ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากก๊าซและน้ำมันแพงยื่นหนังสือถึง คสช.เรียกร้องให้ชะลอการแยกท่อก๊าซตั้งเป็นบริษัทใหม่ พร้อมเบรกการให้สัมปทาน และต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียม ย้ำพลังงานเป็นสมบัติชาติ ต้องยึดประโยชน์ประเทศ คืนความสุขให้ประชาชน
นางนิตยาพร สุวรรณชิน ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากก๊าซและน้ำมันแพงเชียงใหม่ เปิดเผยว่า วันนี้ (25 ส.ค.) ได้นำสมาชิกเครือข่ายเข้ายื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และผู้บัญชาการทหารบก ผ่านทางมณฑลทหารบกที่ 33 เชียงใหม่ โดยมีข้อเรียกร้องให้ คสช.ชะลอมติของคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เรื่องแยกท่อก๊าซไปตั้งบริษัทใหม่ ชะลอการให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 และพิจารณาไม่ต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะครบกำหนด
ทั้งนี้ นางนิตยาพรกล่าวว่า ช่วงกว่า 10 ที่ผ่านมาประชาชนไทยต้องเดือดร้อนจากการบริโภคก๊าซและน้ำมันในราคาแพงมาโดยตลอด ทั้งที่ประเทศไทยสามารถผลิตน้ำมันได้เป็นอันดับที่ 33 ของโลก และผลิตก๊าซได้เป็นอันดับที่ 26 ของโลก แต่กลับต้องจ่ายค่าก๊าซและน้ำมันในราคาที่สูงกว่าประเทศที่นำเข้าจากไทย ซึ่งปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวอยากเรียกร้องให้ คสช.ปฏิรูปพลังงานเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าวให้ประชาชน โดยที่การดำเนินการนั้นอยากให้มีการเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางอย่างแท้จริง รวมทั้งคำนึงถึงผลประโยชน์ของส่วนรวมและประเทศชาติเป็นหลัก เพื่อเป็นการคืนความสุขให้ประชาชนอย่างแท้จริง
นอกจากนี้ ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากก๊าซและน้ำมันแพงเชียงใหม่เปิดเผยว่า ทางเครือข่ายฯ จะยังคงมีการรณรงค์ในประเด็นปฏิรูปพลังงานอย่างต่อเนื่อง โดยได้เตรียมจะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ เพื่อร่วมเสวนาวิชาการ “ปฏิรูปพลังงานเพื่อประชาชนอย่างเป็นธรรมและยั่งยืน” ซึ่งจัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันพรุ่งนี้ (26 ส.ค.) และในวันที่ 27 ส.ค. จะร่วมกับหลวงปู่พุทธะอิสระ เข้าร่วมรับฟังการชี้แจงและแสดงความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะ และการตอบข้อสงสัยต่างๆ ของภาคประชาชน กับตัวแทนจาก ปตท. กระทรวงพลังงาน และบริษัทพลังงานต่างๆ ที่สโมสรกองทัพบก กรุงเทพฯ
รายงานข่าวแจ้งว่า หนังสือที่ทางเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากก๊าซและน้ำมันแพงเชียงใหม่ ยื่นถึง คสช.นั้นมีข้อเรียกร้อง ได้แก่ 1. ดังที่ประชาชนได้รับทราบว่ากำลังมีมติให้ กพช.แยกท่อก๊าซธรรมชาติไปตั้งบริษัทใหม่ ให้เป็นของ บจม.ปตท. 100% เอาสมบัติที่เป็นของชาติที่ใช้เงินภาษีของประชาชนสร้างมายกให้เป็นของเอกชน (ปตท.) ในนามของประชาชนเครือข่ายผู้เดือดร้อนจากก๊าซและน้ำมันแพงเชียงใหม่ ผู้เสียหายโดยตรง เพราะท่อก๊าซธรรมชาติเป็นสมบัติของประชาชน สร้างด้วยเงินภาษีของประชาชน จึงขอให้หัวหน้า คสช.ได้โปรดพิจารณาอย่างถี่ถ้วนอีกครั้ง และโปรดชะลอการมีมติ กพช. เรื่องแยกก๊าซไปตั้งเป็นบริษัทใหม่ออกไปก่อน จนกว่าจะสะสางข้อเท็จจริงตามกฎหมาย ที่ว่าใครเป็นเจ้าของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และคำสั่งของศาลปกครองสูงสุดที่ระบุว่า “ทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน” ที่ ปตท.ครอบครองอยู่ ก่อนที่ศาลตัดสินและมีคำสั่งให้คืนกลับมาให้กับรัฐมีอะไรบ้าง
รวมทั้งกรณีท่อส่งก๊าซธรรมชาติในทะเล ที่ ปตท.ยังคืนไม่ครบถ้วนตามการตรวจสอบของ สตง. ที่ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจสอบความถูกต้องในการคืนทรัพย์สินตามมติ ครม.สมัยรัฐบาล พล.อ. สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 ประธาน คสช. โปรดใช้อำนาจตรวจสอบกรณีนี้ เพราะรัฐบาลที่ผ่านมาไม่มีใครกล้าสะสาง ประชาชนคาดหวังให้ คสช.เป็นผู้สะสางกรณีนี้ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนโดยรวม
2. ชะลอการให้สัมปทานปิโตรเลียมครั้งที่ 21 ออกไปจนกว่าจะสะสางเรื่องราคาของพลังงานได้อย่างโปร่งใส ไม่มีความจำเป็นต้องเร่งรีบให้สัมปทาน เก็บไว้เป็นสมบัติของอนุชนรุ่นหลัง หากว่ามีข้อกังขาว่าประเทศมีพลังงานลดน้อยลง อาจไม่พอต่อความต้องการ ก็สามารถนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งมีราคาต่ำกว่าในประเทศไทยเสียอีก
เช่น น้ำมันที่ขุดเจาะจากแอ่งร่วมไทย-มาเลเซีย ซึ่งเป็นน้ำมันที่มีคุณภาพดีที่สุดในโลก ปริมาณน้ำมันที่ขุดเจาะได้จากแหล่งนี้ถึงวันละ 2.2 ล้านลิตร แบ่งครึ่งระหว่างไทย-มาเลเซีย แต่ประเทศมาเลเซียขายน้ำมันเพียงลิตรละ 19 บาท ขณะที่คนไทยซื้อในราคาลิตรละเกือบ 50 บาท รัฐสามารถแก้ไขปัญหาน้ำมันขาดแคลนได้ด้วยการนำเข้า ในการนี้ประชาชนคนไทยจะได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกกว่าที่ขุดเจาะในประเทศเสียอีก ทรัพยากรก็สามารถเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ในอนาคต
และ 3. ไม่ต่ออายุสัมปทานปิโตรเลียมที่กำลังจะหมด โดยรัฐควรจะยึดคืนมาทำเองทั้งหมด ประชาชนคนไทยมีความเก่งและฉลาดทัดเทียมกับอารยประเทศ ทำไมต้องให้ต่างชาติมาขุดเจาะขาย นำเม็ดเงินออกนอกประเทศปีละหลายแสนล้าน กรณีหากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานเดิมที่ผูกพันกัน ขอให้ยกเลิกการให้สัมปทานใดๆ ต่อเอกชน ไม่ว่าภายในหรือภายนอกรัฐ และขอให้รัฐเป็นผู้ดำเนินการเองด้วยวิทยาการของประเทศไทยในด้านต่างๆ สามารถทำได้ด้วยตนเองแล้ว ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ
แต่หากจำเป็นต้องให้สัมปทานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อันเนื่องมาจากพันธะหรือข้อตกลงใดๆ ที่สืบเนื่องมาจากสัมปทานเดิม ขอให้พิจารณาโดยคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติเป็นหลัก อย่าให้เสมือนไทยต้องเสียดินแดนไปอีก เนื่องมาจากข้อตกลงที่รัฐได้ทำผิดพลาดในหลายประการ ตามที่มีปรากฏในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต้องแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 และปีอื่นที่มีข้อความเอื้อประโยชน์ให้ผู้ขอสัมปทานมากจนเกินไป ไม่ต้องทำสัญญาเพื่อเป็นแรงจูงใจให้ต่างชาติมาลงทุน เพราะขณะนี้ทั่วโลกรู้ว่าประเทศไทยมีแหล่งพลังงานมากมาย ค่าภาคหลวงต่ำ ต้นทุนในการขุดเจาะถูก คุณภาพดี ปริมาณมาก ดังนั้นหากจะให้มีการขุดเจาะพลังงาน ต้องใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ไม่ใช้ระบบสัมปทานอีกต่อไป