xs
xsm
sm
md
lg

โครงการ FLNG ของ ปตท.สผ.สะดุด หลังราคาก๊าซวูบ-ไทยอดสต๊อกใช้ของถูก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.หวั่นราคา LNG ถูกจัดโครงการ FLNG ของ ปตท.สผ.ชะงัก แต่เชื่อว่า LNG ตลาดจรที่ 10 เหรียญ/ตันเป็นจุดต่ำสุดแล้วแม้ว่าไม่มีสัญญาณราคาขยับขึ้น แต่ไทยอดสต๊อกใช้ของราคาถูก เนื่องจากถังเก็บ LNG มีจำกัด

นายณัฐชาติ จารุจินดา ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจปิโตรเลียมขั้นต้นและก๊าซธรรมชาติ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากราคาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ตลาดจรของโลกปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 10 เหรียญสหรัฐ/ตัน ต่ำลงมากเมื่อเทียบจากต้นปีนี้ที่อยู่ตันละ 19 เหรียญสหรัฐ ทำให้ ปตท.มีแนวคิดที่จะทยอยซื้อ LNG มาสต๊อกไว้ใช้ เพราะเป็นระดับราคาใกล้เคียงกับราคาก๊าซฯ ที่นำเข้าจากพม่า แต่ติดปัญหาถังเก็บ LNG ของ ปตท.มีจำกัด มี 2 ถัง ถังละ 160,000 ลบ.ม. รองรับความต้องการใช้ LNG 5 ล้านตัน/ปี ทำให้ไม่สามารถสั่งซื้อเพื่อสต๊อกไว้ได้ คงต้องรอให้ส่วนขยายสถานีรับ-จ่ายก๊าซ LNG (LNG Receiving Terminal ) เฟส 2 แล้วเสร็จก่อน ซึ่งจะมีถังเก็บเพิ่มเติมอีก 2 ถังรองรับการใช้ LNG 10 ล้านตัน/ปีในปี 2560

อย่างไรก็ตาม จากราคา LNG ที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้โครงการลงทุนFLNG ต้องชะลอไปบ้าง ซึ่งรวมถึงโครงการ FLNG ของ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (ปตท.สผ.) ที่ออสเตรเลีย เพื่อพิจารณาให้รอบคอบ เนื่องจากโครงการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวลอยน้ำ (FLNG) จะใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูงทำให้ต้นทุน LNG ต่อหน่วยสูงตามไปด้วย แต่เชื่อว่าระดับราคา LNG ตลาดจรต่ำกว่า 11 เหรียญสหรัฐ/ตันนี้ถือว่าเป็นจุดต่ำสุดแล้ว แต่ก็ยังไม่มีสัญญาณว่าราคา LNG ในตลาดโลกจะปรับตัวสูงขึ้น

นายณัฐชาติกล่าวถึงความคืบหน้าการเจรจาซื้อขาย LNG ในแหล่งสัมปทานโรวูม่าที่โมซัมบิก ซึ่ง ปตท.สผ.ถือหุ้นในโคฟ เอนเนอร์ยี 8.5% ว่า ปตท.ได้ลงนามในร่างข้อตกลงเบื้องต้น (Heads of Agreement: HOA) ในการซื้อขาย LNG จากโครงการดังกล่าวแล้วจำนวน 2.6 ล้านตัน/ปี ขณะนี้โครงการดังกล่าวอยู่ระหว่างการรออนุมัติจากรัฐบาลโมซัมบิกในการพัฒนา คาดว่าในปีหน้าจะเริ่มเดินหน้าพัฒนาโครงการได้ โดย ปตท.จะรับก๊าซ LNG จากโครงการดังกล่าวในปี 2562

เนื่องจากแหล่งสัมปทานโรวูม่าที่โมซัมบิกมีปริมาณสำรองก๊าซฯ ขนาดใหญ่ และอยู่บนบกทำให้ต้นทุนการผลิต LNG ต่ำกว่าโครงการ FLNG จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบจากราคา LNG ตลาดจรที่ต่ำอยู่ในขณะนี้

นายณัฐชาติกล่าวต่อไปว่า วันที่ 7 ส.ค.นี้ ปตท.ได้รับปริมาณก๊าซฯ จากโครงการซอติก้าที่พม่าที่ระดับ 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เป็นไปตามสัญญา ซึ่งการรับก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้าจะสามารถเสริมศักยภาพด้านพลังงานของไทยรองรับการใช้งานภายในประเทศ รวมทั้งบรรเทาสถานการณ์ขาดแคลนพลังงานในกรณีการหยุดซ่อมบำรุงของแหล่งก๊าซฯ ฝั่งตะวันตกได้

ทั้งนี้ โครงการซอติก้าดำเนินการโดย บริษัท PTTEP International Company Limited (PTTEPI) บริษัทย่อยของ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) โดยถือหุ้นในสัดส่วนร้อยละ 80 และที่เหลือมี Myanma Oil and Gas Enterprise (MOGE) ถือหุ้น นับเป็นโครงการผลิตก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่งที่ใหญ่ที่สุดที่ ปตท.สผ.ดำเนินการเองในต่างประเทศ มีอายุสัญญารวม 30 ปี โดยก๊าซธรรมชาติที่ได้จากโครงการซอติก้าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในทุกภาคส่วน ทั้งภาคผลิตไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และภาคขนส่งทางฝั่งตะวันตก รองรับความต้องการใช้พลังงานได้อย่างมั่นใจยิ่งขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น