xs
xsm
sm
md
lg

“เรกูเลเตอร์” เบรก ปตท.ขึ้นค่าส่งก๊าซฯ ปี 57 ให้คงราคาเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เรกูเลเตอร์” มีมติให้ ปตท.คงราคาค่าจัดส่งก๊าซธรรมชาติผ่านท่อพื้นที่ 1-5 ปี 2557 หวั่นกระทบค่าไฟฟ้าให้คงราคาเดิมจนกว่าจะสรุปอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติใหม่ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการหลัง “ปตท.” เสนอปรับขึ้นพื้นที่ 1-3 มาอยู่ที่ 1.4209 บาทต่อล้านบีทียู พื้นที่ 4 อยู่ที่ 0.0552 บาทต่อล้านบีทียู ส่วนพื้นที่ 5 ไม่มีการจัดเก็บ

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) เปิดเผยว่า เรกูเลเตอร์ได้พิจารณาข้อเสนอการปรับขึ้นอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติในส่วนของต้นทุนผันแปรที่จะมีการทบทวนทุกปีเพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนจริงประจำปี 2557 ของ บมจ.ปตท. โดยให้คงอัตราเดิมไปก่อนจนกว่าจะมีการสรุปอัตราค่าบริการก๊าซธรรมชาติใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อนำเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) พิจารณาต่อไป

สำหรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติส่วนของต้นทุนผันแปรของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ระยอง (พื้นที่ 1) ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ขนอม (พื้นที่ 2) และระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนฝั่ง (พื้นที่ 3) ประจำปี 2557 ปตท.เสนอขยับมาอยู่ที่อัตรา 1.4679 บาทต่อล้านบีทียู โดยเรกูเลเตอร์ให้คงไว้ในอัตราเดิมที่ 1.3380 บาทต่อล้านบีทียู อัตราค่าบริการส่งก๊าซฯ บนฝั่งที่จะนะ (พื้นที่ 4) ปตท.เสนออัตราใหม่ที่ 0.0552 บาทต่อล้านบีทียู เรกูเลเตอร์ให้คงที่ 0.0145 บาทต่อล้านบีทียู ระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนฝั่งที่น้ำพอง (พื้นที่ 5) ไม่มีการจัดเก็บ

ทั้งนี้ เรกูเลเตอร์ได้พิจารณาปรับค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติโดยคำนึงถึงภาระและผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ รวมทั้งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) ตลอดจนผลกระทบต่อภาคการผลิตเป็นสำคัญ เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า การปรับอัตราค่าบริการส่งก๊าซธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่ออัตราค่าไฟฟ้าในระดับหนึ่ง รวมทั้งยังคำนึงถึงการให้ บมจ.ปตท.มีสภาพคล่องเพียงพอในการลงทุน และบำรุงรักษาระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และรองรับความต้องการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งจากการพิจารณาต้นทุนภาพรวมและค่าการดำเนินงานต่างๆ ของ บมจ.ปตท.แล้วยังสามารถคงราคาเดิมไว้ได้โดยไม่ได้เป็นภาระแต่อย่างใด

“เรกูเลเตอร์ได้ลงประกาศมติดังกล่าวเพื่อเปิดให้รับฟังความคิดเห็นแล้วซึ่งจะสิ้นสุดวันที่ 19 มิ.ย.นี้ หลังจากนั้นจะนำมาพิจารณาแนวทางก่อนประกาศอย่างเป็นทางการอีกครั้ง ซึ่งคาดว่ากระบวนการทั้งหมดจะใช้เวลาประมาณ 30 กว่าวันหลังจากรับฟังความเห็นเสร็จ” นายดิเรกกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น