกือบทำให้ไซปรัสต้องหลุดจากยูโรโซน และล้มละลาย เป็นความปลอดภัยแล้วหรือที่นำเงินกำไรของรัฐและผู้ถือหุ้นไปเปิดบริษัทในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงทางด้านการเงินแบบนี้?

นอกจากนี้ การเปิดบริษัทท่อส่งก๊าซในเบอร์มิวดา โดยบริษัทลูกหลาน ปตท.มีหุ้นอยู่25% เปิดบริษัทท่อส่งก๊าซ 2 บริษัทในเคย์แมนที่ถือหุ้น 19.3178% และอีกบริษัท 80% ส่วนบริษัทที่เปิดที่เกาะบาฮามาส เป็นธุรกิจให้เช่าเรือถือหุ้นเพียง 13.11%

เป็นเรื่องน่าสังเกตว่า หุ้นที่เหลือใครเป็นผู้ถือบ้าง มีนักการเมือง ข้าราชการ หรือกรรมการ ปตท.ไปถือหุ้นด้วยหรือไม่? หรือการถือหุ้นแบบนี้เป็นเพียงเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเพราะเป็นเพียงบริษัทกระดาษอย่างที่นิยมทำกัน

มีรายละเอียดให้ตรวจสอบได้หรือไม่? เพราะเงินทุนที่นำไปลงทุนมาจากกำไรของผู้ถือหุ้นที่ถูกแบ่งเอาไปลงทุนมากว่าที่เอามาปันผล และอาจเป็นการ “ถ่ายเทผลประโยชน์” เพื่อนำไปขาดทุนแบบเดียวกับที่เอาไปขาดทุนในการปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียหรือไม่?

องค์ตรวจสอบทั้งหลายทั้ง สตง., ป.ป.ช., ก.ล.ต., กระทรวงการคลัง ต้องออกมาตอบคำถามสังคมว่า จะปล่อยให้บริษัท ปตท.ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น 51% มีเสรีภาพในการถ่ายเทผลประโยชน์จากกำไรของรัฐและผู้ถือหุ้นไปยังเกาะฟอกเงินเหล่านี้ต่อไป โดยไม่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังหรืออย่างไร?

ดิฉันเชื่อว่าประชาชนต้องการได้ยินคำตอบดังๆ จากท่านทั้งหลายว่าจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร? อย่าปล่อยให้ต้องขาดทุนแบบกรณีที่เกิดที่อินโดนีเซียเสียก่อน ค่อยมาตรวจสอบไล่เบี้ยกัน

และเพราะต้องการหนีการตรวจสอบใช่ไหม? ที่เป็นเหตุให้บอร์ดชุดนี้ต้องการเร่งรีบจะแปรรูป ปตท.ให้สิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเร็วโดยใช้อำนาจของ คสช.ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยอ้างวาทกรรมว่าต้องการหนีนักการเมืองล้วงลูก และเข้าสู่การแข่งขันเสรี

ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น กลุ่มนักการเมือง กับกลุ่มทุนที่ชอบขายสมบัติชาติ มักใช้กลุ่มข้าราชการเดิมๆ แสวงหาประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาดทำกำไรงามแก่ผู้ถือหุ้นเอกชนรายใหญ่

การแปรรูป ปตท.รอบสองเท่ากับเป็นการต่อยอดให้กับการแปรรูปในยุครัฐบาลทักษิณซึ่งแสดงเจตนาชัดเจนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถ้าขาย ปตท.ให้เอกชนทั้งหมดได้ ต่อไปก็คงขาย กฟผ.ทั้งหมดให้เอกชนได้เช่นกัน อันเป็นการสืบทอดนโยบายขายสมบัติชาติของทักษิณนั่นเอง ใช่หรือไม่?

ที่แท้นั้น การปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนก็มีความหมายเพียงการขาย ปตท.ทั้งหมดให้เอกชนแบบชุบมือเปิบ ทั้งที่แต่เดิม ปตท.เคยเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนและเป็นสมบัติแผ่นดิน

ขอถามว่าการขายสมบัติชาติรอบสองนี้ ทำไปเพื่อประโยชน์ของใคร? เพื่อความยั่งยืนทางพลังงานของประชาชน หรือเพื่อกำไรอันยั่งยืน (บนหลังของประชาชน) ของผู้ถือหุ้นเอกชน และเพื่อต้องการหนีการตรวจสอบของประชาชนที่ยังเป็นเจ้าของ ปตท.อยู่ครึ่งหนึ่ง ใช่หรือไม่?”






กำลังโหลดความคิดเห็น