“ปตท.” เกาะติดสถานการณ์ราคา LNG ตลาดโลกหลังพบราคาดิ่งหนักเหลือ 10 เหรียญต่อล้านบีทียู จากช่วงต้นปีราคาพุ่งพรวดถึง 20 เหรียญต่อล้านบีทียู จ่อทยอยนำเข้า
นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปตท.กำลังติดตามสถานการณ์ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) อย่างใกล้ชิด เนื่องจากพบว่าขณะนี้ราคา LNG เริ่มลดลงมาอยู่ระดับเพียง 10 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ซึ่งถือเป็นราคาที่ต่ำลงมากจากช่วงต้นปีที่ราคาขึ้นไปสูงถึง 19-20 เหรียญต่อล้านบีทียู ซึ่งทำให้ ปตท.มีโอกาสที่จะทยอยซื้อ LNG ในราคาต่ำเข้ามาได้เพิ่มขึ้น
“ราคา LNG ตลาดโลกขณะนี้หากเทียบกับช่วงต้นปีราคาลดลงถึง 50% เนื่องจากคาดว่าส่วนหนึ่งที่สำคัญคือผู้ใช้เริ่มหันไปซื้อน้ำมันที่มีราคาต่ำลงเพิ่มขึ้นแทน ซึ่งถือเป็นการทดสอบราคา LNG ต่ำสุดและสูงสุดของตลาดที่เป็นไปตามกลไกของตลาดที่มีการแข่งขันที่สุดราคาจะนำมาสู่จุดสมดุล ซึ่งราคาที่ลงมาต่ำสุดยอมรับว่าใกล้เคียงกับราคาก๊าซที่นำเข้าจากพม่า แต่ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์หรือ NGV ที่ขายอยู่ 10.50 บาทต่อกิโลกรัมนั้นก็ยังต่ำกว่าความเป็นจริงมาก” นายไพรินทร์กล่าว
ปัจจุบันประเทศที่นำเข้า LNG รายใหญ่ก็คือญี่ปุ่นปีละ 60 ล้านตัน รองลงมาเป็นเกาหลีซึ่ง 2 ประเทศนี้มีการนำเข้า LNG หลักๆ ของตลาดโลก เพราะถือเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของ 2 ประเทศนี้ อย่างไรก็ตาม หาก ปตท.จะมีการทยอยนำเข้าก็คงจะดูราคาที่เหมาะสมและปริมาณเรือ ซึ่งส่วนใหญ่เรือขน LNG จะเฉลี่ยลำละ 5 หมื่นตัน โดยที่ผ่านมาปตท.มีการนำเข้าแล้ว 3 ล้านตัน
นายไพรินทร์ยังกล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรกูเลเตอร์ ได้เห็นชอบร่างระเบียบการแข่งขันในธุรกิจค้าก๊าซธรรมชาติที่จะมีกรอบกำหนดให้บุคคลที่ 3 สามารถใช้บริการทางท่อ สถานีแปลงก๊าซ LNG และคลัง LNG หรือ (Third Party Access หรือ TPA) ของ บมจ.ปตท.ได้ จากปัจจุบันที่ บมจ.ปตท.ผูกขาดรายเดียว ซึ่งหลังจากนี้ ปตท.จะต้องไปจัดทำข้อปฏิบัติ หรือ TPA Code ปตท.เองก็พร้อมที่จะปฏิบัติตามระเบียบ แต่ยอมรับว่า TPA เองนั้นก็มีความเสี่ยงที่ลูกค้าเองก็ต้องมั่นใจว่าลูกค้ารายใหม่ที่จะมาเล่นในตลาดนี้ว่าจะสามารถจัดหาได้เพียงพอหรือไม่ด้วย
“เวลานี้ ปตท.เป็นผู้จัดหาก๊าซทั้งหมดรวมถึง LNG นำเข้ามาด้วยจึงถือเป็นขนาดใหญ่มาก ที่ผ่านมาลูกค้า เช่น กรณีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เองต้องรับจาก ปตท.นั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ปตท.ก็ต้องจัดหาให้ตามสัญญา เมื่อถ้ามีรายอื่นเข้ามา กฟผ.ไปรับที่อื่นแล้วไม่มีก๊าซฯ จะมาโทษ ปตท.หรือจะมาขอ ปตท.แทนก็ไม่ได้จุดนี้ก็มีความเสี่ยงนะ ดังนั้นจะต้องดูตลาดว่าตอบรับกับ TPA จริงหรือไม่” นายไพรินทร์กล่าว
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท บมจ.ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาการแยกธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานออกมาจากธุรกิจหลักของ ปตท. โดยจะเริ่มต้นจากท่อส่งก๊าซธรรมชาติก่อน คาดว่าจะแล้วเสร็จในวันที่ 1 มกราคม 2558 เพื่อเตรียมให้ผู้ที่สนใจเข้ามาใช้บริการได้ โดยจะเป็นการแยกแค่ในส่วนของท่อก๊าซฯ เท่านั้น ไม่รวมโรงแยกก๊าซฯ ซึ่งการบริหารงานของ ปตท.ได้มีการแยกท่อส่งก๊าซฯ กับโรงแยกก๊าซฯ อยู่แล้ว แต่กรณีการแยกมาตั้งบริษัทใหม่ยังไม่ได้มีแผนดำเนินการ