บล.กรุงศรี ระบุในบทวิเคราะห์กลุ่มปิโตรเคมี ว่า บมจ.ปตท. หรือ PTT มีปริมาณผลิตปิโตรเลียมที่มีแนวโน้มขยายตัวในช่วงที่เหลือของปีตามสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งไพลิน และสินภูฮ่อม ตั้งแต่เดือน เม.ย.
รวมถึงการเริ่มผลิตปิโตรเลียมโครงการซอติก้า (ประเทศพม่า) ในปลาย 3Q57 และโครงการอัลจีเรีย ปลาย 4Q57 เป็นปัจจัยหลักที่หนุนการเติบโตของผลประกอบการในช่วงที่เหลือของปี เช่นเดียวกับความท้าทายในการเสาะหาแหล่งผลิตใหม่ๆ ทั้งในและต่างประเทศ ที่สามารถรับรู้รายได้จากการดำเนินงานได้ทันทีตามกลยุทธ์การขยายตัวของบริษัทจะช่วยสร้างการเติบโตที่มั่นคงในอนาคต โดยยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” มูลค่าพื้นฐาน 200 บาท
ฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ปริมาณขายปิโตรเลียม 2Q57 เพิ่มขึ้นเป็น 3.08 แสนบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน (+3%QoQ, +5%YoY) ได้แรงหนุนจากสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในแหล่งไพลิน และสินภูฮ่อม (ซื้อจาก Hess Corporation เดือน เม.ย. 57) และปริมาณขายน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นของแหล่งมอนทารา เช่นเดียวกับราคาขายปิโตรเลียมดีขึ้นเป็น 66.7 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ (+3%QoQ,+2%YoY) เนื่องจากราคาขายก๊าซธรรมชาติที่เพิ่มขึ้นเป็น 8.0 ดอลลาร์สหรัฐ/ล้านบีทียู และราคาน้ำมันที่สูงขึ้นเป็น 103 ดอลลาร์สหรัฐ/บาร์เรล หลังจากไม่มีการบันทึกรายการขายปิโตรเลียมย้อนหลังของโครงการเวียดนาม 16-1 ในราคาต่ำ และไม่ถูกกดดันจากราคาขายระดับต่ำของโครงการ KKD Oil Sand
คาดการณ์กำไรสุทธิ 2Q57 ขยายตัวเป็น 1.47 หมื่นล้านบาท (+18%QoQ, +38%YoY) ได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของปริมาณขาย และราคาขายปิโตรเลียม รวมถึงอัตราภาษีแท้จริง (Effectivetax) ลดลงสู่ระดับปกติที่ 40% (1Q57 อยู่ที่ 47% และ 2Q56 อยู่ที่ 55%) เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐไม่เปลี่ยนแปลง รวมถึงมีกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน จำนวน 448 ล้านบาท เนื่องจากค่าเงินดอลลาร์แคนาดาแข็งค่าขึ้นเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ดี เราคาดว่า EBITDA margin จะอ่อนตัวเล็กน้อยเหลือ 69% (70% ใน 1Q57 และ 73% ใน 2Q56) เนื่องจาก 1) ต้นทุนการดำเนินงานเพิ่มขึ้นจากการปิดซ่อมบำรุงตามแผนงานโครงการบงกช 2) บันทึกค่าใช้จ่ายหลุมแห้งโครงการ B6/27 และหลุมสำรวจในประเทศออสเตรเลีย และเคนย่าราว 60 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 3) ค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นตามการผลิตที่เพิ่มขึ้นของแหล่งมอนทารา และ 4) ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารขยายตัวสู่ระดับปกติ เทียบกับการบันทึกที่ต่ำกว่าปกติใน 1Q57
ขณะเดียวกัน คาดว่าปริมาณขายปิโตรเลียมรายไตรมาสจะมีทิศทางเป็นขาขึ้นในช่วงที่เหลือของปี โดยในงวด 3Q57 คาดว่าจะขยายตัวเป็น 3.2 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน (+4%QoQ, +12%YoY) ได้แรงหนุนจากการรับรู้การผลิตของสัดส่วนการลงทุนที่เพิ่มขึ้นในแหล่งไพลิน และสินภูฮ่อมเต็มทั้งไตรมาส (2Q57 รับรู้ 2 เดือน) รวมถึงการกลับมาผลิตก๊าซธรรมชาติตามปกติของโครงการบงกชที่ปิดซ่อมบำรุง 14 วัน ใน 2Q57 รวมถึงการรับรู้การผลิตโครงการซอติก้าบางส่วนที่คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปลาย 3Q57 (ปัจจุบันมีการติดตั้งท่อส่งก๊าซบางส่วนในบริเวณพื้นที่ประเทศพม่าแล้ว)
สำหรับงวด 4Q57 คาดว่าจะปริมาณขายจะเพิ่มเป็น 3.4 แสนบาร์เรล เทียบเท่าน้ำมันดิบ/วัน (+6%QoQ, 13%YoY) เป็นผลจากการผลิตของโครงการซอติก้าเต็มที่ทั้งไตรมาส และโครงการอัลจีเรียบางส่วนที่คาดว่าจะเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ปลายปี 2557 จึงยังคงคำแนะนำ “ซื้อ” ผลประกอบการรายไตรมาสขยายตัว ทั้งนี้ ได้ประเมินปริมาณขายปิโตรเลียมที่มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องจากนี้จะหนุนให้กำไรสุทธิรายไตรมาสสูงขึ้นในช่วงที่เหลือของปี และส่งผลให้กำไรสุทธิปี 57 เติบโตโดดเด่นที่สุดในกลุ่มพลังงานเป็น 6.9 หมื่นล้านบาท (+24%YoY)
ขณะที่ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบตามสถานการณ์ความไม่สงบในกลุ่มประเทศตะวันออกกลางมีผลกระทบต่อผลประกอบการจำกัด เนื่องจากราคาขายก๊าซธรรมชาติของบริษัทที่แข็งแกร่งในระดับสูง (48% ของรายได้) นอกจากนี้ PTTEP ยังถือเป็นหุ้นที่มีความเสี่ยงต่อแนวโน้มการปรับโครงสร้างพลังงานในประเทศน้อยที่สุด คงมูลค่าพื้นฐานเท่ากับ 200 (DCF, WACC 9.5%, Terminal growth rate 2%)