xs
xsm
sm
md
lg

ช็อก!"อุ๋ย"แท็กทีมอดีตคนปตท. คุมปฏิรูปพลังงาน "รสนา"แฉเล่ห์"ปิยสวัสดิ์"ฮุบท่อก๊าซ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน-เครือข่ายภาคประชาชน ค้าน ปตท. ตั้งบริษัทจัดการท่อก๊าซ เหตุไม่ได้เป็นทรัพย์สินของ ปตท. หลังแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน เตรียมยื่น คสช. พ่วงอีก 6 หน่วยงานสั่งเบรก พร้อมเร่งคืนท่อก๊าซให้กระทรวงการคลัง "รสนา"โพสต์เฟซร่ายยาวแฉเล่ห์ "ปิยสวัสดิ์" วางแผนต่อยอดฮุบสมบัติชาติไปเป็นของเอกชนเต็มตัว เตือน คสช. อย่าหลงคารม ระวังจะเสร็จโจร ชี้ผลร้ายประชาชนจะต้องรับกรรม แล้วเรียกร้องใครไม่ได้ อึ้ง! ตั้ง "อุ๋ย" คุมสรรหา สปช. ด้านพลังงาน พ่วงอดีตคนปตท. "ประเสริฐ-พละ-วิเศษ"

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (13 ส.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชัน นายอิฐบูลย์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายปฏิรูปพลังงาน ร่วมกันแถลงข่าว โดยระบุว่า ได้เตรียมที่จะส่งหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และอีก 6 หน่วยงาน คัดค้านแนวคิดบริษัท ปตท จำกัด (มหาชน) ที่จะมีการแยกท่อก๊าซให้เป็นบริษัท โดยอาศัยอำนาจตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อปี 2544 ก่อนแปรรูป เพราะคณะกรรมการบริษัท ปตท. ไม่มีอำนาจดำเนินการได้

ทั้งนี้ ทราบว่า เรื่องนี้กำลังจะเข้าสู่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ซึ่งมีหัวหน้า คสช. เป็นประธาน ในวันที่ 15 ส.ค.2557 โดยเห็นว่าระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติที่ได้มาจากอำนาจมหาชนของรัฐ ทั้งบนบกและทะเล เป็นสมบัติของแผ่นดิน ปตท. ไม่อาจถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐได้ ควรโอนกลับไปเป็นกระทรวงการคลัง ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐ ที่จัดสรรงบให้ ปตท. ไปลงทุนท่อก๊าซตั้งแต่ก่อนมีการแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน

นางรสนากล่าวว่า การที่ ปตท. จะจัดตั้งบริษัทบริหารจัดการท่อก๊าซเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 เข้ามาเช่าใช้นั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดเมื่อวันที่ 14 ธ.ค.2550 ระบุว่า การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย หรือ ปตท. ได้เปลี่ยนสภาพจากองค์การของรัฐ ซึ่งเป็นนิติบุคคลมหาชน ไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัด จึงไม่มีสถานะเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป และไม่อาจถือกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐได้ ต้องโอนท่อก๊าซทั้งหมดกลับไปเป็นของรัฐ

"เครือข่ายภาคประชาชนยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า ปตท. แอบอ้างกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินอื่น เช่น ท่าเรือ แท่นจุดเจาะปิโตรเลียม โรงแยกก๊าซ และคลังก๊าซด้วย ซึ่งเห็นว่าต้องพิสูจน์ทราบให้ชัดเจนว่าควรคืนให้รัฐหรือไม่ ก่อนที่ ปตท.จะดำเนินการอื่นใด"นางรสนากล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานอีกว่า เมื่อเวลา 23.50 น. ของวันที่ 12 ส.ค.2557 น.ส.รสนา ยังได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว รสนา โตสิตระกูล ถึงมหากาพย์ขบวนการฮุบท่อก๊าซ เอาสมบัติชาติไปเป็นของเอกชนว่า นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ ในฐานะประธานคณะกรรมการบริษัท ปตท. จำกัด ได้เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการบมจ. ปตท. เมื่อวันที่ 25 ก.ค.2557 ว่า ได้เห็นชอบแนวทางการเพิ่มการแข่งขันในธุรกิจพลังงาน และลดอำนาจการผูกขาดของ ปตท. โดยให้ ปตท. ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรียุครัฐบาลทักษิณเมื่อปี 2544 ก่อนที่จะมีการแปรรูป ปตท. ในส่วนของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ คือ ให้ดำเนินการแยกท่อก๊าซ ปตท. ให้เป็นบริษัทเพื่อเปิดให้บุคคลที่ 3 มาใช้ท่อก๊าซฯ ด้วย

น.ส.รสนา ระบุว่า นายปิยสวัสดิ์ ได้ให้สัมภาษณ์ในรายการเผชิญหน้า ทีวีสปริงนิวส์ว่า จะแยกท่อก๊าซออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยให้เป็นของบริษัท ปตท. หลังจากนั้นก็แล้วแต่ คสช. จะตัดสินใจให้คนอื่นมาถือหุ้นแทน ปตท. และเรื่องแยกท่อก๊าซ ก็ต้องทำให้เสร็จก่อนมีการเลือกตั้งในปี 2558

พร้อมกันนี้ ได้มีตั้งข้อสังเกตว่าการอ้างมติ ครม. ในปี 2544 เป็นการมั่วนิ่ม เพราะมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 ก.ย.2544 ที่มอบหมายให้ ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจก่อนการแปรรูปไปแยกท่อส่งก๊าซ และมอบหมายให้ ปตท. ที่เป็นรัฐวิสาหกิจ100% ในขณะนั้นคงการถือหุ้นในกิจการนี้ร้อยละ 100 แสดงว่าระบบท่อส่งก๊าซต้องเป็นของรัฐ100% แต่สิ่งที่นายปิยสวัสดิ์ จะดำเนินการแยกระบบท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ โดยในระยะเริ่มแรกเป็นของ บริษัท ปตท. ก่อนนั้น ย่อมมีความแตกต่างจากมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ เพราะ ปตท. ในขณะนี้เป็น บมจ.ปตท. ที่รัฐถือหุ้นเพียง51% และมีเอกชนมาถือหุ้นร่วมด้วยอีก 49% ปตท.ในขณะนี้จึงไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ100% เหมือนเมื่อก่อนแปรรูป ดังนั้น การแยกท่อก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ตามข้อเสนอของนายปิยะสวัสดิ์ จะทำให้รัฐและประชาชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิระบบท่อส่งก๊าซเพียง51% เท่านั้น ไม่ใช่เป็นเจ้าของ100% ตามมติเดิมของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ

น.ส.รสนา ได้ย้ำอีกว่า มหากาพย์ฮุบท่อก๊าซภาคสมบูรณ์จะเกิดขึ้นและสำเร็จได้ ถ้า คสช. หลงคารมวาทกรรมว่ารัฐไม่ควรถือหุ้นในรัฐวิสาหกิจอีกเลย เพื่อหนีการล้วงลูกของนักการเมือง ข้อเสนอของคนกลุ่มนี้ คือ รัฐควรขายกรรมสิทธิในรัฐวิสาหกิจทั้งหมด โดยเฉพาะ ปตท. ให้เหลือ 0% และกรณีท่อส่งก๊าซ หากยึดได้ ก็เหมือนยึดเส้นเลือดในกายเศรษฐกิจของชาติด้านพลังงานได้ทั้งหมด จากนั้น คนไทยก็จะตกเป็นอาณานิคมของกลุ่มทุนพลังงานเอกชนโดยสมบูรณ์ หลังจากครอบครองกลไกเครื่องมือ คือ ระบบท่อส่งก๊าซ ท่อส่งน้ำมัน และได้กรรมสิทธิในทรัพยากรปิโตรเลียม ราคาพลังงานจะขึ้นเท่าไร ประชาชนต้องก้มหน้ารับกรรมไป จะไปเรียกร้องตรวจสอบไม่ได้ เพราะเขาเป็นเอกชนเต็มตัว

ส่วนมหากาพย์ฮุบสมบัติชาติภาคสมบูรณ์ จะเป็นการช่วยต่อยอดให้กับการฮุบสมบัติชาติภาคแรกเมื่อปี 2544 ให้สำเร็จในสมัยนี้ได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับความตื่นรู้ของประชาชนคนไทยทั้งปวง

จากนั้น น.ส.รสนา ได้ระบุถึงการแปรรูปครั้งประวัติศาสตร์เมื่อปี 2544 ในยุครัฐบาลทักษิณ เพราะเดิมเคยหาเสียงว่าหากได้เป็นรัฐบาลจะยกเลิกกฎหมายขายชาติ 11 ฉบับ ซึ่งรวมถึงพ.ร.บ.ทุนรัฐวิสาหกิจที่ออกตามเงื่อนไขการกู้เงินจาก IMF เพื่อแก้วิกฤตต้มยำกุ้ง แต่รัฐบาลทักษิณได้ทิ้งสัญญาประชาคม แล้วเข้ามาชุบมือเปิบผลประโยชน์ต่อจากกลุ่มนิยมขายสมบัติชาติที่ตั้งสำรับไว้แล้ว ด้วยการแปรรูป ปตท. เป็นลำดับแรกทันที

เมื่อรัฐบาลต้องการแปรรูป ปตท. คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ จึงมีมติวันที่ 19 ก.ย.2544 ให้ปตท. แยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติจากการกิจการจัดหาและจำหน่ายก่อนแปรรูปแต่รัฐบาลทักษิณต้องการแปรรูป ปตท. และเอาเข้าตลาดหลักทรัพย์ทันที จึงมีมติ ครม. ให้แปรรูปก่อนและจะแยกท่อก๊าซหลังการแปรรูป 1 ปี แต่พอครบ 1 ปี รัฐมนตรีพลังงานสมัยนั้น ก็กลับมติโดยให้ยกเลิกมติเดิมที่ให้แยกท่อก๊าซภายใน1ปี และให้ปตท.เป็นผู้ซื้อก๊าซเพียงรายเดียว (Single Buyer) อันเป็นการโอนย้ายอำนาจผูกขาดจากรัฐไปให้เอกชนซึ่งคือการยักยอกทรัพย์ของแผ่นดินครั้งที่ 1

นอกจากนี้ น.ส.รสนา ยังอ้างถึงกรณีมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายร่วมกันฟ้องเพิกถอนการแปรรูป ปตท. ต่อศาลปกครองสูงสุด และในคำพิพากษาของศาลปกครองได้บรรยายอย่างชัดเจนว่าการแปรรูปโดยไม่ได้ทำตามเงื่อนไขในกฎหมายทุนรัฐวิสาหกิจที่กำหนดเงื่อนเวลาในการแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและการไม่แบ่งแยกอำนาจรัฐออกจาก ปตท. ที่เป็นบริษัทเอกชนมหาชน โดยยังมีอำนาจเหมือน ปตท. สมัยที่ยังเป็นรัฐวิสาหกิจที่ได้รับมอบอำนาจมหาชนตามกฎหมายจากสภานิติบัญญัตินั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย

ศาลได้บรรยายในคำพิพากษาว่าเมื่อ ปตท. ได้เปลี่ยนสภาพจากการเป็นองค์กรมหาชนของรัฐไปเป็นองค์กรเอกชนมหาชนแล้ว จึงไม่ถือเป็นองคาพยพของรัฐอีกต่อไป แม้ว่ากระทรวงการคลังจะถือหุ้นใหญ่เกิน51% แต่ก็ไม่ได้ทำให้ปตท.มีสถานะกลับมาเป็นองค์กรมหาชนของรัฐอีกแต่อย่างใด ปตท. จึงไม่สามารถครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาด้วยอำนาจมหาชน (อำนาจรัฐ) ซึ่งเป็นสาธารณสมบัติเพื่อการใช้ร่วมกันของคนในชาติ และไม่สามารถใช้อำนาจรัฐได้อีก

อย่างไรก็ตาม ศาลมีความเห็นว่า การแปรรูป ปตท. เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่เนื่องจากการแปรรูปปตท. ผ่านไปกว่า5ปีแล้ว ปตท. ได้ก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และมูลค่า ปตท. ในตลาดหลักทรัพย์ขณะนั้นสูงถึง8.4แสนล้านบาท หากเพิกถอนการแปรรูปเกรงจะก่อให้เกิดความเสียหาย ศาลปกครองได้อ้าง พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานที่ออกในสมัยรัฐบาลพล.อ สุรยุทธ์ จุลานนท์ว่าเป็นการเยียวยาความเสียหายแล้ว จึงให้ยกคำร้องการเพิกถอนการแปรรูปปตท. แต่สั่งให้แบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชนและทรัพย์สินที่มาจากการรอนสิทธิคืนให้กับรัฐ ทั้งหมดให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นก่อนมีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน อีกทั้งไม่ให้ปตท.ใช้อำนาจรัฐอีก

แต่การคืนท่อก๊าซโดยรัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในสมัยนั้น ก็คืนเฉพาะท่อก๊าซบนบกที่มีการรอนสิทธิ ส่วนท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ได้คืนตามคำพิพากษา และไม่ได้ปฏิบัติตามมติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ ที่ได้มีมติมอบหมายให้ สตง. เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนทรัพย์ทรัพย์สิน หากมีข้อโต้แย้งทางกฎหมายเรื่องทรัพย์สิน มติ ครม. ได้ระบุให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้วินิจฉัย แม้ สตง. จะยืนยันตลอดมาว่า ปตท. ยังไม่ได้คืนท่อส่งก๊าซในทะเลและอุปกรณ์ที่รวมกันเป็นระบบตามคำสั่งศาล แต่รัฐบาลในสมัยต่อมาก็ไม่ได้ให้คณะกรรมการกฤษฎีกาเข้ามาร่วมพิจารณา คงมีเพียง บมจ.ปตท. ซึ่งเป็นลูกหนี้และจำเลยไปรายงานต่อศาลว่าตนเองคืนทรัพย์สินครบแล้ว โดยไม่ได้ผ่านการตรวจสอบของสตง.ก่อน ตามมติ ครม. แต่อย่างใด

มาถึงวันนี้นายปิยสวัสดิ์ อดีตรัฐมนตรีพลังงานที่สั่งให้คืนเฉพาะท่อส่งก๊าซบนบก ส่วนท่อในทะเลอ้างว่ามีคณะกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เป็นผู้ดูแลแล้ว จึงไม่ต้องคืน จึงต้องถามนายปิยะสวัสดิ์ คือเมื่ออ้างว่าท่อส่งก๊าซในทะเลไม่ต้องคืน เพราะมีกกพ.เป็นผู้กำกับดูแลแล้ว แต่ก็ต้องตอบมาให้ชัดเจนว่า แล้วกรรมสิทธิระบบท่อส่งก๊าซเป็นของใคร?

นอกจากนี้ น.ส.รสนา ยังตั้งคำถามต่อว่า การใช้อำนาจรัฐของรัฐมนตรีพลังงานและรัฐมนตรีกระทรวงการคลังอีกหลายรัฐบาลต่อมา ทำให้กรรมสิทธิระบบท่อส่งก๊าซไม่ได้กลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิของรัฐและประชาชน ยังคงปล่อยให้ ปตท. ถือครองทรัพย์สินของรัฐที่มีสภาพผูกขาดโดยธรรมชาติต่อไป ซึ่งขัดต่อสาระในคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันเดียวกันนี้ คสช. ได้ออกประกาศฉบับที่ 121/2557 เรื่อง การแแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โดยในด้านพลังงาน ประกอบด้วย ม.ร.ว.ปรีดียาธร เทวกุล, นายการุณ กิตติสถาพร, นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช, นายบรรพต หงษ์ทอง, นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์, นายพละ สุขเวช, นายวิเศษ จูภิบาล

สำหรับม.ร.ว.ปรีดียาธร เคยเป็นผู้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เคยเป็นรองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง และล่าสุดเป็นที่ปรึกษา หัวหน้า คสช. นายการุณ เป็นอดีตปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายจักรมณฑ์ เป็นอดีตปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม นายบรรพต เป็นอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายประเสริฐ เป็นอดีตซีอีโอ ปตท. นายพละ เป็นอดีตผู้ว่า ปตท. และนายวิเศษ เป็นอดีตผู้ว่า ปตท. และรมว.พลังงาน

ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการตั้ง สปช. ด้านพลังงานนี้ มีคนที่เคยเป็นอดีตปลัดกระทรวง 3 คน และผู้ที่เคยทำงานให้กับ ปตท. รวม 3 คน
กำลังโหลดความคิดเห็น