xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” โชว์หลักฐานยันติดภารกิจ ปัดหนีเสวนาพลังงาน ท้า “ปิยสวัสดิ์” ดีเบตตัวต่อตัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลักฐานถูกเชิญเป็นวิทยากร จากเฟซบุ๊ก รสนา โตสิตระกูล
“รสนา” โชว์จดหมายถูกเชิญเป็นวิทยากรเรื่องพลังงานที่ภาคใต้ ชี้นัดหมายล่วงหน้าอย่างเป็นทางการตั้งแต่ ก.ค. ในขณะที่งานเสวนาถาม-ตอบของสถาบันปิโตรเลียมฯ เพิ่งรู้กำหนดการไม่กี่วันมานี้ จึงไม่สามารถยกเลิกกะทันหันได้ ยันไม่ได้หนี พร้อมท้า “ประธานบอร์ด ปตท.” ดีเบตตัวต่อตัวเรื่องท่อก๊าซ

วันนี้ (26 ส.ค.) เมื่อเวลา 23.15 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว “รสนา โตสิตระกูล” ว่า เพื่อนมิตรในเพจได้เขียนแสดงความเห็นว่าตนควรอยู่ร่วมรายการถามตอบพลังงานของสถาบันปิโตรเลียม ที่จัดที่สโมสรกองทัพบกในวันที่ 27 สิงหาคม มากกว่าจะมาร่วมงานทางหัวเมือง บางคนถึงกับกล่าวหาว่าจงใจหลบหนีการถามตอบในครั้งนี้ ซึ่งไม่เป็นความจริง

“เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจคลาดเคลื่อน ขอนำจดหมายเชิญเป็นวิทยากรจากมหาวิทยาลัยทักษิณที่พัทลุง และจดหมายเชิญจากสาธารณสุขจังหวัดปัตตานี มาลงให้เพื่อนมิตรดู ว่าได้รับเชิญในหัวข้อเกี่ยวกับพลังงานในฐานะที่เป็นทรัพยากร จะทำให้เกิดประโยชน์แก่คนไทยได้อย่างไร

การเชิญของทั้งสองหน่วยงานได้ติดต่อกันล่วงหน้าตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยในขณะนั้นดิฉันยังไม่ทราบเรื่องการจัดงานของสถาบันปิโตรเลียมเลย และการเชิญของสองหน่วยงานราชการ

ใน 2 จังหวัดภาคใต้ก็กระทำอย่างมีกิจลักษณะ มีการเตรียมงานอย่างดี มีการนัดหมายล่วงหน้าเป็นเวลานาน ไม่ใช่ทำกันอย่างฉุกละหุกสุกเอาเผากิน และดิฉันก็เป็นวิทยากรหลัก จึงไม่สามารถบอกเลิกนัดสองหน่วยราชการดังกล่าวอย่างกะทันหันเพื่อไปร่วมงานที่ดิฉันเพิ่งทราบจากหนังสือพิมพ์เมื่อไม่กี่วันมานี้เอง โดยที่สถาบันปิโตรเลียมเองก็ไม่เคยติดต่อเชื้อเชิญดิฉันแต่อย่างใด

เรื่องที่กล่าวหาว่าดิฉันหนีการดีเบตที่กรุงเทพฯ นั้น ดิฉันไม่ถือสาหาความแต่อย่างใด เพราะคนที่กล่าวหาดิฉันเช่นนั้นคงเป็นคนส่วนน้อยที่ยังไม่รู้จักดิฉันเลย ในขณะที่คนส่วนใหญ่ที่รู้จักดิฉันดีย่อมไม่เชื่อข้อกล่าวหาที่มีเลศนัยเช่นนั้น

ดังนั้น เพื่อให้หายข้อข้องใจ ดิฉันขอเชิญชวนประธานบอร์ด ปตท.มาร่วมเวทีสุนทรียสนทนากับดิฉัน ตัวต่อตัว ในประเด็นเรื่องการแยกระบบท่อก๊าซฯ ไปเป็นของเอกชน โดยให้เวลาพูดคนละหนี่งชั่วโมงเต็ม และถ้ายังครอบคลุมประเด็นไม่ครบถ้วนก็อาจจัดเวทีอีกครั้ง โดยเปิดให้ประชาชนตั้งคำถามจนกระจ่างชัดต่อสาธารณชนพอสมควร

ส่วนการตัดสินนั้น ไม่ควรให้คณะกรรมการกฤษฎีกา หรือแม้แต่รัฐบาลเป็นผู้ชี้ขาด เพราะเรื่องการเอาระบบท่อก๊าซฯ ไปอยู่ภายใต้การผูกขาดของเอกชนที่ถือหุ้นเหนือรัฐนั้น ไม่ใช่เรื่องผลประโยชน์เร่งด่วนของชาติ แต่ถ้าเอาระบบท่อก๊าซกลับมาเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือตกเป็นบริษัทของรัฐ 100% นั่นสิ จึงนับเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วนของชาติอย่างแท้จริง

อย่าลืมว่า เมื่อคราวรัฐบาลทักษิณเร่งร้อนแปรรูป ปตท.ครั้งแรกอย่างมีวาระซ่อนเร้น คือการไม่แยกสาธารณสมบัติของแผ่นดินออกเสียก่อนการแปรรูป และการคงอำนาจรัฐให้ ปตท.(ที่เป็นเอกชน) ใช้ต่อไปนั้น ศาลปกครองสูงสุดก็เคยตัดสินแล้วว่าเป็นการกระทำที่มิชอบด้วยกฎหมาย แม้จะไม่สั่งให้เพิกถอนการแปรรูป แต่ก็มีคำสั่งให้คืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ซึ่งก็คือระบบท่อก๊าซฯ ทั้งระบบ (อันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน) กลับมาเป็นของรัฐ แต่รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในขณะนั้นก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งในการคืนทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ซึ่งรวมทั้งระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่ออย่างครบถ้วน

ดังนั้น ในขณะที่ยังมีข้อโต้แย้งเรื่องการคืนทรัพย์สินที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่ครบถ้วน การจะรีบรวบรัดในการแยกระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นโครงข่ายสาธารณูปโภคที่มีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ มาตั้งเป็นบริษัทใหม่ และขายให้เป็นของเอกชนนั้น จึงต้องผ่านกระบวนการทางนิติธรรมอย่างรอบคอบ รวมทั้งต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชนทั้งประเทศที่จ่ายภาษีสร้างระบบท่อก๊าซฯ นั้น มิใช่เพียงใช้เครื่องมือของฝ่ายบริหารมารวบรัดตัดสิน เพื่อฉกฉวยเอาสาธารณสมบัติของแผ่นดินไปเป็นของเอกชนอีกเป็นครั้งที่สอง ก่อนที่จะมีสภาปฏิรูปมาพิจารณาในเรื่องสำคัญนี้ และในระหว่างที่บ้านเมืองปลอดจากรัฐธรรมนูญถาวรเป็นเครื่องมือกำกับ”





กำลังโหลดความคิดเห็น