xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.หนีตรวจสอบ ปิด10บริษัทย่อยเกาะเคย์แมน "รสนา"เตือนซ้ำรอย"แม้ว"ขายสมบัติชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-ปตท.สผ.เล็งปิดบริษัทย่อยในเคย์แมนเพิ่มอีก 5-10 บริษัท หลังคืนแปลงสัมปทานในต่างประเทศ ยันการเปิดบริษัทย่อยเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่ได้มุ่งหวังฟอกเงินหรือเลี่ยงภาษี ยันบริษัทน้ำมันต่างชาติก็ทำกัน "รสนา"แฉไม่ใช่แค่เกาะเคย์แมน แต่ยังมีในเกาะไซปรัส มอร์ริเชียส บาฮามาส และเบอร์มิวด้า บี้ สตง. ป.ป.ช. กลต. ตรวจสอบ เย้ยลนลานเร่ง คสช. แปรรูป หวังหนีการตรวจสอบ เตือนอย่าสืบทอดนโยบายขายสมบัติชาติเหมือนสมัย "ทักษิณ" ให้นายทุนชุบมือเปิบ

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (PTTEP) เปิดเผยว่า ตามที่กระแสข่าวระบุว่ากลุ่มปตท. มีบริษัทย่อยในเคย์แมน์ประมาณ 30 บริษัทนั้น ปตท.สผ.ขอชี้แจงว่าบริษัทในเคย์แมนส่วนใหญ่เป็นบริษัทในเครือ ปตท.สผ. และเป็นของ ปตท. เพียง 1 บริษัท ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะฟอกเงินหรือหลบเลี่ยงภาษี แต่เพื่อความคล่องตัวในการบริหารจัดการลงทุน และลดความเสี่ยงของการลงทุนในต่างประเทศ

ทั้งนี้ บริษัทอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างธุรกิจ และมีแผนที่จะปิดบริษัทที่จดทะเบียนในเคย์แมนเพิ่มอีก 5-10 บริษัท หากพบว่าไม่มีความจำเป็น โดยเดิมได้เคยปิดไปแล้ว 4 บริษัท เนื่องจากมีการคืนแปลงสัมปทานปิโตรเลียมให้กับรัฐ หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในการสำรวจที่อียิปต์ อิหร่านและบาเรนห์ เป็นต้น และจะพยายามที่จะไม่เปิดบริษัทย่อยใหม่ในเคย์แมนเพิ่มเติมด้วย

“การมีบริษัทย่อยในเคย์แมน เกาะไซปรัส และที่อื่นๆ บางครั้งไม่สามารถเลี่ยงได้ เนื่องจากการซื้อกิจการแปลงปิโตรเลียมในต่างประเทศได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทในเกาะเคย์แมนหรือเกาะไซปรัสมาก่อนอยู่แล้ว เช่น การซื้อโคฟ เอ็นเนอยี่ ก็มีการตั้งบริษัทย่อยในไซปรัสถึง 3 บริษัท บางครั้งการยกเลิกบริษัทย่อยเหล่านี้ ทำได้ยุ่งยาก เพราะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลที่บริษัทได้ไปลงทุนก่อน และไม่เห็นว่าประเทศเหล่านี้จะมีผลเสียอะไร เพราะบริษัทน้ำมันข้ามชาติก็เปิดบริษัทในประเทศเหล่านี้อยู่แล้ว โดยบริษัทไม่ได้มุ่งหวังที่จะจดทะเบียนบริษัทในประเทศเหล่านี้ เพื่อให้ไกลหูไกลตา ลักลอบทำโน่นทำนี่"

นายเทวินทร์กล่าวว่า แม้ว่าเคย์แมนมีกฎหมายการจัดตั้งบริษัท การเพิ่มทุน การลดทุน และการปิดบริษัทที่ไม่ยุ่งยาก รวมทั้งมีค่าใช้จ่ายในการจัดการที่ต่ำ ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติทั่วไปของบริษัทน้ำมันนานาชาติรายใหญ่ทั่วโลก โดย ปตท.สผ. มีการเสียภาษีทั้งในประเทศไทยและประเทศที่ลงทุนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย

สำหรับด้านธุรกรรมการเงิน ปตท.สผ. ไม่มีการเปิดบัญชีธนาคารในเคย์แมน โดยบัญชีของบริษัทในเคย์แมนเป็นบัญชีที่เปิดในประเทศไทยหรือในประเทศที่บริษัทไปลงทุน ซึ่งขั้นตอนการเปิดบัญชีและธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้นเป็นไปตามข้อกำหนดของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.ป หรือธนาคารกลางของประเทศนั้นๆ โดยมี ปตท.สผ. สำนักงานใหญ่เป็นผู้บริหารจัดการและดูแลบัญชีดังกล่าว และมีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อความถูกต้องและโปร่งใส รวมทั้งมีสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ให้การตรวจสอบและรับรองงบการเงินของบริษัทในเคย์แมนทุกบริษัท เว้นบริษัท Taninthayi Pipeline Company LLC ซึ่งเป็นกิจการที่ควบคุมร่วมกัน โดย ปตท.สผ. ถือหุ้น 19.3178% และมีบริษัท Ernst & Young เป็นผู้ตรวจสอบบัญชี

นอกจากนี้ ในฐานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ปตท.สผ.ได้มีการเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะอย่างโปร่งใส ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และมีการบริหารงานตามหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี ตามหลักเกณฑ์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ปตท.สผ.ได้มีการจดทะเบียนตั้งบริษัทย่อยที่เคย์แมนเมื่อปี 2541 เป็นครั้งแรก เนื่องจากได้มีการเข้าไปร่วมลงทุนในเมียนมาร์ ซึ่งพาร์ทเนอร์ก็มีการจดทะเบียนบริษัทที่นั่นเช่นกัน

นายเทวินทร์กล่าวว่า ขณะนี้โครงการซอติก้าได้ป้อนก๊าซธรรมชาติให้แก่ ปตท. เพื่อนำมาใช้ภายในประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 5 ส.ค.ที่ผ่านมา และจะทยอยเพิ่มอัตราการผลิตจนถึงระดับ 240 ล้านลบ.ฟุต/วัน ซึ่งเป็นอัตราการส่งก๊าซธรรมชาติตามสัญญาซื้อขายกับปตท. หลังจากก่อนหน้านี้ ได้ป้อนก๊าซฯ ให้ MOGE เพื่อใช้ในเมียนมาร์ตั้งแต่มี.ค.ที่ผ่านมา ในปริมาณการผลิตเฉลี่ย 60 ล้านลบ.ฟุต/วัน

สำหรับบริษัท PTTEP International Company Limited (PTTEPI) เป็นบริษัทดำเนินการโครงการซอติก้าที่เป็นแหล่งก๊าซฯ นอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ ในอ่าวเมาะตะมะ ประเทศเมียนมาร์ ถือหุ้นสัดส่วน 80% และมีผู้ร่วมทุนคือ Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ถือสัดส่วน 20%

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 4 ส.ค. ที่ผ่านมา น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว.กรุงเทพฯ ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล กระตุ้นให้ประชาชนตื่นตัวกับความไม่ชอบมาพากล ที่มีบริษัทในเครือปตท. กว่า 30 บริษัท ไปตั้งอยู่บนเกาะเคย์แมน ซึ่งเป็นเกาะแห่งที่มีกฎหมายพิเศษเอื้อต่อขบวนการหลบเลี่ยงภาษี ฟอกเงิน ซึ่งจะเข้าไปตรวจสอบไม่ได้ เป็นการตอบโต้ หลังจากที่นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานบอร์ด ปตท. ให้สัมภาษณ์แทบลอยด์ไทยโพสต์ เมื่อวันที่ 20ก.ค.ที่ผ่านมาว่า ปตท.มีบริษัทในเคย์แมนแค่ 1 บริษัท ซึ่งสวนทางกับรายงานของผู้สอบบัญชีและงบการเงินของ PTT ที่ระบุว่ามีถึง 32บริษัท

ทั้งนี้ น.ส.รสนา ยังได้ตั้งข้อสงสัยว่ามีบริษัทในเครือปตท. ตั้งบริษัทบนเกาะเคย์แมน 30-32 บริษัท ทั้ง สตง. กระทรวงการคลัง กรรมการบอร์ด ป.ป.ช. กลต. ทำไมไม่มีการตรวจสอบ รวมทั้งได้ถามไปยัง ปตท.ให้ตอบชัดๆ ว่า เป็นการหลบเลี่ยงภาษีหรือไม่ มีธรรมาภิบาลต่อผู้ถือหุ้นหรือไม่ และใครเป็นผู้ตรวจสอบการใช้จ่ายและผลกำไรขาดทุน สุดท้ายได้ถามดังๆ ถึงองค์กรตรวจสอบในบ้านเมืองว่าเหตุใดถึงไม่มีใครตรวจสอบเรื่องใหญ่ขนาดนี้

หลังจากนั้น ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว เมื่อวันที่ 6 ส.ค. ภายใต้หัวข้อ "ปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนหรือคือการแปรรูปขายสมบัติชาติเพื่อความมั่นคงของกลุ่มทุน?" มีใจความโดยสรุปว่า บริษัท ปตท. นอกจากมีบริษัทลูกหลานในเกาะเคย์แมนถึง 30-32 บริษัทแล้ว ยังมีการเปิดบริษัทในที่อื่นๆ ได้แก่ เกาะไซปรัส เกาะมอร์ริเชียส เกาะบาฮามาส และเกาะเบอร์มิวด้า ซึ่งรายชื่อเหล่านี้ล้วนเป็นแหล่งทางการเงินโพ้นทะเล ซึ่งถูกระบุไว้ในรายงานของสหประชาชาติว่าเป็นแหล่งฟอกเงิน แหล่งที่มาของรูปแบบการฉ้อฉลทางการเงินระดับสูงและแหล่งหลีกเลี่ยงภาษีทั่วโลก

บริษัทปตท.ได้แจกแจงกำไรในปี 2555 และ 2556 ว่านำไปลงทุนอะไรบ้าง โดยในปี 2555 กำไรสุทธิของปตท. 104,700ล้านบาท นำมาปันผลให้ผู้ถือหุ้นเพียง35%เท่ากับ 37,100ล้านบาท และนำกำไรอีก 65%ไปลงทุนในกิจการต่างๆและในจำนวนเงินที่นำไปลงทุนประมาณ 60,000 ล้านบาทนำไปซื้อแหล่งสัมปทานในประเทศโมซัมบิกด้วยการประมูลซื้อกิจการบริษัท Cove Energy

ปรากฎในรายงานการเงินของปตท.ว่ามีการไปเปิดบริษัท Cove Energy ในไซปรัส3บริษัท ทั้งๆ ที่โมซัมบิกอยู่ในอัฟริกา เหตุใดเลือกไปเปิดบริษัทCove Energyในไซปรัสซึ่งเป็นเกาะฟอกเงินในทะเลเมดิเตอร์เรเนียน และวิกฤติการณ์ด้านการเงินในไซปรัสเมื่อปี 2556 เกือบทำให้ไซปรัสต้องหลุดจากยูโรโซน และล้มละลาย เป็นความปลอดภัยแล้วหรือที่นำเงินกำไรของรัฐและผู้ถือหุ้นไปเปิดบริษัทในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงทางด้านการเงินแบบนี้?

นอกจากนี้ การเปิดบริษัทท่อส่งก๊าซในเบอร์มิวด้า โดยบริษัทลูกหลานปตท.มีหุ้นอยู่25% เปิดบริษัทท่อส่งก๊าซ2บริษัทในเคย์แมนที่ถือหุ้น 19.3178% และอีกบริษัท 80% ส่วนบริษัทที่เปิดที่เกาะบาฮามาส เป็นธุรกิจให้เช่าเรือถือหุ้นเพียง13.11%

เป็นเรื่องน่าสังเกตุว่าหุ้นที่เหลือใครเป็นผู้ถือบ้าง มีนักการเมือง ข้าราชการ หรือกรรมการปตท.ไปถือหุ้นด้วยหรือไม่? หรือการถือหุ้นแบบนี้เป็นเพียงเรื่องอุปโลกน์ขึ้นมาเพราะเป็นเพียงบริษัทกระดาษอย่างที่นิยมทำกัน

มีรายละเอียดให้ตรวจสอบได้หรือไม่? เพราะเงินทุนที่นำไปลงทุนมาจากกำไรของผู้ถือหุ้นที่ถูกแบ่งเอาไปลงทุนมากว่าที่เอามาปันผล และอาจเป็นการ"ถ่ายเทผลประโยชน์" เพื่อนำไปขาดทุนแบบเดียวกับที่เอาไปขาดทุนในการปลูกปาล์มน้ำมันในอินโดนีเซียหรือไม่?

องค์ตรวจสอบทั้งหลายทั้งสตง. ปปช. กลต. กระทรวงการคลังต้องออกมาตอบคำถามสังคมว่า จะปล่อยให้บริษัทปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่รัฐถือหุ้น51% มีเสรีภาพในการถ่ายเทผลประโยชน์จากกำไรของรัฐและผู้ถือหุ้นไปยังเกาะฟอกเงินเหล่านี้ต่อไป โดยไม่ตรวจสอบเรื่องนี้อย่างจริงจังหรืออย่างไร?

ดิฉันเชื่อว่าประชาชนต้องการได้ยินคำตอบดังๆจากท่านทั้งหลายว่าจะดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร? อย่าปล่อยให้ต้องขาดทุนแบบกรณีที่เกิดที่อินโดนีเซียเสียก่อน ค่อยมาตรวจสอบไล่เบี้ยกัน

และเพราะต้องการหนีการตรวจสอบใช่ไหม? ที่เป็นเหตุให้บอร์ดชุดนี้ต้องการเร่งรีบจะแปรรูปปตท.ให้สิ้นสภาพการเป็นรัฐวิสาหกิจโดยเร็วโดยใช้อำนาจของ คสช.ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยอ้างวาทกรรมว่าต้องการหนีนักการเมืองล้วงลูก และเข้าสู่การแข่งขันเสรี

ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น กลุ่มนักการเมือง กับกลุ่มทุนที่ชอบขายสมบัติชาติ มักใช้กลุ่มข้าราชการเดิมๆแสวงหาประโยชน์จากการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่มีลักษณะผูกขาดทำกำไรงามแก่ผู้ถือหุ้นเอกชนรายใหญ่

การแปรรูปปตท.รอบสองเท่ากับเป็นการต่อยอดให้กับการแปรรูปในยุครัฐบาลทักษิณซึ่งแสดงเจตนาชัดเจนในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ถ้าขายปตท.ให้เอกชนทั้งหมดได้ ต่อไปก็คงขายกฟผ.ทั้งหมดให้เอกชนได้เช่นกัน อันเป็นการสืบทอดนโยบายขายสมบัติชาติของทักษิณนั่นเอง ใช่หรือไม่?

ที่แท้นั้น การปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน ก็มีความหมายเพียงการขายปตท.ทั้งหมดให้เอกชนแบบชุบมือเปิบ ทั้งที่แต่เดิมปตท.เคยเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานของประชาชนและเป็นสมบัติแผ่นดิน

ขอถามว่าการขายสมบัติชาติรอบสองนี้ ทำไปเพื่อประโยชน์ของใคร? เพื่อความยั่งยืนทางพลังงานของประชาชน หรือเพื่อกำไรอันยั่งยืน (บนหลังของประชาชน) ของผู้ถือหุ้นเอกชน และเพื่อต้องการหนีการตรวจสอบของประชาชนที่ยังเป็นเจ้าของปตท.อยู่ครึ่งหนึ่ง ใช่หรือไม่?
กำลังโหลดความคิดเห็น