ศูนย์ข่าวภาคเหนือ - คนเมืองกล้วยไข่ ข้องใจทำไม!? สูบน้ำมันดิบลานกระบือ 30 ปียังไม่หมด ล่าสุด ปตท.ผส. เตรียมเปิดหลุมน้ำมันดิบใหม่ “แหล่งบึงช้าง แปลงเอส 1” อีก ขณะที่หลายปีที่ผ่านมาชาวบ้านยังผวา “โรคลานกระบือ” ที่ต้องเสียเงิน 2 หมื่นถึงหาย
วันนี้ (7 ส.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัท ปตท.สผ.จำกัด(มหาชน) ได้ตระเวนเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน (ระดับจังหวัด) ครั้งที่ 1 ในโครงการผลิตปิโตรเลียม “แหล่งบึงช้าง แปลงเอส 1” หลายเวที ทั้งที่โรงแรมชากังราว ริเวอร์วิว อ.เมือง จ.กำแพงเพชร 4 ส.ค., ห้องประชุมชั้น 4 ศาลากลางจังหวัดสุโขทัย 5 ส.ค. และจะเปิดเวทีที่ห้องประชุมศิลาอาสน์ ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ ในวันที่ 15 ส.ค.ที่จะถึงนี้
นอกจากนี้ยังได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชนระดับตำบล เช่น 6 สิงหาคม 57 ที่ ต.ทุ่งยางเมือง อบต. หนองหลวง อบต.บึงทับแรต และต่อเนื่องอีกหลายตำบลจนถึงวันที่ 20 สิงหาคม 57 ตามรัศมี 5 กิโลเมตร และระยะ 500 เมตรกึ่งกลางแนวท่อส่งน้ำมันดิบครอบคลุม 3 จังหวัด คือ พิษณุโลก สุโขทัย และกำแพงเพชร
ในการเปิดเวทีฯ ที่โรงแรมชากังราวริเวอร์วิวนั้น นายสุทัศน์ กาญจนกันติ วิศวกรสิ่งแวดล้อบริษัท ปตท.สผ.ฯ กล่าวว่า ปตท.สผ.จะดำเนินการขุดเจาะแปลงปิโตรเลียมใหม่เพิ่มเติม คือ โครงการผลิตปิโตรเลียม แหล่งบึงช้าง แปลงเอส 1
หลังจากได้รับสัมปทานปิโตรเลียมจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติในแหล่งสิริกิติ์ แหล่งปรือกระเทียม แหล่งประดู่เฒ่า แหล่งหนองตูม และแหล่งเสาเถียร ปัจจุบันมีปริมาณการผลิตน้ำมันดิบประมาณ 28,197 บาร์เรลต่อวัน และก๊าซธรรมชาติ 50 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (ข้อมูลเดือน เม.ย. 57)
โดยในการดำเนินโครงการนั้น ปตท.สผ.ต้องทำการศึกษา และจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมเพิ่ม ตาม พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม 2535 รออนุมัติจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)
นายสุทัศน์กล่าวอีกว่า โครงการผลิตปิโตรเลียมแหล่งบึงช้าง แปลงเอส 1 ตั้งอยู่ที่ อ.ลานกระบือ จ.กำแพงเพชร ประกอบด้วยฐานใหม่ 4 ฐาน และแนวท่อส่งปิโตรเลียม 6 แนวท่อ ระยะทาง 18.5 กิโลเมตร จากเดิมมีจำนวน 38 ฐาน หรือประมาณ 300 หลุมเจาะ 80 แนวท่อ
ซึ่งท่อส่งปิโตรเลียมของแหล่งน้ำมันสิริกิติ์มีมากสุดในบริเวณถนนสายลานกระบือ-พิษณุโลก เดิมทีอยู่ภายใต้สัมปทานของงบริษัท ไทยเชลล์เอ็กพลอเรชั่นแอนด์โปรดักชั่น ตามมติคณะรัฐมนตรี ปี 22 กระทั่งปี 2527 เริ่มดำเนินการผลิต เริ่มจากอัตราการผลิต 11,000 บาร์เรล กระทั่งปัจจุบันผลิตได้ประมาณ 26,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อนส่งน้ำมันดิบไปกลั่นต่อไปทางภาคตะวันออก
นายสุทัศน์บอกว่า ผลผลิตน้ำมันดิบแหล่งพื้นดินของ ปตท.ผส.จำนวน 26,000 บาร์เรลต่อวัน ถือว่ามากที่สุดในแหล่งบนบก แต่ยังน้อยเมื่อเทียบกับการผลิตในทะเลอ่าวไทย เช่น แหล่งจัสมิน และบานเย็น, แหล่งบัวหลวง ฯลฯ ส่วนผลผลิตรวมทั้งทะเล และบนบกของไทยผลิตได้ทั้งสิ้น 1.5 แสนบาร์เรลต่อวัน เมื่อเทียบกับปริมาณใช้น้ำมันทั้งประเทศไทยคือ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ทั้งนี้ ในปัจจุบันแหล่งผลิต ปตท.สผ. (3 จังหวัด กำแพงเพชร พิษณุโลก สุโขทัย) มีอยู่ 300 หลุม ประเมินว่าจะมีน้ำมันดิบให้สูบอีกประมาณ 10 ปี กรณีหลุมใหม่ของ “แหล่งบึงช้าง แปลงเอส 1” ทั้ง 4 ฐาน ยังไม่แน่ว่าจะมีน้ำมันกี่หลุม แต่เชื่อว่าจะต้องมีน้ำมันดิบให้สูบเกิน 10 ปีขึ้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ระหว่างที่พนักงาน ปตท.สผ.ชี้แจงข้อมูลนั้น ปรากฏว่าชาวบ้านกำแพงเพชรหลายคนสงสัย โดยเฉพาะนายอนุชา เกตุเจริญ, นายสุวัฒน์ วัฒนศิริ ฯลฯ ได้ตั้งคำถามในหลายประเด็น เช่น ขุดน้ำมันเพิ่มขึ้นแล้ว จะทำให้ราคาน้ำมันที่ใช้อยู่ลดลงหรือไม่, ขุดน้ำมันหลายปียังไม่หมดจะส่งผลให้แผ่นดินทรุดหรือไม่, สารเคมีผสมกับโคลนที่อยู่ในกระบวนการผลิตหลุมเจาะน้ำมันดิบเป็นอันตรายต่อพื้นที่ไร่นาหรือไม่, เปลวเพลิงจากกระบวนการผลิตทำให้ผลผลิตข้าวโพดลดลงหรือไม่, สารเคมีสีเหลืองจากเปลวเพลิงตกใส่หลังคารถเมื่อปี 26 เป็นอันตรายต่อคนในพื้นที่ กระทั่งเรียกว่า “โรคลานกระบือ” ต้องเสียเงินกว่า 2 หมื่นจึงหายใช่หรือไม่
ขณะที่นายอรรพล อ่างคำ นักวิทยาศาสตร์ชำนาญการ กรมเชื้อเพลงพลังงาน กระทรวงพลังงาน และวิศวฯ สิ่งแวดล้อม ปตท.สผ. ชี้แจงว่า ราคาขายน้ำมันขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ขึ้นอยู่กับโครงสร้างราคา ส่วนที่ถามว่าขุดน้ำมันร่วม 30 ปี แผ่นดินไม่ทรุด ไม่ไหว-ถล่ม เนื่องจากน้ำมันไหลมาตามซอกหินเล็กๆ เท่านั้น ความลึกประมาณ 3 กิโลเมตร เมื่อเทียบกับการขุดบ่อน้ำตื้น ที่ลึกเพียง 60-70 เมตร อาจทรุดได้
ส่วนสารเคมีที่ผสมกับโคลน คือสาร Barite มีหน้าที่หล่อเลื่อนหัวเจาะที่คว้านลงไปในหิน ไม่ใช่สารละลายหิน อีกทั้งสารแบร์ไรท์มีราคาแพง ลงทุนด้วยตัวเลข 7 หลักต่อหลุม ต้องนำมาหมุนเวียนใช้เพื่อเจาะหลุมน้ำมันดิบต่อไป ไม่ทิ้งลงสู่ผืนนา
“หลายปีที่ผ่านมา ปตท.มีการตรวจสอบคนในชุมชุน ไม่พบสารปรอทและสังกะสี”