ปตท.สผ.อู้ฟู่ โชว์กำไรไตรมาส 2/57 พุ่ง 55% อยู่ที่ 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 1..82 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณการขายปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นและราคาขายสูงกว่าปีก่อน แต่หดเป้าปริมาณขายปีนี้เหลือแค่ 3.20 แสนบาร์เรล/วัน ด้านบอร์ดบริษัทฯ อนุมัติจ่ายปันผลระหว่างกาล 3 บาท/หุ้น
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) (ปตท.สผ.) เปิดเผยผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 2/2557 มีกำไรสุทธิ 560 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 18,187 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 55% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 362 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 10,686 ล้านบาท โดยเป็นกำไรจากการดำเนินงานตามปกติจำนวน 537 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และกำไรจากรายการที่ไม่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานปกติ (Non-Recurring) จำนวน 23 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ขณะที่รายได้รวมของบริษัทฯ และบริษัทย่อยในไตรมาส 2/2557 อยู่ที่ 2,107 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 68,352 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,851 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 55,326 ล้านบาท ซึ่งมาจากปริมาณการขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 315,810 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วอยู่ที่ 292,721 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากแหล่งมอนทาราที่ออสเตรเลีย โครงการคอนแทร็ก 4 โครงการสินภูฮ่อม โครงการซอติก้า และโครงการนาทูน่า ซี เอ รวมทั้งขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยเพิ่มขึ้นเป็น 67.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีราคาขายเฉลี่ย 65.16 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
สำหรับงวด 6 เดือนแรกปีนี้ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 940 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเทียบเท่า 30,621 ล้านบาท มีผลกำไรสุทธิลดลง 101 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 10% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 1,041 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือเทียบเท่า 30,932 ล้านบาท
ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ จึงได้มีมติให้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาล สำหรับผลการดำเนินงานรวมของกลุ่มบริษัทฯ งวด 6 เดือนแรกของปี 2557 ในอัตราหุ้นละ 3 บาท โดยกำหนดวันปิดสมุดทะเบียนพักการโอนหุ้นเพื่อสิทธิในการรับเงินปันผลในวันที่ 8 สิงหาคม 2557 และจะจ่ายเงินปันผลในวันที่ 22 สิงหาคม 2557
นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า บริษัทได้ปรับลดเป้าหมายปริมาณการขายปิโตรเลียมในปีนี้เหลือ 3.20 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ หรือไม่น้อยกว่า 10% จากปีก่อน ซึ่งเดิมเคยตั้งเป้าหมายเมื่อต้นปีนี้อยู่ที่ 3.37 แสนบาร์เรล/วัน ก่อนที่จะปรับลดลงมาอยู่ที่ 3.25 แสนบาร์เรล/วัน เนื่องจากกำลังการผลิตน้ำมันดิบในแหล่งมอนทาราต่ำกว่าเป้าหมายและซอติก้าต้องเลื่อนการจ่ายก๊าซฯ ไปเป็นไตรมาส 3 นี้ ซึ่งสัดส่วนของปริมาณการขายจะมาจากการดำเนินงานในประเทศ 75% และในต่างประเทศ 25%
ปัจจุบัน ปตท.สผ.มีโครงการทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 43 โครงการใน 11 ประเทศ โดยเป็นโครงการในประเทศไทยมีทั้งสิ้น 18 โครงการ คิดเป็นปริมาณการขายเฉลี่ยที่ 245,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน หรือร้อยละ 78 ของปริมาณการขายทั้งหมดของ ปตท.สผ. ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากการที่ ปตท.สผ. เข้าซื้อบริษัทย่อยของ Hess Corporation ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งประกอบด้วย โครงการคอนแทร็ก 4 ตั้งอยู่บริเวณอ่าวไทย ในสัดส่วนร้อยละ 15 และโครงการสินภูฮ่อม ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในสัดส่วนร้อยละ 35
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจในไตรมาสนี้ คือโครงการ B6/27 ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ NKW-N01 ซึ่งไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ ผลที่ได้จากการเจาะหลุมสำรวจดังกล่าวจะนำไปใช้ประโยชน์ทางธรณีวิทยาต่อไป
โครงการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีทั้งหมด 15 โครงการ ในประเทศพม่า เวียดนาม และอินโดนีเซีย มีปริมาณการขายเฉลี่ยที่ 45,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน คิดเป็น 14% ของปริมาณการขายทั้งหมดของ ปตท.สผ. ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากโครงการยาดานาและโครงการเยตากุน ล่าสุดโครงการซอติก้าได้ส่งก๊าซธรรมชาติขายในประเทศพม่าเฉลี่ยที่ 55 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน สำหรับก๊าซธรรมชาติที่จะส่งขายให้ ปตท.เพื่อใช้ในประเทศไทยนั้นอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติบนบก ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและสามารถเริ่มส่งก๊าซฯ ในอัตรา 240 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันภายในเดือนสิงหาคมนี้
นอกจากนี้ โครงการซอติก้าอยู่ระหว่างการก่อสร้างแท่นหลุมผลิตเพิ่มอีก 4 แท่น รวมถึงเตรียมงานเจาะหลุมประเมินผลจำนวน 10 หลุม ภายในปี 2557-2558 เพื่อเพิ่มปริมาณสำรองปิโตรเลียมและรักษาการผลิตในระยะยาวด้วย ส่วนโครงการเมียนมาร์เอ็ม 3 อยู่ระหว่างเตรียมงานเจาะหลุมสำรวจ และหลุมประเมินผลเพิ่มเติมจำนวน 6 หลุม โครงการเมียนมาร์ พีเอสซี จี และอีพี 2 อยู่ระหว่างการศึกษาโครงสร้างทางธรณีวิทยาและเตรียมงานเจาะหลุมสำรวจจำนวน 4 หลุม
โครงการพีทีทีอีพี ออสตราเลเซีย ในประเทศออสเตรเลีย มีทั้งสิ้น 16 แปลงสัมปทานนั้น มีแหล่งมอนทาราผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ย 2 หมื่นบาร์เรล/วัน คิดเป็น 6% ของปริมาณการขายทั้งหมดของ ปตท.สผ. และล่าสุดได้มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 หมื่นบาร์เรล/วัน ส่วนแปลงปิโตรเลียมอื่นๆอยู่ระหว่างการสำรวจ
โครงการในทวีปอเมริกามี 2 โครงการในประเทศแคนาดาและบราซิล ทั้งหมดอยู่ระหว่างการสำรวจ ส่วนโครงการในแอฟริกาและตะวันออกกลางนั้นมี 7 โครงการ ตั้งอยู่ในประเทศโอมาน แอลจีเรีย โมซัมบิก และเคนยา มีเพียงโครงการโอมาน 44 ที่ดำเนินการผลิตน้ำมันดิบอยู่ 6 พันบาร์เรล/วัน ที่เหลืออยู่ระหว่างการพัฒนา โดยคาดว่าโครงการแอลจีเรีย 433 เอ และ 416 บีจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ในปลายปีนี้ด้วยกำลังการผลิตน้ำมันดิบ 2 หมื่นบาร์เรล/วัน
สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างการสำรวจ เช่น โครงการโมซัมบิก โรวูม่า ออฟชอร์ แอเรีย วัน มีแผนการเจาะหลุมสำรวจและประเมินผลทั้งสิ้น 8 หลุม เพื่อค้นหาและประเมินศักยภาพเพิ่มเติม ซึ่งในไตรมาสนี้โครงการเสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม คือ หลุม Tubarao Tigre-1 ซึ่งประสบความสำเร็จในการเจาะและค้นพบแหล่งก๊าซธรรมชาติเพิ่มเติม ส่วนการพัฒนาก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) นั้น ได้ดำเนินการตามแผนการพัฒนาทางวิศวกรรมพื้นที่ก่อสร้างโรงงานผลิตก๊าซธรรมชาติเหลวอย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะเริ่มการผลิตและขาย LNG ครั้งแรกในปลายปี 2561 หรือปี 2562
ส่วนโครงการเคนยา แปลงแอล 10 เอ เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจ 1 หลุม คือ หลุม Sunbird-1 แต่ไม่พบศักยภาพเชิงพาณิชย์ คาดว่าจะตัดจำหน่ายหลุมในไตรมาส 3 นี้