“รสนา” ยันตรวจสอบ ปตท.ไม่มีเรื่องเจ็บแค้นส่วนตัว ย้ำแยกท่อส่งก๊าซให้เป็นของ ปตท.ผิดกฎหมาย ต้องเป็นของรัฐ 100% เท่านั้น เพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจรัฐและผูกขาด จะให้เอกชนเป็นเจ้าของไม่ได้ แฉ “ปิยสวัสดิ์” ตัดทิ้งข้อความที่ว่า “สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้” ออกจากหนังสือกระทรวงพลังงาน 22 วันก่อนที่หมดวาระ รมว.พลังงาน เมื่อปี 51 จี้ตอบคำถามวันนี้มาสานต่อภารกิจเอาท่อก๊าซไปเป็นของเอกชนให้ได้ก่อนเลือกตั้งปี 2558 ใช่หรือไม่?
วันนี้ (18 ส.ค.) เมื่อเวลา 01.00 น. น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพมหานคร ได้โพสต์เฟซบุ๊ก “รสนา โตสิตระกูล” ในหัวข้อ “ท่อก๊าซธรรมชาติ : สาธารณสมบัติของแผ่นดินตกน้ำไม่ไหล ตกไฟไม่ไหม้” ว่า
“มีมิตรสหายพลังงานท่านหนึ่ง เขียนตั้งคำถามว่า ที่ดิฉันออกมาตรวจสอบ ปตท.โดยเฉพาะเรื่องแยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่นั้นเพราะดิฉันมีความเจ็บแค้นส่วนตัวอะไรนักหนากับ ปตท. ดิฉันขอเรียนว่าที่ติดตามตรวจสอบ ปตท. ไม่มีความเจ็บแค้นอะไรเป็นส่วนตัวกับ ปตท. หรือประธานบอร์ด ปตท. หรือซีอีโอ ปตท.แต่ประการใด
ที่คัดค้านเรื่องการแยกท่อส่งก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่และให้เป็นของ ปตท.นั้น เพราะเป็นสิ่งที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ที่จะตั้งบริษัทท่อก๊าซให้เป็นของ ปตท. หากจะแยกท่อก๊าซธรรมชาติออกมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ รัฐต้องถือหุ้นในบริษัทใหม่ 100% เท่านั้นจึงจะเห็นด้วย เพราะท่อส่งก๊าซในทะเลก็เหมือนสายส่งไฟฟ้า ระบบประปา หรือถนนหลวง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน (อำนาจรัฐ) และมีลักษณะผูกขาดโดยธรรมชาติ ตามกฎหมายเอาไปซื้อขายหรือยกให้เอกชนเป็นเจ้าของไม่ได้
นอกจากนี้ ในคำพิพากษาหน้า 72 ศาลได้บรรยายว่า ท่อส่งก๊าซเป็นทรัพย์สินที่ “ไม่ตกอยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี” ทรัพย์สินใดที่ไม่ตกอยู่ภายใต้การบังคับคดี แสดงว่าเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินหรือเป็นทรัพย์สินของรัฐ จะถูกยึดเหมือนทรัพย์สินของเอกชนไม่ได้ ดังนั้นถ้าจะตั้งบริษัทท่อก๊าซ กรรมสิทธิ์ต้องเป็นของรัฐ 100% เท่านั้น
ปตท.มักโต้แย้งว่าได้คืนท่อก๊าซครบถ้วนแล้ว ลองอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดหน้า 72 ได้บรรยายเรื่องราวว่า ก่อนการแปรรูป ปตท.นั้น คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติมีมติให้ ปตท.ซึ่งตอนนั้นยังเป็นการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่เป็นรัฐวิสาหกิจ 100% ให้ไปไปดำเนินการแยกท่อก๊าซธรรมชาติออกจากกิจการจัดหา และจำหน่าย โดยให้รัฐวิสาหกิจ ปตท.คงการถือหุ้นในกิจการนี้ 100% แปลว่ามติ กพช.ในสมัยปี 2544 ก่อนแปรรูป มีนโยบายให้ท่อก๊าซธรรมชาติเป็นของรัฐ 100% ไม่ให้เอาไปรวมกับทรัพย์สินที่จะแปรรูป เมื่อท่อก๊าซธรรมชาติเป็นของรัฐ การรับซื้อก๊าซธรรมชาติจึงเป็นสิทธิผูกขาดของรัฐด้วย
แต่เพราะรัฐบาลทักษิณไม่ดำเนินการแยกท่อส่งก๊าซธรรมชาติก่อนการแปรรูป ปตท. แต่มีมติ ครม.ให้ไปแยกท่อส่งก๊าซธรรมชาติหลังแปรรูป 1 ปี แต่เมื่อครบกำหนด 1 ปีที่แปรรูป ก็ยกเลิกมติเดิมเรื่องแยกท่อก๊าซธรรมชาติออกจาก ปตท. ทำให้ท่อก๊าซทั้งระบบตกอยู่ภายใต้การครอบครองของ ปตท. และยังมีมติให้ ปตท.เป็นผู้ผูกขาดซื้อก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียว (Single Buyer) กล่าวได้ว่านี่คือการออกมติ ครม.เพื่อจงใจฮุบกิจการท่อส่งก๊าซธรรมชาติของรัฐ และสิทธิผูกขาดในการเป็นผู้จัดซื้อก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวแทนรัฐให้กับ บมจ.ปตท.ที่เป็นเอกชนอีกด้วย ซึ่งนอกจากฮุบสาธารณสมบัติของชาติโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายแล้ว การให้สิทธิผูกขาด ปตท.ในการซื้อก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวที่มาพร้อมกับการฮุบท่อก๊าซธรรมชาติ จึงเป็นโอนอำนาจผูกขาดของรัฐไปให้ ปตท.ที่เป็นเอกชน
การไม่แยกท่อก๊าซธรรมชาติก่อนการแปรรูป จึงเป็นเล่ห์กลในการลดสัดส่วนความเป็น “เจ้าของท่อก๊าซธรรมชาติ” ของรัฐจาก 100% เหลือเพียง 51% ตามหุ้นที่มีอยู่ใน บมจ.ปตท.
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายผู้บริโภค ซึ่งรวมดิฉันอยู่ด้วยจึงนำเรื่องการแปรรูป ปตท.โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุด ในปี 2549 ก่อนที่จะเกิดรัฐประหารในเดือนกันยายน 2549 การรัฐประหารในครั้งนั้นเป็นโอกาสดีของกลุ่มทุนที่จะสู้เพื่อไม่ให้ศาลเพิกถอนการแปรรูป ปตท.ออกจากตลาดหลักทรัพย์เหมือนกรณีของ กฟผ.
การออก พ.ร.บ กำกับกิจการพลังงาน โดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติที่เป็นสภาเดียว ทำให้สามารถออกกฎหมายที่มี 100 กว่ามาตราภายในเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งจะทำไม่ได้เลยในระบบรัฐสภาเวลาปกติ การออกกฎหมายฉบับนั้น เพื่อนำไปเป็นข้ออ้างว่ามีคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มาดูแลท่อส่งก๊าซและดูแลราคาก๊าซที่เป็นธรรมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว แต่ก็มีการจำกัด
อำนาจ กกพ.ไว้ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ ฉบับนั้น ให้ กกพ.ดูแลเฉพาะการคิดค่าผ่านท่อเพื่อคิดราคาค่าไฟฟ้าเท่านั้น ที่จริงควรเรียกว่า “พ.ร.บ.กำกับกิจการไฟฟ้า” มากกว่าจะเป็น “พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงาน”
ในช่วงเวลาการฟ้องคดี ปตท. มีข่าวที่สร้างความกลัวต่อสาธารณชนว่า ถ้าศาลสั่งเพิกถอนการแปรรูป ปตท. รัฐต้องนำเงินมาซื้อ ปตท.คืน 4-5 แสนล้านบาท จะทำให้เศรษฐกิจของบ้านเมืองถึงกาลหายนะเป็นแน่
แม้ว่าศาลปกครองจะเห็นว่าการแปรรูป ปตท.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ดังที่ระบุไว้ในคำพิพากษาหน้า 73 ที่ว่า “มีการโอนทรัพย์สินที่ ปตท.ได้มาจากการเวนคืนมาเป็นทรัพย์สินของผู้ถูฟ้องคดีที่ 4 (ปตท.) แล้ว และพระราชกฤษฎีกากำหนดอำนาจ สิทธิ และประโยชน์ของบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2544 ก็มิได้มีบทบัญญัติจำกัดอำนาจมหาชนของรัฐในส่วนที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่ได้มาจากการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งทรัพย์สินใน “ระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อซึ่งรวมถึงระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ” ตามที่ ปตท.มีอยู่แต่เดิมแต่อย่างใด
ศาลได้บรรยายต่อว่า การครอบครองทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน และการไม่ได้จำกัดอำนาจมหาชนของ ปตท. ย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันทางธุรกิจ และไม่เป็นธรรมต่อบุคคลหรือนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน ที่ไม่มีอำนาจมหาชนเช่นว่านั้น อันเป็นการขัดต่อหลักการความสมอภาค หลักการแห่งความเท่าเทียมกันอย่างเป็นธรรมในการแข่งขันการประกอบกิจการทางธุรกิจ รวมทั้งผิดกฎหมายรัฐธรรมนูญที่บัญญัติให้รัฐกำกับดูแลให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และป้องกันการผูกขาดตัดตอนทั้งทางตรงและทางอ้อม
การที่ ปตท.ได้เปลี่ยนสภาพจากเป็นองค์การของรัฐซึ่งเป็นนิติบุคคลมหาชน ไปเป็นบริษัทมหาชนจำกัดแล้ว ปตท. จึงไม่ใช่ “องคาพยพ” ของรัฐอีกต่อไป ไม่อาจมีอำนาจมหาชนของรัฐ และไม่อาจถือกรรมสิทธิในทรัพย์สินของ ปตท.ที่ได้มาจากการใช้อำนาจมหาชนของรัฐอันเป็น “สาธารณสมบัติของแผ่นดินแทนรัฐได้” จึงต้องโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินดังกล่าวกลับไปเป็นของรัฐทั้งหมด ศาลเห็นว่าผู้ถูกฟ้องคดีที่1 (คณะรัฐมนตรี) ชอบที่จะต้องโอนสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์แทนรัฐให้เสร็จสิ้นก่อนวันจัดตั้งบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน)
แต่เพราะคณะรัฐมนตรีสมัยรัฐบาลทักษิณไม่ได้ดำเนินการตามนี้ จึงทำให้การแปรรูป ปตท.ไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ศาลใช้เหตุผลไม่เพิกถอนการแปรรูป ปตท.เพราะว่าการฟ้องคดีเกิดหลังการแปรรูปไปแล้วกว่า 5 ปี บมจ.ปตท.ได้ไปก่อนิติสัมพันธ์กับบุคคลภายนอกเป็นจำนวนมาก และหุ้น ปตท.ในตลาดหลักทรัพย์มีมูลค่า 8.4 แสนล้านบาท ประกอบกับ ครม.ได้ออก พ.ร.บ.กำกับกิจการพลังงานมาเยียวยาแล้ว
ศาลจึงมีคำสั่งไม่เพิกถอนการแปรรูป ปตท. แต่มีคำสั่งว่า
“จึงให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสี่ร่วมกันกระทำการแบ่งแยก 1) ทรัพย์สินในส่วนที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินประเภททรัพย์สินที่ใช้เพื่อประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ 2) สิทธิการใช้ที่ดินเพื่อวางระบบการขนส่งปิโตรเลียมทางท่อ 3) รวมทั้งแยกอำนาจและสิทธิในส่วนที่เป็นอำนาจมหาชนของรัฐออกจากอำนาจและสิทธิของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 (บมจ.ปตท.) ดังที่ได้วินิจฉยไว้ข้างต้น เพื่อให้เป็นไปโดยชอบด้วยกฏหมาย และตามคำพิพากษาต่อไป"
คณะรัฐมนตรีของรัฐบาล พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2550 จึงมีมติว่า
“เห็นชอบหลักการการแบ่งแยกทรัพย์สิน อำนาจและสิทธิของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยที่จะให้เป็นของกระทรวงการคลังตามคำพิพากษา โดยมอบหมายให้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง รับไปแบ่งแยกทรัพย์สินและสิทธิตามหลักการดังกล่าว โดยให้สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินเป็นผู้ตรวจสอบ และรับรองความถูกต้อง ทั้งนี้หากมีข้อโต้แย้งทางด้านกฎหมายเกี่ยวกับการตีความคำพิพากษาของศาลฯ ในการดำเนินการแบ่งแยกทรัพย์สิน ให้สำนักงานคณกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้พิจารณาเพื่อให้มีข้อยุติต่อไป”
ในการแบ่งแยกทรัพย์สินที่ได้มาโดยอำนาจมหาชน ที่เป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลัง ยอมให้ ปตท.คืนเพียงที่ดินที่มีการรอนสิทธิเพื่อวางท่อบนบกเท่านั้น ส่วนท่อก๊าซในทะเลไม่ได้คืนทั้งหมดให้กับรัฐ แต่กลับปล่อยให้ ปตท.ไปรายงานต่อศาลฯ ว่าคืนครบแล้ว โดยไม่มีเอกสารการรับรองการคืนทรัพย์สินจาก สตง. อีกทั้งไม่รับฟังคำทักท้วงของ สตง.ว่า ปตท.ยังไม่ได้คืนทรัพย์สินไม่ครบ
สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ระบุในรายงานล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2554 ถึงประธานสภาผู้แทนราษฎรว่า ปตท.ยังคืนทรัพย์สินไม่ครบถ้วน แต่ สตง.ซึ่งเป็นผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ตรวจสอบและรับรองความถูกต้องในการคืนทรัพย์สิน กลับถูกกันออกไปจากกระบวนการรับรองความถูกต้องในการคืนทรัพย์สินตามมติคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานที่มีหน้าที่ล้วนแต่เพิกเฉยในการปฏิบัติหน้าที่ให้ถูกต้องตามมติ ครม.
ที่น่าสนใจคือ มีหนังสือลงวันที่ 7 มกราคม 2551 ของสำนักเลขารัฐมนตรีถึง รมว.กระทรวงพลังงานระบุเนื้อหาที่นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีกระทรวงพลังงานในขณะนั้น ขอแก้ไข โดยให้ตัดทิ้งข้อความที่ว่า “ซึ่งในหลักการแล้วสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้ จึงไม่ควรมีภาระภาษีใดๆ”
จากวันนั้นที่นายปิยสวัสดิ์ ผู้ตัดข้อความ “สาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้” ออกจากหนังสือกระทรวงพลังงาน 22 วันก่อนที่จะหมดวาระการเป็นรัฐมนตรีกระทรวงพลังงาน มาวันนี้นายปิยสวัสดิ์เข้ามารับตำแหน่งประธานบอร์ด ปตท. และผลักดันนโยบายแยกท่อส่งก๊าซมาตั้งเป็นบริษัทใหม่ของ ปตท. แต่ ปตท.ในวันนี้ต่างจาก ปตท.ที่เป็นองค์การมหาชนของรัฐก่อนการแปรรูป ที่ กพช.มีมติให้แยกกิจการท่อส่งก๊าซออกจากกิจการจัดหาและจำหน่าย และให้ ปตท.ที่เป็นองค์การมหาชนของรัฐคงการถือหุ้นกิจการนี้ไว้ 100%
แต่วันนี้เป็นการมั่วนิ่มใช่ไหม? ที่จะผลักดันให้แยกท่อก๊าซมาตั้งบริษัทใหม่ให้เป็นของ ปตท.โดยอ้างมติ ครม.ของทักษิณที่ถูกยกเลิกไปแล้วหลังการแปรรูป ปตท.1 ปี
การแยกท่อก๊าซธรรมชาติมาตั้งเป็นอีกบริษัทหนึ่งของ ปตท. คือ การใช้กฎหมายมาลดสัดส่วนความเป็นเจ้าของท่อก๊าซธรรมชาติของรัฐลงจาก 100% เหลือ 51% และทำให้ความเป็นเจ้าของท่อก๊าซธรรมชาติอีก 49% ตกเป็นของเอกชน ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่า “ซึ่งในหลักการแล้วสาธารณสมบัติของแผ่นดินไม่สามารถซื้อขายได้” ยกให้เอกชนมาเป็นเจ้าของร่วมกับรัฐก็ไม่ได้
สิ่งที่นายปิยสวัสดิ์ควรตอบสังคมว่า “ท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ถือเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ไม่สามารถซื้อขายได้” ใช่หรือไม่? และนี่คือภารกิจที่ค้างไว้เมื่อปี 2551 เพราะหมดเวลาไปเสียก่อน คราวนี้จึงต้องรีบร้อนสานต่อภารกิจในการเอาท่อก๊าซไปเป็นของเอกชนให้ได้ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งในปี 2558 ใช่หรือไม่?”