xs
xsm
sm
md
lg

คสช.ปรับโครงสร้างน้ำมัน-ก๊าซ จี้เบรกสัมปทานใหม่ แบ่งปันผลผลิต-ตั้งบรรษัท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ถกแผนปฏิรูปพลังงานรอบ2ได้ข้อมูลเพียงพอเตรียมจัดทำดราฟท์ปฏิรูปเสร็จในสิ้นเดือนนี้ใช้ระยะเวลาปฏิรูป 3-6 เดือนโดยเรื่องเร่งด่วนสุดคือ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและก๊าซฯ ที่เหลือทยอยตามมา นัดถกดีเซลกับ กบง.วันนี้ ด้าน “รสนา-ม.ล.กรณ์” แนะเบรกสัมปทานรอบใหม่ ปรับระบบเป็นแบ่งปันผลผลิต ตั้งบรรษัทดูแล

พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เปิดเผยหลังการเรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการปรับโครงสร้างพลังงานของประเทศครั้งที่ 2 วานนี้ (22มิ.ย.) ว่า ครั้งนี้จะเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อรวบรวมข้อมูลจัดทำเป็นร่างปฏิรูปพลังงานประเทศภายในสิ้นเดือนนี้และจะใช้เวลาในการปฏิรูป 3-6เดือนโดยเรื่องเร่งด่วนจะดำเนินการได้แก่ การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันและแก๊ส จากนั้นก็จะเป็นการปฏิรูปพลังงานที่เป็นโตรงสร้างที่จะใช้ในระยะยาวทุกด้าน และรวมถึงการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

"การปรับโครงสร้างราคาน้ำมันที่จะให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค ส่วนข้อเสนอการตั้งคณะทำงานร่วม3ฝ่ายที่มีตัวแทนภาคประชาชน รัฐและเอกชนนั้นจริงๆก็มีอยู่แล้วแต่จะดูสัดส่วนให้เหมาะสมขึ้น" พล.อ.อ.ประจินกล่าวและว่า จากการหารือทุกฝ่ายได้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์จากกลุ่มของ น.ส.รสนาโตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย ก็ได้เสนอแนวทางการปรับโครงสร้างราคาน้ำมัน การใช้ก๊าซสำหรับกลุ่มปิโตรเคมี ต่อจากนั้นเป็นการนำเสนอข้อมูลจากฝ่ายมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคซึ่งก็เสนอเรื่องการปรับโครงสร้างราคาเช่นกันรวมถึงข้อมูลบางส่วนเรื่องของระบบสัมปทานปิโตรเลียม จากนั้นเป็นการนำเสนอข้อมูลของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืนซึ่งเป็นการนำเสนอข้อมูลจากเดิมที่ได้ขอให้ไปจัดทำรายละเอียดมา เช่นกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โครงสร้างราคา ระบบสัมปทาน เป็นต้น

สำหรับวันนี้ (23มิ.ย.) จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานหรือ กบง.เพื่อพิจารณาเรื่องของดีเซลที่ขณะนี้มีค่าการตลาดต่ำ อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงข้อมูลด้านพลังงานที่มาจากแหล่งเดียวกันแต่มีการนำเสนอและมองไปคนละมุมซึ่งอาจทำให้เกิดความสับสนต่อประชาชนได้ ดังนั้นก็จะเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวประกอบด้วยซึ่งจะต้องให้ข้อมูลเหล่านี้นำเสนอต่อประชาชนไปในทิศทางเดียวกันและไม่มีการบิดเบือน

น.ส.รสนา โตสิตระกูล แกนนำกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย กล่าวว่า ได้เสนอให้ที่ประชุม คสช.ชะลอการเปิดสัมปทานปิโครเลียมรอบที่ 21 ออกไปก่อน และควรที่จะแก้ไขกฎหมายสัญญาสัมปทาน ปรับเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้ประโยชน์น้อยที่สุด รวมถึงเสนอให้รัฐมีการจัดตั้งบรรษัทด้านพลังงานที่ภาครัฐเป็นผู้ถือหุ้น100% มาดูแลระบบสัมปทานเนื่องจาก การแก้ปัญหาพลังงาน ต้องแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นน้ำ

ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์ เกษมศรี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยนโยบายพลังงาน มหาวิทยาลัยรังสิต เครือข่ายกลุ่มจับตาปฏิรูปพลังงานไทย เปิดเผยหลังการเข้าชี้แจงข้อมูลว่า ได้เสนอข้อมูลให้คสช.สำคัญ 3 เรื่องได้แก่ 1.ให้ทบทวนระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตในการเปิดสัมทานปิโตรเลียใหม่และสัมปทานที่จะหมดอายุลงในอีก7-8 ปีนี้ส่วนของเดิมก็ให้ดำเนินการไปตามปกติเพื่อให้สอดคล้องกับประเทศในอาเซียนเพื่อให้เป็นระบบสากลเพราะในภูมิภาคนี้ใช้ระบบดังกล่าวหมดและไม่ควรจะอ้างว่าไทยเป็นแหล่งผลิตขนาดเล็กเพราะอินโดนีเซียก็มีแหล่งผลิตทั้งเล็กและใหญ่ก็อิงระบบนี้หมด 2.การบริหารจัดการก๊าซปิโตรเลียมเหลวหรือแอลพีจีควรจะแแก้ไขมติครม.ปี2551 ที่กำหนดให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีมีสิทธิ์ในการใช้ก๊าซในอ่าวไทยร่วมกับประชาชนโดยให้ประชาชนมีสิทธิ์ก่อนลำดับแรกและที่เหลือหากต้องมีการนำเข้าให้ภาคปิโตรคมีนำเข้าแทน

"กรณีแอลพีจีถ้าแก้ไขมตินี้ได้การนำเข้ามาก็จะเป็นภาระของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไป ปัญหาการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันมาอุดหนุนแอลพีจีในขณะนี้ก็จะหมดลงภาระตรงนี้จะหายไปปทันที" ม.ล.กรณ์กสิวัฒน์กล่าว
ประเด็นที่ 3.ได้เสนอให้ราคาน้ำมันที่อิงตลาดสิงคโปร์ปัจจุบันควรอิงราคาหน้าโรงกลั่นตลาดสิงคโปร์ไม่ใช่อิงราาคาหน้าโรงกลั่นบวกค่าพรีเมี่ยมที่ได้จากการนำเข้าซึ่งเป็นการบวกค่าขนส่งเข้าไปทั้งที่ค่าขนส่งเหล่านั้นได้เกิดขึ้นจริงแล้วในราคาน้ำมันดิบ แต่เมื่อไทยมีโรงกลั่นเองแล้วกลั่นเป็นน้ำมันสำเร็จรูปก็ไม่ควรจะอิงราคาสิงคโปร์บวกค่าขนส่งเช่นปัจจุบันซึ่งขณะนี้มีการบวกส่วนนี้ไปประมาณ70 สตางค์ต่อลิตร

นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค เครือข่ายมูลนิธิผู้บริโภค กล่าวว่า ได้เสนอ 3 เรื่องได้แก่ โครงสร้างราคาพลังงาน ท่อก๊าซฯและกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง โดยเรื่องราคาน้ำมันต้องการให้ทำโครงสร้างแยกราคาออกมาให้ชัดว่าชนิดใดเป็นก๊าซ เป็นน้ำมัน ไม่ใช่เอาคนใช้น้ำมันไปอุ้มราคาก๊าซฯจนสับสนไม่สามารถตรวจสอบได้ โดยยืนยันว่าไม่ได้ต้องการให้ราคาน้ำมันต่ำเป็นประชานิยมแต่ต้องการเน้นให้โปปร่งใสและเป็นธรรมกับผู้ใช้จริงๆ

"ตัวอย่างเช่น แก๊สโซฮอล์อี 85 เราพบว่าถ้าเราไปเติมพันบาทจะพบว่า 200 บาทนั้นเป็นค่าการตลาด แถมราคาหน้าโรงกลั่นก็ยังแพงอีก เราไม่รู้ว่าใครพุงปลิ้นนะ นี่เป็นโครงสร้างราคาหนึ่งที่เราต้องการให้ชัด" น.ส.บุญยืนกล่าว
สำหรับท่อก๊าซธรรมชาติได้เสนอให้แยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกมาทั้งบนและทางทะเลตามคำสั่งศาลปกครองเพื่อให้เกิดความธรรมต่อผู้ใช้ ส่วนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไม่ได้เสนอว่าจะต้องยกเลิกอะไรแต่ได้เสนอข้อมูลให้เป็นธรรมไม่ได้สลับซับซ้อนเช่นที่เป็นอยู่

นายมนูญ ศิริวรรณ ตัวแทนจากกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน กล่าวว่า ได้เสนอแนวทาง 6 แนวทางตามที่กลุ่มปฏิรูปฯ ได้เคยนำเสนอผ่านสื่อมวลชนแล้วแต่เป็นรายละเอียดมากขึ้นในครั้งนี้ เช่นการปรับโครงสร้างราคาพลังงานให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง การปรับบทบาทของ บมจ.ปตท.ไม่ให้การเมืองเข้ามาแทรกแซง แต่กองทุนน้ำมันฯไม่เห็นด้วยที่จะยกเลิก

"ข้อเสนอของคุณรสนาที่จะให้ตั้งบรรษัทพลังงานมาดูแลระบบการให้สัมปทานปิโตรเลียมนั้นผมไม่เห็นด้วยเพราะการกำกับดูแลไม่ชัดเจนว่าจะไม่ทำให้การเมืองเข้าแทรกแซงได้ และเห็นว่าบทบาทก็จะทับซ้อนกับ ปตท.ที่มีอยู่ส่วนการเปิดสัมปทานได้เสนอให้เร่งดำเนินการโดยเร็วส่วนจะใช้ระบบแบ่งปันหรือเปิดสัญญาสัมปทานถ้าไม่จูงใจเอกชนเข้ายื่นที่สุดก็เปล่าประโยชน์"นายมนูญกล่าว
น.พ.ระวี มาศฉมาดล แกนนำภาคประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังานไทย กล่าวว่า ต้องการให้คสช.เน้นการปฏิรูปพลังงานในเรื่องของโครงสร้างราคาพลังงานให้ชัดเจนอย่าให้เกิดความซับซ้อนเช่นปัจจุบัน ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนก่อนที่จะคุยเรื่องอื่น อย่างไรก็ตามกรณีที่ข่าวการค้นพบน้ำมันและมีการแชร์ข้อมูลทางโซเเชียลมีเดียได้มีการพูดคุยเรื่องนี้เช่นกันและจากการตรวจสอบเป็นข้อมูลเท็จ โดยในส่วนของเครือข่ายตนยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกับกลุ่มดังกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น