เครือข่ายภาคประชาชนนำโดย “วีระ สมความคิด” ส่งสัญญาณเตือนมติ “กพช.” 15 ส.ค. 57 ที่เห็นชอบแยกท่อก๊าซธรรมชาติมาตั้งบริษัทใหม่ให้ ปตท.ถือหุ้นระยะแรก 100% ก่อนเปิดให้คลังถือ 20-25% เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายรอบ 2 เหตุ ปตท.เป็นเอกชนคลังต้องถือ 100% ขู่อาจฟ้องร้องฐานความผิดใหม่
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 10.30 น. เครือข่ายภาคประชาชนนำโดย นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้นัดสื่อมวลชนเพื่อเปิดแถลงข่าว “3 คำถามสำคัญเรื่องพลังงานไทยที่ประชาชนอยากรู้” เพื่อชี้แจงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีแยกกิจการท่อก๊าซของ บมจ.ปตท. อย่างไรก็ตาม ก่อนแถลงข่าว พ.ท.ชายธนัธชา วาจรัตน์ ผู้บังคับกองพันทหารม้าที่ 27 รักษาพระองค์ กองบัญชาการกองพลทหารม้าที่ 2 ทหารรักษาพื้นที่เขตพญาไท มาเจรจาเพื่อให้ยุติแถลงข่าวเพราะเกรงจะมีข้อความที่เกิดการยั่วยุ ปลุกระดมประชาชน ซึ่งถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งการเจรจาใช้เวลา 10 นาที ทางทหารจึงเปิดทางให้แถลงได้แต่มีเงื่อนไขให้เป็นไปตามข้อตกลง
นายวีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชัน (คปต.) กล่าวว่า จากกรณีที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมาได้มีมติให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแยกธุรกิจท่อก๊าซธรรมชาติออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่โดยให้ ปตท.ถือหุ้น 100% ไปก่อนแล้วอาจให้คลังพิจารณามาถือหุ้น 20-25% ในระยะต่อไป ถือเป็นการดำเนินงานที่ผิดหลักกฎหมายเพราะ ปตท.ได้มีการแปรรูปเป็นบริษัทแล้วจึงต้องให้รัฐโดยคลังเป็นผู้ถือหุ้น 100% ดังนั้นก่อนที่มติดังกล่าวจะถูกเสนอคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต่อไป ทางเครือข่ายได้ตั้งข้อสังเกตว่าอาจมีการให้ข้อมูลด้านกฎหมายต่อที่ประชุม กพช.ไม่ครบถ้วน ซึ่งหากดำเนินการต่อไปอาจทำให้ คสช.ได้รับความเสียหายได้
“มติ ครม.เมื่อปี 44 เองก็ระบุไว้ว่าจะต้องแยกท่อก๊าซฯ อันเป็นทรัพย์สินของรัฐออกมาก่อนที่ ปตท.จะแปรรูปเป็นบริษัทมหาชน ซึ่งตอนนั้นทำไมไม่เลือกทำ แต่ตอนนี้กลับมาใช้อำนาจพิเศษเร่งรีบทั้งที่ศาลปกครองสูงสุดเมื่อ 14 ธ.ค. 2550 ได้ตัดสินให้แยกทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน สิทธิในการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกมา” นายวีระกล่าว
ทั้งนี้ต้องการให้ คสช.ตรวจสอบให้รอบคอบ โดยขอตั้งคำถามดังนี้ 1. จากคำวินิจฉัยและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด การโอนทรัพย์สินอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน (อันรวมถึงระบบท่อก๊าซธรรมชาติในทะเล) และสิทธิทั้งหลายที่ได้มาจากการใช้อำนาจรัฐไปให้ บมจ.ปตท.เพราะเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ใช่หรือไม่?
2. การตั้งบริษัทท่อก๊าซธรรมชาติขึ้นใหม่ เป็นการถ่ายโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินให้เอกชนเป็นเจ้าของใช่หรือไม่? 3. นโยบายการบริหารกิจการพลังงานของไทยที่จะดำเนินการต่อไป จะเป็นการปฏิรูปหรือเป็นการแปรรูป ปตท.ครั้งที่ 2?
“กรณีสามารถฟ้องร้องเอาผิดได้หรือไม่ก็ดูอยู่ ซึ่งกรณีนี้ก็ถือว่าเป็นฐานความผิดใหม่ก็จะต้องมีจำเลยเยอะ หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องก็จะถือละเว้นปฏิบัติงานโดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ เป็นความผิดอาญา” นายวีระกล่าว
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ตามหลักกฎหมายแล้วจะต้องมีการโอนกิจการท่อก๊าซทั้งบนบกและทะเลทั้งหมดคืนให้รัฐ ซึ่งก็พบว่าขั้นตอนการโอนยังไม่ได้ครบถ้วนอะไรมีการโอนเฉพาะท่อบนบกเท่านั้น แล้ว กพช.ก็กลับมีมติให้แยกกิจการท่อก๊าซฯ มาให้ บมจ.ปตท.ถือหุ้นระยะแรก 100% ซึ่งผิดหลักกฎหมายรัฐโดยคลังจะต้องถือหุ้น 100% ซึ่งกิจการดังกล่าวถือเป็นการผูกขาดโดยอำนาจรัฐ รัฐจึงมีหน้าที่เป็นเจ้าของและจัดระเบียบการบริการอย่างเท่าเทียมกัน