xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.สผ.จ่อสยายปีกลงทุนแอฟริกาเพิ่ม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ปตท.สผ.สนใจลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มที่แอฟริกา หลังจากลงทุนในแอลจีเรีย โมซัมบิก และเคนยา ชี้เป็นทวีปที่มีศักยภาพด้านปิโตรเลียมดี แต่มีความเสี่ยงด้านการเมือง ส่วนความคืบหน้าการลงทุนแหล่ง Shale Gas/Shale Oil ในสหรัฐฯ ยังต้องศึกษาอย่างรอบคอบทั้งกฎระเบียบและตลาด ปลื้มมีนักลงทุนหลายรายสนใจร่วมทุนในแหล่งปิโตรเลียมของบริษัทฯ ที่ออสเตรเลีย และพม่า

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. เปิดเผยว่า บริษัทฯ มีความสนใจที่จะลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมเพิ่มเติมในทวีปแอฟริกา จากปัจจุบันที่ ปตท.สผ.มีการร่วมลงทุนการสำรวจและพัฒนาแหล่งปิโตรเลียมที่แอลจีเรีย โครงการแหล่งRovuma Offshore Area 1 ที่โมซัมบิก และโครงการที่เคนยา เนื่องจากแถบแอฟริกามีศักยภาพด้านปิโตรเลียม โดยธันวาคมนี้แหล่งปิโตรเลียม Bir Seba ที่แอลจีเรียของบริษัทฯ จะเริ่มผลิตน้ำมันดิบ 2 หมื่นบาร์เรล/วัน

ทั้งนี้ การตัดสินใจเข้าไปลงทุนในการสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในต่างประเทศนั้นต้องพิจารณาศักยภาพปิโตรเลียม ความเสี่ยงทางการเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรม และธีมเทคโนโลยี ซึ่งแอฟริกามีธรณีวิทยาที่มีศักยภาพด้านปิโตรเลียม แต่การเมืองไม่แน่นอน โดยสนใจเข้าไปลงทุน เริ่มตั้งแต่การสำรวจปิโตรเลียมมากกว่าการเข้าไปลงทุนซื้อแปลงปิโตรเลียมที่มีการผลิตเชิงพาณิชย์อยู่แล้ว

ก่อนหน้านี้ ประเทศแองโกลาได้มีการโรดโชว์เชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้เข้าไปสำรวจและพัฒนาปิโตรเลียมในประเทศนี้ ซึ่ง ปตท.สผ.ยังไม่เคยเข้าไปสำรวจฯ ประเทศดังกล่าว แต่ก็พร้อมที่จะเข้าไปศึกษาโอกาสทั้งแองโกลา และประเทศอื่นๆ ในแอฟริกา

นายเทวินทร์กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนโครงการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในชั้นหินดินดาน (Shale Gas/Shale Oil) ที่สหรัฐฯ นั้น ขณะนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาและแสวงหาโอกาสการลงทุนซึ่งต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและรัดกุม เนื่องจากบริษัทฯ ไม่เคยเข้าไปลงทุนในสหรัฐฯ มาก่อนจำเป็นต้องศึกษากฎระเบียบต่างๆ รวมถึงความเสี่ยงทางธุรกิจและตลาด เบื้องต้นได้โฟกัสไปที่รัฐเทกซัส เนื่องจากมีการพัฒนาโครงการ Shale gas/Shale Oil จำนวนมากแต่แปลงสำรวจและพัฒนามีขนาดเล็ก ซึ่ง ปตท.สผ.สนใจจะเข้าไปร่วมถือหุ้นหรือซื้อทรัพย์สินไม่มากในโครงการดังกล่าวเพื่อเรียนรู้เทคโนโลยีและธุรกิจ

ทั้งนี้ ความเสี่ยงธุรกิจ Shale gas/Shale Oil ต่างจากการทำออยล์แซนด์ โดย Shale gas/Shale Oil นั้นหากพบแต่ก๊าซฯ เพียงอย่างเดียวก็ไม่คุ้มการพัฒนา เนื่องจากราคาก๊าซฯ ที่สหรัฐฯ มีราคาถูก จำเป็นต้องเป็นแปลงปิโตรเลียมที่มีทั้งก๊าซฯ และน้ำมันจึงจะคุ้มทุน และยังมีความเสี่ยงด้านการบริหารจัดการทางเทคนิคด้วย

นายเทวินทร์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้มีนักลงทุนหลายรายสนใจขอร่วมทุนในแปลงปิโตรเลียมที่ ปตท.สผ.ถือหุ้น 100% ทั้งแปลง MD7&MD8 แปลงสัมปทานบนบกทั้ง 3 แปลง ที่พม่าและโครงการมอนทารา และโครงการแคชเมเปิลที่ออสเตรเลีย ซึ่งบริษัทฯ พร้อมที่จะเปิดให้นักลงทุนที่สนใจเข้ามาร่วมทุน เนื่องจากไม่ต้องการถือหุ้นทั้งหมด เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุน และได้เม็ดเงินเพื่อไปลงทุนโครงการอื่นๆ ในอนาคตด้วย ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มีการสำรวจ พัฒนา และผลิตปิโตรเลียม 43 โครงการใน 12 ประเทศทั่วโลก

ส่วนการป้อนก๊าซฯ จากแหล่งซอติก้าที่พม่าเข้าไทยนั้น คาดว่าจะป้อนก๊าซฯ ในเดือน ก.ค.นี้ ล่าช้ากว่ากำหนดเดิมที่จะต้องจ่ายก๊าซฯ ในเดือน เม.ย. 57 จำนวน 240 ล้าน ลบ.ฟ./วัน เนื่องจากความล่าช้าการวางท่อบนบก หลังจากที่ป้อนก๊าซฯ ให้พม่าแล้วเมื่อเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาจำนวน 80-100 ล้าน ลบ.ฟ./วัน

วันนี้ (22 พ.ค.) นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ.ได้ลงนามบันทึกความร่วมมือทางวิชาการฉบับแก้ไขเพิ่มเติมครั้งที่ 4 กับ ศ.นพ.ภิรมย์ กมลรัตนกุล อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อขยายระยะเวลาความร่วมมือไปถึงเดือน ก.พ. 59 ซึ่ง ปตท.สผ.จะสนับสนุนด้านการเงินเพื่อใช้ในการวิจัยด้านวิศวกรรมปิโตรเลียม ธรณีวิทยาปิโตรเลียม และธรณีฟิสิกส์ปิโตรเลียม เป็นวงเงิน 24 ล้านบาท และจัดสรรทุนการศึกษาให้แก่นิสิตไทย และชาวต่างชาติทุนละ 614,000 บาท และ 1,130,300 บาทตามลำดับ เพื่อศึกษาต่อหลักสูตรนานาชาติวิศวกรรมศาสตรมหาบันฑิตสาขาวิศวกรรมปิโตรเลียม คณะวิศวกรรมศาสตร์


กำลังโหลดความคิดเห็น