xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” เตือนดัน ปตท.เป็นเอกชนเต็มตัว ยิ่งหวานคอเหลือบไรผูกขาดกินรวบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นางสาวรสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย
“รสนา” ตอกย้ำเลวร้ายระบบสัมปทานปิโตรเลียม ชี้หากปล่อย ปตท.เป็นเอกชนเต็มตัวเท่ากับเปิดทางกอบโกยสะดวกขึ้น จะเกิดการผูกขาดกินรวบโดยสมบูรณ์จากกลุ่มทุนพลังงาน แนะจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติ รัฐถือหุ้น 100% เข้าดูแลผลประโยชน์ชาติ คืนราคาพลังงานที่เป็นธรรมให้ ปชช.

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (24 มิ.ย.) เมื่อเวลาประมาณ 02.30 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาการปฏิรูปพลังงานไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ภายใต้หัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ มีความสำคัญเกินกว่าจะปล่อยไว้ในมือของเอกชน” ตามข้อความดังนี้

“กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงาน (จปพ.) เสนอต่อ คสช.ให้ชะลอการเปิดสัมปทานรอบ 21 ออกไปจนกว่าจะมีการแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 เพื่อแก้ไขระบบการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากระบบสัมปทาน เป็นระบบอื่นที่ให้ประโยชน์ต่อรัฐและประชาชนมากกว่า เช่น ระบบแบ่งปันผลผลิต (Production Sharing Contract) หรือระบบจ้างผลิต (Service Contract)

ระบบสัมปทาน คือ การยกกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทั้งหมดให้เอกชนที่ได้สัมปทาน และรัฐได้ค่าเช่าพื้นที่ที่ให้สัมปทานในรูปของค่าภาคหลวงและผลประโยชน์ตอบแทนพิเศษ

ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิต คือ ระบบที่รัฐยังเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมที่ค้นพบทั้งใต้ดิน และที่นำขึ้นมา เป็นเจ้าของกรรมสิทธิในข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณสำรอง และเป็นเจ้าของอุปกรณ์การผลิต

เอกชนที่มาขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ไม่ใช่เจ้าของปิโตรเลียมทั้งหมด แต่เป็นเจ้าของเฉพาะส่วนแบ่งกำไรตามที่ตกลงกัน

ส่วนปิโตรเลียมในส่วนแบ่งที่เป็นของรัฐ หากรัฐขายในราคาตลาดโลก เงินที่ได้ก็จะเป็นรายได้สำหรับงบประมาณแผ่นดิน ที่ใช้สร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน เป็นสวัสดิการด้านการรักษาพยาบาล หรือสวัสดิการด้านการศึกษาฟรีให้กับประชาชน ถ้ารัฐขายให้ประชาชนในราคาย่อมเยาว์ ประชาชนก็ได้ประโยชน์ในการลดภาระค่าครองชีพ

แต่ในระบบสัมปทาน เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ปิโตรเลียมทั้งหมด จึงต้องการขายปิโตรเลียมในราคาที่ได้กำไรสูงสุด ดังนั้น กฎหมายปิโตรเลียม ยอมรับกรรมสิทธิ์ของเอกชน จึงระบุว่า หากเอกชนขายปิโตรเลียมที่ขุดได้ในประเทศก็ให้ขายคนไทยได้เทียบเท่า “ราคานำเข้า”

คำกล่าวที่ว่า “ต้องให้ราคาพลังงานสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง” หรือ “สะท้อนราคาตลาด” นั้น ความหมายที่แท้จริงก็คือ ต้องการให้ประชาชนซื้อราคาพลังงานในราคาตลาดโลกนั่นเอง

การที่ประชาชนยังสามารถต่อรองให้ คสช.ยกเลิกมติการอุ้มธุรกิจปิโตรเคมี และให้มีมติจัดสรรก๊าซหุงต้มจากทรัพยากรในอ่าวไทยให้ประชาชนใช้ก่อนในราคาที่เป็นธรรม ไม่ใช่ให้รับภาระราคาตลาดโลก เพราะรัฐยังถือหุ้นใหญ่ 51% ในบริษัท ปตท.

การที่รัฐถือหุ้นใหญ่ใน ปตท. จึงทำให้ ปตท.ต้องอาศัยผู้บริหารในกระทรวงพลังงานที่นั่งอยู่ในบอร์ด ปตท.ช่วยชงเรื่องขอมติ กพช.และมติ ครม.ให้อนุมัติการจัดสรรก๊าซหุงต้มให้ปิโตรเคมีใช้จากโรงแยกก๊าซเป็นลำดับแรกพร้อมกับครัวเรือนก่อนผู้ใช้กลุ่มอื่น

มติ ครม.ดังกล่าวเป็นการเปิดช่องให้กลุ่มปิโตรเคมีซึ่งเป็นธุรกิจเอกชนในเครือ ปตท.ได้ใช้วัตถุดิบในราคาถูกกว่าผู้ใช้กลุ่มอื่น และอำพรางการผลักประชาชนที่เป็นผู้ใช้กลุ่มอื่นไปใช้ก๊าซหุงต้มในราคาตลาดโลก ด้วยการดึงเงินจากผู้ใช้น้ำมันมาชดเชยให้บริษัท ปตท.ผ่านกองทุนน้ำมัน

ข้ออ้างที่ว่าเพื่อป้องกันไม่ให้นักการเมืองเข้ามาแทรกแซงกิจการ ปตท.จึงเสนอให้รัฐขายหุ้น ปตท.ออกไปเพื่อให้ ปตท.เป็นเอกชนนั้น ผลที่จะเกิดขึ้นคือเมื่อ ปตท.เป็นเอกชนเต็มตัวโดยที่ยังครอบครองสาธารณสมบัติที่มีลักษณะผูกขาดอย่างท่อส่งก๊าซเป็นต้น ปตท.ก็สามารถผูกขาดทำกำไรสูงสุดในการเลือกจัดสรรทรัพยากรเพื่อผลกำไรของตนเองเป็นหลักได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น

สภาพการณ์ที่จะเกิดขึ้นคือ ทรัพยากรปิโตรเลียมที่ผลิตได้ในประเทศตามระบบสัมปทาน ก็เป็นกรรมสิทธิของเอกชน ที่เอกชนสามารถค้ากำไรสูงสุด โดยประชาชนไม่มีเกราะป้องกัน

สิ่งที่คาดหมายได้ คือ ประชาชนจะถูกกีดกันออกจากการเข้าถึงทรัพยากรของตนเอง พลังงานที่เป็นประดุจเลือดในระบบเศรษฐกิจของชาติ จะถูกผูกขาด กินรวบโดยสมบูรณ์จากกลุ่มทุนพลังงาน ที่ร้ายกาจไม่น้อยกว่านักการเมืองคอร์รัปชัน

กลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย (จปพ.) จึงเสนอให้มีการจัดตั้งบรรษัทพลังงานแห่งชาติขึ้นใหม่เป็นบริษัทที่รัฐถือหุ้น 100% บริหารแบบมืออาชีพ เพื่อดูแลการให้สิทธิการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นกิจการต้นน้ำ และดูแลให้ราคาพลังงานที่ปลายน้ำมีราคาที่เป็นธรรมต่อประชาชน

บรรษัทพลังงานแห่งชาติบริหารงานเเบบบริษัท แต่มีภารกิจในฐานะเป็นองค์กรเพื่อการบริการสาธารณะแห่งชาติ (National Service) เพราะ “ความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ มีความสำคัญเกินกว่าจะปล่อยไว้ในมือของเอกชน”


กำลังโหลดความคิดเห็น