กระทรวงพลังงานออกโรงแจงแยกกิจการท่อก๊าซฯ ตั้งบริษัทใหม่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและชาติ เหตุจะตรวจสอบต้นทุนได้ ลดการผูกขาด เผยในส่วนที่คลังจะเข้าถือ 25% อาจให้กองทุนวายุภักด์หรืออินฟราสตรักเจอร์ฟันด์เข้าถือแทน ชี้ ปตท.ไม่โอนท่อก๊าซฯ ในทะเลเป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฯ เหตุไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนรอนสิทธิ อ้ำอึ้งท่อฯ ที่อยู่ก่อน 12 ไมล์ทะเลเอาไง
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมาได้มีมติให้ บมจ.ปตท.แยกกิจการท่อก๊าซธรรมชาติออกมาตั้งบริษัทใหม่ โดยระยะแรกให้ ปตท.ถือหุ้น 100% หลังจากนั้นคลังจะถือหุ้น 25% และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (เรกูเลเตอร์) ยังมีหน้าที่กำกับอีกชั้นหนึ่ง สิ่งที่ดำเนินการทั้งหมดจะทำให้เกิดความโปร่งใสและชัดเจนมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศโดยรวม
“เรายืนยันว่าจะไม่มีการแปรรูปด้วยการนำไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และอนาคตก็เป็นไปได้ที่คลังจะถือหุ้น 100% ในระยะต่อไปตามความเหมาะสม ส่วนรูปแบบการถือหุ้นเมื่อแยกบริษัทท่อออกมาส่วนของคลังระยะแรกถือ 25% ก็อาจให้กองทุนวายุภักดิ์ซึ่งคลังถือ 100% มาเป็นผู้ถือหุ้น หรืออาจจะเป็นกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานหรืออินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ก็ได้ ซึ่งก็ต้องหารือกับคลังอยู่แล้ว รวมถึงจะทำอย่างไรให้มีความชัดเจนในเรื่องต่างๆ ที่ยังเป็นประเด็นข้อห่วงใยจากประชาชนบางกลุ่ม” นายอารีพงศ์กล่าว
ทั้งนี้ สิ่งที่กระทรวงพลังงานและมติ กพช.ที่ดำเนินการให้แยกกิจการท่อก๊าซฯ ออกมาจะก่อให้เกิดประโยชน์ 3 ด้าน ได้แก่ 1. ทำให้การตรวจสอบโครงสร้างทุนที่โปร่งใสเป็นผลดีต่อผู้ใช้ก๊าซให้ได้รับทราบต้นทุนทั้งระบบ 2. ลดการผูกขาดเนื่องจากบุคคลที่ 3 สามารถเข้ามาใช้บริการท่อส่งก๊าซธรรมชาติทำให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจค้าก๊าซธรรมชาติมากขึ้น ทำให้ผู้ใช้ก๊าซทั้งภาคไฟฟ้า อุตสาหกรรมได้รับความเป็นธรรมด้านราคาจากกลไกการแข่งขันที่เกิดขึ้น 3. เสริมสร้างประสิทธิภาพให้เกิดการใช้งานอย่างเต็มสมรรถนะ
“ยืนยันว่าการดำเนินการโอนทรัพย์สินของ ปตท.เป็นไปตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้วนับตั้งแต่ปี 2551 ซึ่งท่อในทะเลนั้นก็ยึดตามคำสั่งศาลด้วย และเมื่อมีการจัดตั้งบริษัทท่อใหม่จะต้องไปทำสัญญาใช้ทรัพย์สินดังกล่าวโดยจ่ายค่าตอบแทนให้กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลังต่อไป” นายอารีพงศ์กล่าว
นายคุรุจิต นาครทรรพ รองปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กรณีที่มีการระบุว่า ปตท.ยังไม่ได้โอนท่อก๊าซในทะเลตามคำสั่งศาลฯ นั้นทั้งหมดเป็นไปตามคำพิพากษาเนื่องจากกิจการท่อทางทะเลไม่ได้เป็นการไปลิดรอนสิทธิใครมา เพราะตามคำสั่งศาลระบุให้โอนทรัพย์สินท่อก๊าซฯ ที่เป็นสาธารณสมบัติแผ่นดินที่ได้จากการใช้อำนาจมหาชนทั้งเวนคืนที่และรอนสิทธิในช่วงก่อนการแปรรูป ปตท.
ท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลไม่ได้ใช้อำนาจมหาชนในการรอนสิทธิ และไม่มีกฎหมายไทยบังคับใช้ได้เกิน 12 ไมล์ทะเล ดังนั้นท่อส่งก๊าซฯ ในทะเลจึงเป็นของ ปตท. ส่วนกรณีที่มีคนมองว่าแล้วส่วนที่อยู่ไม่เกิน 12 ไมล์ทะเลต้องคืนหรือไม่ก็คงจะต้องเป็นเรื่องที่จะต้องไปตีความกันใหม่ ซึ่งก็เคยมีการยื่นฟ้องศาลปกครองกลางมาแล้วแต่ศาลไม่รับคำร้องที่จะขอให้ ปตท.คืนท่อก๊าซฯ ในทะเลเมื่อปี 2555” นายคุรุจิตกล่าว