xs
xsm
sm
md
lg

สัมภาษณ์พิเศษ : “รสนา” จี้ คสช.อย่าดูดาย ค้านกลุ่มทุนพลังงานยึดทรัพยากรตั้งบริษัทท่อก๊าซ (ชมคลิป)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV - อดีต ส.ว.รสนา โตสิตระกูล คัดค้านการแยกท่อส่งก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ ชี้ไม่ชอบด้วยกฎหมาย และกลุ่มทุนพลังงานชุบมือเปิบ ชี้ถ้า คสช.ดูดายให้กลุ่มทุนยึดครองทรัพยากรทั้งหมดของประชาชน บ้านเมืองจะถอยหลังไปอีกมาก



หลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานเมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา มีมติให้ บมจ.ปตท. (PTT) แยกธุรกิจท่อส่งก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยคาดว่าจะดำเนินการได้แล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2558

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพมหานคร และประธานคณะอนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้ให้สัมภาษณ์พิเศษ “เจาะข่าววงใน” ประเด็นการคัดค้านการแยกตั้งบริษัทท่อส่งก๊าซ ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของคนไทยตามคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุดว่า ปัญหาพลังงานมันเริ่มตั้งแต่กลัดกระดุมเม็ดแรกแล้วว่า ต้องการให้พลังงานเป็นกิจการสาธารณูปโภคหรือกิจการแสวงหากำไร? เวลานี้การแปรรูป ปตท.ทำให้ราคาพลังงานแพงขึ้นในปัจจุบัน ปัจจุบันบริษัท ปตท.มีบริษัทลูก 5 แห่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไทย ยิ่ง ปตท.มีบริษัทลูกมากขึ้นเท่าไร่ ก็ยิ่งบวกเพิ่มกำไรขึ้นไปเรื่อยๆ ทำให้โครงสร้างราคาน้ำมันแพง ภาระต้นทุนจึงตกหนักที่ประชาชน เนื่องจากกลไกตลาดผูกขาด ไม่มีการแข่งขัน และตัวแทนรัฐที่ถือหุ้น 51% นั่งในบอร์ด รับผลประโยชน์ทับซ้อนด้วย

อดีต ส.ว.รสนา ได้ชี้ให้เห็นว่า โรดแมปของกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน และนายปิยสวัสดิ์ ได้พยายามผลักดันแนะรัฐขายหุ้นให้หมด อ้างตรรกะบริโภคเพื่อมิให้นักการเมืองเข้ามาล้วงลูก และเพื่อให้ ปตท.ลดการผูกขาดแต่แฝงจุดมุ่งหวังอีกแบบหนึ่ง โดยเสนอแยกตั้งบริษัทท่อส่งก๊าซออกมา ลดกรรมสิทธิ์ของรัฐที่เคยมีเต็ม 100% และให้บริษัทนี้เข้ามาซื้อขายในตลาดหุ้น โครงการนี้กำหนดให้เสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2558 ก่อนจะมีรัฐบาลเลือกตั้ง

“นี่คือการชุบมือเปิบ เพราะสาธารณสมบัติคือท่อส่งก๊าซ ซึ่งเหมือนโครงข่ายเส้นเลือดในร่างกายของเรา บรรดาปิโตรเลียมทั้งหลายต้องเดินผ่านโครงข่ายเหล่านี้หมด ยิ่งเป็นของเอกชน 100% เขาก็ต้องแสวงหากำไร ประชาชนอย่างเราก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เขาจะไปอยู่เกาะเคย์แมน บาฮามัส เบอร์มิวดา ไซปรัส เราก็ตรวจสอบเขาไม่ได้ เวลานี้ สิ่งสำคัญที่สุดคือเขาบอกว่าปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน มันเป็นความยั่งยืนของกลุ่มทุนพลังงานหรือเป็นความยั่งยืนของประชาชน? ตรงนั้นมันเคยเป็นของประชาชนมาก่อน มันถูกผ่องถ่ายให้เอกชน จากเคยถ่ายเทครึ่งหนึ่ง ตอนนี้จะเอาหมดเลย โดยใช้อำนาจพิเศษของ คสช.ในยุครัฐประหารครั้งนี้”


ส่วนประเด็นการเปิดสัมปทานน้ำมันรอบใหม่ อดีต ส.ว.รสนา ได้เสนอให้รัฐเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นระบบใหม่ Production Sharing ที่จะเป็นผลดีกับประเทศมากที่สุด เพราะกรรมสิทธิ์ทั้งหมดรวมทั้งข้อมูลสำคัญก็จะตกเป็นของรัฐ ขณะเดียวกันไม่เห็นด้วยต่อการแก้กฎหมายเพื่อต่ออายุสัมปทานเดิม

“ตอนนี้ ปตท.เสนอไอเดียที่เกิดขึ้นตั้งแต่สมัยนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ที่เสนอให้นำเงินทุนสำรองฯ ไปทำคลังสำรองน้ำมัน แต่น่าดีใจที่ผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ไม่เห็นด้วยกับวิธีนี้ นี่คือการล้วงเงินจากคลัง” อดีต ส.ว.รสนากล่าว

อย่างไรก็ตาม อดีต ส.ว.รสนาชี้ให้เห็นว่า ประเด็นเรื่องพลังงานมีความขัดแย้งกันมาตลอดสิบปีนี้ เพราะเป็นสิ่งที่กลุ่มทุนพลังงานต้องการมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องความขัดแย้งของสองกลุ่มตีกัน ไม่ใช่ห้ามมวยแล้วจบ แต่มันคือผลประโยชน์ประเทศชาติ ถ้า คสช.เข้ามาแก้ปัญหานี้ โดยไม่แก้ต้นตอ ความขัดแย้งก็ดำรงต่อไป

“ถ้า คสช.เร่งฝีเท้าเร็วขึ้นในจังหวะที่อำนาจรวมศูนย์ ก็จะเป็นความล้มเหลว ประเทศชาติเสียโอกาส เสียประโยชน์ เกิดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่ทำลายความก้าวหน้าของบ้านเมือง สิ่งเหล่านี้ดิฉันบอกได้เลยว่า ต้นตอคือกลุ่มทุนต้องการยึดครองทรัพยากรทั้งหมดของประชาชน ถ้าเขาทำสำเร็จ บ้านเมืองก็ถอยหลังไปอีกมาก” อดีต ส.ว. รสนากล่าวในที่สุด


กำลังโหลดความคิดเห็น