ปตท.ส่อเลื่อนขายหุ้น “GPSC” เป็นไตรมาส 1/2558 หลังตลาดไม่เอื้อ แย้มจับมือผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ สยายปีกลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ มั่นใจผลดำเนินงานไตรมาส 2 นี้ของ ปตท.ดีกว่าไตรมาสก่อนแน่
นายสุรงค์ บูลกุล ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยความคืบหน้าการนำบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GPSC) เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมเพื่อนำบริษัท GPSC ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่ม ปตท. เข้าขายหุ้นแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (IPO) ในตลาดหลักทรัพย์ และการจัดตั้งกรรมการอิสระ คาดว่าอาจจะต้องเลื่อนเข้าตลาดหุ้นเป็นไตรมาส 1/2558 จากเดิมที่จะเข้าตลาดหุ้นในช่วงไตรมาส 3-4 นี้ เนื่องจากบรรยากาศตลาดหุ้นยังไม่เอื้อต่อการระดมทุน
อย่างไรก็ตาม หากภาวะตลาดทุนดีขึ้นหลังจากนี้ก็อาจจะมีการกลับมาพิจารณาว่าจะ IPO ปีนี้หรือไม่ แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริษัท ปตท.จะเป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ สำหรับผลการดำเนินงานไตรมาส 1/2557 ของบริษัท GPSC ยังเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนความเป็นไปได้ในการจับมือกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) (RATCH) นั้น เนื่องจากบริษัท GPSC และผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ดำเนินธุรกิจไฟฟ้าเหมือนกันและอยู่ภายใต้การกำกับดูแลจากกระทรวงพลังงาน มีความเชื่อมโยงระหว่างบริษัทแม่ คือ ปตท.กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ด้วย ก็มีความเป็นไปได้ในอนาคตที่ GPSC จะจับมือกับผลิตไฟฟ้าราชบุรีฯ ในการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศ เพราะGPSC ไม่ต้องการลงทุนต่างประเทศเพียงลำพัง จำเป็นต้องหาพาร์ตเนอร์ เป็นต้น
นายสุรงค์กล่าวต่อไปว่า สำหรับธุรกิจถ่านหินที่อินโดนีเซียนั้น ขณะนี้บริษัทฯ เตรียมปรับโครงสร้างธุรกิจถ่านหินเพื่อให้ต้นทุนการดำเนินงานต่ำลงในช่วงภาวะราคาถ่านหินถูก เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับในช่วงการฟื้นตัวธุรกิจถ่านหินในอนาคต ซึ่งธุรกิจถ่านหินเป็นธุรกิจที่มีอนาคตเพราะเป็นเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าที่ราคาถูก
ปีนี้บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายผลิตถ่านหิน 8-10 ล้านตัน/ปี ลดลงจากปีก่อนที่ผลิตอยู่ 11 ล้านตัน และต่ำกว่าแผนงานเดิมที่เคยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะผลิตที่ 17 ล้านตัน และในปี 2563 จะผลิตเพิ่มเป็น 70 ล้านตัน ทั้งนี้ เมื่อตลาดถ่านหินฟื้นตัวดีขึ้น ปตท.มีแผนนำบริษัทลูก คือ Sakari เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ที่อินโดนีเซีย
การตัดสินใจรุกธุรกิจถ่านหินของ ปตท.นี้ เนื่องจากเห็นว่าถ่านหินเป็นพลังงานชนิดหนึ่งที่มีปริมาณสำรองจำนวนมากเมื่อเทียบกับน้ำมันและก๊าซฯ ซึ่งในอนาคตถ่านหินอาจมีบทบาทมากขึ้น แม้ว่าขณะนี้ไทยให้ความสำคัญต่อพลังงานถ่านหินค่อนข้างน้อยก็ตาม โดย ปตท.ต้องการเป็นเจ้าของพลังงานอย่างครบวงจร ทั้งถ่านหิน ก๊าซฯ และน้ำมันดิบ เพื่อเสริมความมั่นคงของประเทศ
ทั้งนี้ สถานการณ์ทางการเมืองในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมาทำให้ ปตท.ต้องดำเนินงานภายใต้แผนฉุกเฉิน และไม่ได้มีการปรับลดงบการลงทุนแต่อย่างใด แม้ว่าจะเกิดความล่าช้าในการก่อสร้างท่อส่งก๊าซฯ บนบกเส้นที่ 4 และผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2557 ก็ยังเป็นไปตามเป้าหมาย และเชื่อว่าผลดำเนินงานในไตรมาที่ 2 นี้จะดีกว่าไตรมาส 1/2557 ที่มีรายได้รวม 7.27 แสนล้านบาท และกำไรสุทธิ 2.74 หมื่นล้านบาท